คำสั่งห้ามกินในร้านทำพิษหนัก ปิดกิจการ 2 หมื่นราย สูญเดือนละ 4-5 พันล้าน

ห้ามกินในร้านกระทบหนัก ร้านอาหารปิดกิจการ 2 หมื่นราย เสียหายหนักเดือนละ 4-5 พันล้าน เชื่อเข้าถึงวัคซีนเร็วจะช่วยป้องกัน แม้เกิดการระบาดรอบ4

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมาคมฯ มีโอกาสเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เพื่อหารือการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการในถนนข้าวสารและใกล้เคียงประมาณ 1,500 ราย และแนวทางนำร่องย่านถนนข้าวสารเป็นถนนสีขาว ที่สามารถเปิดให้บริการบนมาตรการความปลอดเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งได้รับการยืนยันในเรื่องการจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดให้ผู้ประกอบการในเร็วๆนี้

โดยผู้ประกอบการเชื่อว่าการเข้าถึงวัคซีนได้เร็วจะเป็นการป้องกันได้อีกทาง แม้จะเกิดการระบาดของโควิดรอบ 4 หรือไวรัสกลายพันธุ์ เพราะหากล่าช้าจะสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการในกลุ่มร้านอาหารอย่างหนัก และกดดันการปิดกิจการเพิ่มจากร้านอาหารในระบบปิดตัวแล้วกว่า 20,000 ราย จากที่ตัวเลขในระบบ 200,000 ราย ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเดือนละ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอย่างนี้มาต่อเนื่องแล้ว 4 เดือน

“ผู้ประกอบการกังวลมากต่อการระบาดโควิดระลอก 4 หากรัฐบาลยังไม่อาจควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ และควบคุมการแพร่ระบาดได้ล่าช้า จะทำให้ธุรกิจและระบบเศรษฐกิจภาคบริการพังหนักขึ้น อีกทั้งกังวลต่อท่าทีอารมณ์ขันเกินไปของนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีไม่ซีเรียส ทำให้เกิดระแวงและวิพากษ์วิจารณ์ต่ออารมณ์ และวุฒิภาวะการเป็นนายกรัฐมมนตรี ซึ่งผู้นำควรมีท่าทีซีเรียส จะเป็นผลจิตวิทยาให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลจะดูแลจริงจัง

และควรมีแผนงานชัดเจนกว่านี้ นายกรัฐมนตรีควรให้ทุกหน่วยงานออกมาชี้แจงว่าภายใน 30 วันจะทำอะไรบ้าง ทั้งเรื่องสาธารณสุขดูแลป้องกันไวรัส ตั้งแต่จัดหาวัคซีน กระจายฉีดวัคซีน การจัดหาสถานที่และเตียงรับผู้ป่วย เป็นต้น และทำไปพร้อมกับการดูแลภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจเราวิตกว่าหากเป็นอย่างนี้ ภายในปีนี้เชื่้อว่าการล็อกดาวน์อาจเป็นแบบปิดๆ เปิดๆ อีกหลายรอบ ความถดถอยของระบบเศรษฐกิจจะย่ำแย่กว่าปีก่อนได้” นายสง่า กล่าว