นักวิชาการ มองคำวินิจฉัยกรณี ‘ธรรมนัส’ ตีความตามตัวอักษร ทำความยุติธรรมลักลั่น-ไร้ความชอบธรรม

จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งเคยได้รับโทษคดียาเสพติดในต่างประเทศไม่ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทันที ตั้งแต่แวดวงการเมือง จนถึงวงแวดนิติศาสตร์

ล่าสุด ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Pareena Toei Srivanit ระบุข้อความว่า

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า

ความเห็นแตกต่างในการตีความคำว่า “คำพิพากษาอันถึงที่สุด” มาตรา 98 (10) ของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏในเอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ ศาลอ้างอำนาจอธิปไตยทางศาลเป็นเหตุผลหลักในการปฏิเสธคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ ทั้งๆ คนทั่วไปต่างก็ทราบว่าประเทศไทยเป็นรัฐอธิปไตยที่มีอิสรภาพทางการศาลที่สมบูรณ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2481

ในขณะที่นักกฎหมายต่างก็ทราบดีว่ารัฐอธิปไตยสามารถยอมรับและบังคับกฎหมายต่างประเทศและคำพิพากษาต่างประเทศได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิไตยของชาติ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ที่ยอมให้มีการพิสูจน์เพื่อบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศและแนวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่ยอมให้มีการพิสูจน์เพื่อบังคับคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศเป็นเครื่องยืนยันข้อความจริงนี้ได้เป็นอย่างดี

การใช้เหตุผลในเชิงชาตินิยมที่มีน้ำหนักเบาบางเพื่อปิดกั้นคำพิพากษาศาลต่างประเทศ เป็นการละทิ้งโอกาสอย่างน่าเสียดายในการหักล้างข้อสงสัยของสาธารณชนที่มีต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติว่าคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรมีคุณสมบัติแบบใด เป็นข้อสงสัยที่ไม่ต้องใช้เหตุผลทางกฎหมายที่ซับซ้อน แต่ใช้เพียงแค่เหตุผลธรรมดาสามัญ (common sense) ก็สามารถตอบได้

ยิ่งเมื่อได้อ่านความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 4) ซึ่งเป็นกลุ่มนักกฎหมายชั้นนำของประเทศที่ได้วินิจฉัยในประเด็นปัญหาเดียวกันเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ว่า “ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผล” ยิ่งทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่ความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคมที่มีต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ไม่เพียงแวดวงวิชาการกฎหมายเท่านั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศด้วยรศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความคิดนี้ว่า

เราไม่เห็นด้วยกับการอธิบายว่าเพราะอำนาจอธิปไตยทำให้ไทยไม่สามารถยอมรับอำนาจของศาลอื่นได้ ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า

“หลักการปกครองของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์มีหลักการสำคัญคือ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตนโดยไม่มีการทำข้อตกลงยินยอม ดังนั้นการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี การตีความให้คำพิพากษาของต่างประเทศมีสถานะที่ทางกฎหมายเช่นเดียวกับศาลไทย จึงไม่สอดคล้องกับหลักดังกล่าว”

พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในประเทศ A ไม่เกี่ยวกับประเทศ B ประเทศ B ไม่มีอำนาจตัดสิน และไม่ต้องสนใจ

เมื่ออาชญากรกลับบ้าน จงต้อนรับเขาดั่งผู้บริสุทธิ์

ในความเป็นจริง หลักการนี้ถูกทำให้ยืดหยุ่นไปมากแล้ว โดยเฉพาะกฎหมายของสหรัฐอเมริกา มีลักษณะข้ามรัฐมากขึ้น เช่น สหรัฐฯมีกฎหมายเอาผิดกับคนอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเพศกับผู้เยาว์ เช่น พวกหนีไปเที่ยวต่างประเทศเพื่อหวังซื้อเซ็กซ์กับผู้เยาว์ เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมค้ามนุษย์ พอกลับประเทศก็ถูก FBI รวบตัว พวกนี้โดนมาเยอะแล้ว

