‘พิธา’ รับหนังสือ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ร้องผ่อนปรนธุรกิจกองถ่าย ยึดมาตรฐานปลอดภัย

‘พิธา’ รับหนังสือ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เรียกร้องผ่อนปรนธุรกิจกองถ่ายภายใต้มาตรการความปลอดภัยในวิถีปกติใหม่

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 รัฐสภา อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เป็นตัวแทนสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย (TFDA),สมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดียร์ (FDCA) และสมาคมภาพยนตร์อิสระไทย (TIFA) เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบติดตามการใช้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ผ่านพรรคก้าวไกล ในการเรียกร้องให้ภาครัฐมีความชัดเจนในมาตรการควบคุมโรค เพื่อให้กลุ่มอาชีพผู้ประกอบการธุรกิจกองถ่ายซีรีย์ ภาพยนตร์ ละคร สามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ในรูปแบบวิถีใหม่ภายใต้สถานการณ์ระบาดของไวรัส
.
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนกล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ข้อเรียกร้องที่ได้รับโดยสรุปคือ การขอความชัดเจนของมาตรการรัฐเพื่อให้สามารถกลับมาทำงานที่รักได้ ภายใต้การเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์โควิด 19 โดยมีข้อเสนอเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองอย่างเข้มข้น และการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาใช้ ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ใกล้เคียงกับอีกหลายภาคส่วนที่เดินทางมายื่นหนังสือกก่อนหน้านี้เพื่อให้อยู่กับความปกติใหม่ได้ โดยตนเองรู้สึกยินดีอย่างยิ่งในการต้อนรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งเป็น ส.ส.ตลอดกาลของอนาคตใหม่ แม้จะสวมกอดไม่ได้เหมือนสมัยอยู่สภาด้วยกันเพราะยังไม่มีวัคซีนที่ดีพอก็ตาม ซึ่ง ธัญญ์วาริน บอกกับตนว่า สัปดาห์ก่อนพูดถึงดนตรีไปแล้วก็อยากให้พูดถึงความผูกพันกับวงการภาพยนตร์ด้วย
.
“สำหรับผม ถ้าวงการดนตรีดีต่อใจหรือดูแลจิตใจอย่างไร วงการภาพยนตร์ก็ดีกับสมองหรือดูแลสมองของผมใน 2 ประการ ประการแรกคือเรื่องความรู้ ประการที่สองคือจินตนาการหรือเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ ตอนที่ได้ดูหนัง ‘สุดเสน่หา’ (Blissfully Yours : อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ) ที่แม้จะผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ยังจำฉากที่พระเอกซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติและมีภรรยาเป็นคนไทยได้ดี ซึ่งพระเอกมีโรคประจำตัวที่จะคันผิวหนัง ทำให้ได้เห็นความเป็นจริงของชีวิตแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในช่วงวิกฤติซึ่งไม่ได้ต่างอะไรกันมากกับในช่วงนี้

“ผมยังจำฉากแรกที่พระเอกกับนางเอกนั่งรถไปด้วยกัน แล้วเปิดเพลงของนาเดีย (นาเดีย นิมิตรวานิช-โสณกุล) ทำให้รู้สึกถึงพลัง ยังจำเรื่องตลก 69, Samui Song (ไม่มีสมุยสำหรับเธอ) ยังจำตอนที่พี่เป็นเอก (เป็นเอก รัตนเรือง) บอกว่าตอนถ่าย คริสโตเฟอร์ ดอลย์ (Christopher Doyle) บอกว่าควันบุหรี่ลอยขึ้นมา สื่อได้ถึงอารมณ์ว่าพระเอกนางเอกกำลังรีแลกซ์อยู่ กำลังพักผ่อนอยู่ หรือการวิ่งมาหาบุหรี่หมายความว่ากำลังเครียดอยู่ การพูดแบบนี้ไม่ได้เป็นการสนับสนุนให้มีการสูบบุหรี่ แต่เป็นการพูดถึงเรื่องวัฒนธรรมที่ทำให้เราได้รู้จักสังคมไทยมากขึ้น เช่นเดียวกับมหาลัยเหมืองแร่ และ Timeline (จดหมาย ความทรงจำ : นนทรีย์ นิมิบุตร ) ยังจำฉากหนึ่งที่ช่วยยืนยันเรื่องความเชื่อที่มีต่อภาคเกษตรในสังคมไทยได้ คือฉากที่แม่ทำเกษตรกรรมแต่ได้ผลผลิตราคาไม่ดี ทำให้ต้องขายที่ใช้หนี้ เวลาลงพื้นที่ ฐานะ ส.ส. ทั้งจินตนาการและความรู้จากภาพยตร์จึงมีความหมายกมา สามารถนำมาใช้ได้จริงและมีความหมายต่อสังคมไทยเป็นอย่างสูง”

