กสม.-คกก.สมานฉันท์ พร้อมร่วมสังเกตการณ์ชุมนุม 24 มิ.ย. ย้ำสิทธิมนุษยชนเป็นของทุกคน

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า

ตามที่กลุ่มต่าง ๆ ได้นัดหมายการชุมนุมสาธารณะเพื่อแสดงท่าทีหรือข้อเรียกร้องทางการเมืองในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะกรรมการสมานฉันท์ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 และเห็นพ้องต้องกันว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นรากฐานในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการใช้เสรีภาพดังกล่าวบนหลักการสันติวิธี ทั้งสององค์กรจึงเห็นร่วมกันว่า ควรส่งผู้แทนลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์และติดตามการชุมนุมในวันดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมโดยตรง

ทั้งนี้ กสม.ได้มอบหมายนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเป็นผู้แทนลงพื้นที่ ขณะที่คณะกรรมการสมานฉันท์ได้มอบหมายให้ ศ.เกียรติคุณ สุริชัย หวันแก้ว และ รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ กรรมการสมานฉันท์ เป็นผู้แทนลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมในเขตกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564

กสม. และคณะกรรมการสมานฉันท์ขอยืนยันว่า การลงพื้นที่สังเกตการณ์ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มใดหรือสนับสนุนความเห็นทางการเมืองของฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่เป็นการปฏิบัติงานตามภารกิจ เพื่อติดตามว่า เสรีภาพในการชุมนุมได้รับการคุ้มครองหรือไม่ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลการชุมนุมและการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ วิธีการที่ใช้ในการควบคุมการชุมนุมเป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์หรือไม่ ขณะเดียวกันการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างแท้จริงหรือไม่

การลงพื้นที่ของ กสม.และคณะกรรมการสมานฉันท์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์หรือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และตามนโยบายของ กสม. ชุดปัจจุบันที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม การส่งเสริมวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน ที่เคารพความแตกต่างในความคิดเห็น การเคารพสิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบของกฎหมาย อันจะนำไปสู่ความปรองดองในสังคม การไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช้ถ้อยคำที่แสดงถึงการดูถูก ดูหมิ่น หรือสร้างความเกลียดชัง หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

กสม. เห็นว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน ที่จะต้องร่วมกันสร้าง ปกป้อง ดูแลและรักษา ซึ่ง กสม. มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึงสถาบันวิชาการ สื่อมวลชน และคนรุ่นใหม่ ในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
23 มิถุนายน 2564