สหรัฐฯ มีกฎหมายเอาผิดกับคนของอเมริกันที่เกี่ยวกับข้องกับการฟอกเงิน ติดสินบนข้าราชการประเทศอื่นเพื่อประโยชน์ของตนเอง … คงจำคดีผู้ว่าการ ททท. กับลูกสาวที่ติดคุกได้ กรณีนี้ก็เริ่มจากสหรัฐฯ ดำเนินคดีกับคนอเมริกันในคดีนี้ก่อน แล้วพอเป็นข่าวดัง เจ้าหน้าที่ในไทยจึงดำเนินคดีกับผู้ว่า ททท. กับลูกสาว

สหรัฐฯ ยังมีกฎหมายที่เอาผิดกับคนอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในต่างประเทศด้วย

ในกฎหมายระหว่างประเทศ เหตุการณ์ที่นำมาสู่การจับกุมเผด็จการออกัสโต ปิโนเช่ แห่งชิลีเมื่อปี 1988 ในระหว่างที่เขาเดินทางไปรักษาตัวที่ลอนดอนนั้น มาจากการที่ผู้พิพากษา Baltasar Garzón แห่งสเปน ออกหมายจับปิโนเช่ ในข้อหาสังหารและทรมานชาวสเปนในชิลีในช่วงปิโนเช่มีอำนาจอย่างน้อย 95 คน พอ Baltasar Garzón รู้ว่าปิโนเช่เดินทางมาอังกฤษ จึงแจ้งไปที่อังกฤษให้จับกุมปิโนเช่ไว้

ปิโนเช่ร้องว่าตนเองมีเอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะประมุขของรัฐ ไม่พึงถูกคุมขัง แต่คณะกรรมการอังกฤษที่พิจารณาในคดีนี้โต้ว่าอาชญากรรมที่ร้ายแรง เช่น torture ไม่ให้เอกสิทธิ์คุ้มครองกับประมุขของรัฐ (แต่ในที่สุด อังกฤษก็ส่งปิโนเช่กับชิลี และไปถูกดำเนินคดีที่ชิลี)

นี่หมายความว่าศาลสเปนสามารถเอาผิดกับอาชญากรรมที่เกิดกับชาวสเปนที่อยู่ในชิลีได้ด้วย ความผิดของปิโนเช่ร้ายแรงระดับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนเท่านั้นที่เห็นว่ากฎหมายของโลกยุคใหม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลง เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ บ่อยครั้งกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่เกิดอาชญากรรม ก็อ่อนแอเสียจนปล่อยใ้ห้คนผิดลอยนวล (ตอนจับธรรมนัสได้ ออสเตรเลียคงคิดแบบนี้กับไทยแหละ) ขณะเดียวกัน อาชญากรรมเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ทั้งยาเสพติด การค้ามนุษย์ การสังหารหมู่ประชาชน รัฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้จึงเห็นความจำเป็นต้องขยายขอบเขตอำนาจศาลของตนให้ครอบคลุมอาชญากรรมที่เกิดนอกดินแดนของตน แต่กระนั้น เขาจัดการเมื่อคนเหล่านี้กลับเข้ามาในประเทศแล้วเท่านั้น ไม่ใช่ล่วงล้ำเข้าไปจัดการในดินแดนของประเทศอื่น

ฉะนั้น ก็รู้กันดีว่าการค้ายาเสพติดเป็นภัยร้ายแรงต่อมนุษยชาติอย่างไร มันเป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะข้ามประเทศมานานแล้ว แต่ศาลไทยก็ยังทำตาใส อ้างหลักอธิปไตยของชาติอย่างไร้สติ

ขอบคุณนกหวีด สลิ่ม กปปส.​ที่มอบรัฐบาล รัฐมนตรีที่ใสสะอาด ดุจแป้งตราสิงโตคู่เหยียบลูกโลก ให้กับคนไทย

เพิ่มเติม – กรณีที่ยกมาเทียบเคียงอาจไม่เหมือนกับกรณีธรรมนัสเสียทีเดียว แต่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยหลักการอำนาจอธิปไตยแบบแข็งทื่อตายตัว เป็นข้ออ้างหรือฐานคิดที่นำมาสู่การตัดสินเมื่อวานนี้ ซึ่งมันโคตรจะไดโนเสาร์

ถ้าทุบฐานคิดที่ว่านี้ได้ คำวินิจฉัยคดีธรรมนัสจะไม่มีความชอบธรรมใดๆ เหลือเลย