พิธา กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่มากกว่าข้อเรียกร้องวันนี้ คือการผลักดันวัฒนธรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประชาธิปไตย ตนเคยร่วมงานกับทั้ง ธัญญ์วาริน และ อนุชา สองผู้กำกับ โดยเดินทางไปที่โคราชเพื่อใช้หนังสั้นขับเคลื่อนสื่อสารว่าประชาธิปไตยมีความหมายกับคนรุ่นใหม่อย่างไร การผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องจำเป็นแม้ระบบจะยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่วัฒนธรรมประชาธิปไตยสามารถเกิดขึ้นได้ หนึ่งเสียงของทุกคนต้องมีความหมายเพื่อกำหนดวาระทางสังคมได้ ต้องมีมาตรการอยู่กับความปกติใหม่ได้ และควรมีวัคซีนมีคุณภาพให้ประชาชนได้แล้ว การกำหนดวาระทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศที่มีประชาธิปไตยเป็นระบอบปกครอง พรรคก้าวไกลจะผลักดันให้วงการภาพยนตร์ ซีรีย์ สื่อดิจิตอล เป็นอาวุธในการสู้กับโลกใบใหม่ เป็นขีดความสามารถในการแข่งขันได้ไม่แตกต่างจากวงการดนตรีที่มายื่นหนังสือเมื่อสัปดาห์ก่อน
.
อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยร่วมกันกับกรมควบคุมโรคและกระทรวงวัฒนธรรมในการกำหนดมาตรการการทำงานแบบรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 มาโดยตลอด แต่ในขณะนี้ธุรกิจกองถ่ายได้รับผลกระทบและเดือดร้อนอย่างมาก เพราะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงมากถึง ทำให้รัฐบาลออกคำสั่งต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 20 คน จึงทำให้กลุ่มธุรกิจกองถ่ายไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดียร์ และสมาคมภาพยนตร์อิสระไทย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพื่อให้กลุ่มธุรกิจกองถ่ายฯ สามารถดำเนินงานได้ในอนาคต โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.อนุญาตให้ธุรกิจกองถ่ายสามารถปฎิบัติงานได้ ตามข้อกำหนดของ ศบค. โดยมีทีมงานจานวนไม่เกิน 50 คน และให้สำนักงานเขตและอำเภอพิจารณาอนุญาตการถ่ายทา โดยใช้ผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาของทีมงานทุกคนภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง (ทุกๆ 3 วัน)
.
2.ขอให้ทางภาครัฐส่งหนังสือเวียนแจ้งถึงข้อกาหนดนี้ให้กับศาลากลางจังหวัด สำนักงานเขตและที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด เพื่อให้รับทราบตรงกันว่าธุรกิจกองถ่ายภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่ได้รับการผ่อนปรนภายใต้มาตรการควบคุมโรคดังกล่าว
.
3.ขอให้ทางภาครัฐจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในธุรกิจภาพยนตร์และสื่อวีดิทัศน์ที่อยู่นอกเหนือจาก ม.33 โดยทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อให้
.
4.หากทางภาครัฐต้องการปรับเปลี่ยนมาตรการกองถ่ายเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ขอให้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมและชัดเจน โดยมีสมาคมผู้กากับภาพยนตร์ไทยและตัวแทนผู้ประกอบการอื่นๆ เข้าร่วมหารือด้วย
.
5.ขอให้ทางภาครัฐจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น วัคซีนประเภท mRNA ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบกิจการกองถ่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต
.
ขณะที่ ธัญญ์วาริน กล่าวว่า ตอนนี้ตนกำลังถ่ายทำภาพยนตร์อยู่ 2 เรื่อง และต้องจ่ายเงินค่าตรวจโควิด-19 เป็นประจำตามมาตรการที่ตกลงกับภาครัฐ ซึ่งรวมๆ แล้วค่าตรวจอาจะแพงกว่าค่าวัคซีนเสียอีก อีกทั้งโรคโควิด-19 ก็ระบาดมาเป็นปีแล้ว แต่ทำไมค่าตรวจโควิด-19 ถึงยังมีราคาแพงอยู่ แถมหน่วยงานรัฐไม่เคยมาช่วยเหลือในส่วนนี้ นอกจากนี้ ตนยังสงสัยว่าเหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพเสียที พอจะมีก็ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งๆ ที่ประเทศอื่นเขาให้ฉีดฟรี พร้อมทิ้งท้ายว่าการมีวัคซีนที่ดีคือการทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้ต่อไป
.
สำหรับ อนุชา บุญยวรรธนะ หรือ นุชชี่ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เจ้าของผลงาน อนธการ และ มะลิลา (Malila: The Farewell Flower) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ตัวแทนประเทศไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 91 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ขณะที่ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เจ้าของผลงาน แมลงรักในสวนหลังบ้าน ( Insects in the Backyard) ที่กวาดมาแล้วหลายรางวัลและเคยฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วในหลายประเทศ แม้ว่าจะเคยถูกแบนด้วยเหตุผลว่า ‘ขัดต่อศีลธรรมอันดี’ ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ปี 2551 เคยเป็น อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส. โดยอ้างว่าถือหุ้นสื่อ นอกจากนี้ ผู้ที่มาร่วมยื่นหนังสือในวันนี้ประกอบด้วยผู้กำกับและนักแสดงที่มีชื่อเสียง เช่น นนทรีย์ นิมิบุตร, สิริลภัส กองตระการ (หมิว) และชญาธนุส ศรทัตต์ (เฌอเอม)