รัฐประหารพม่า : ทหารลากศพผู้ประท้วงทิ้งเขตวัด สั่งประหาร 19 คนโยงฆ่าร้อยเอก

วันที่ 10 เมษายน 2564 สถานการณ์การประท้วงต่อต้านการรัฐประหารยังคงเกิดขึ้นอย่่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการปรามปราบอย่างโหดเหี้ยมในพม่ายังคงเกิดขึ้น ล่าสุดสำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า สถานีโทรทัศน์เมียวดีทีวี สื่อของกองทัพเมียนมา ระบุว่าศาลทหารเมียนมาพิพากษาประหารชีวิตผู้ต้องหา 19 คน ตามความผิดฐานเกี่ยวข้องกับการสังหารทหารยศร้อยเอกในเขตโอกาลาปาเหนือ ของนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 27 มี.ค.

ถือเป็นการตัดสินโทษประหารชีวิตครั้งแรกนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองในเมียนมา (เอเอพีพี) เปิดเผยว่ายอดผู้เสียชีวิตจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มเป็นอย่างน้อย 618 ราย และเกือบ 3,000 คนถูกจับกุม

ด้าน พลจัตวาซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา แถลงข่าวที่กรุงเนปยีดอว์ว่า ประเทศเมียนมากำลังจะกลับสู่สถานการณ์ปกติ โดยคณะรัฐบาลและรัฐมนตรีจะเริ่มทำงานเต็มรูปแบบ และธนาคารก็จะกลับมาให้บริการตามเดิมในเร็วๆ นี้

“เหตุผลในการลดการประท้วงมาจากความร่วมมือของผู้ที่ต้องการสันติภาพซึ่งเราให้ความสำคัญ เราร้องขอให้ประชาชนร่วมมือกับกองกำลังความมั่นคงและช่วยเหลือเหล่าเจ้าหน้าที่” พลจัตวาซอ มอน ตุน กล่าว พร้อมระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตจริงคือ 248 ราย และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 16 นายเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ทั้งยังยืนกรานว่าทางการไม่เคยใช้อาวุธอัตโนมัติหรืออาวุธร้ายแรงในการปราบปรามความรุนแรง

โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาย้ำอีกว่าทางการเคารพในข้อเสนอแนะจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงชาติมหาอำนาจ และนานาประเทศ ทั้งยังโทษสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซู จี ต่อเหตุวางเพลิงหลายแห่งในนครย่างกุ้ง และว่าการประท้วงได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใด

พลจัตวาซอ มิน ตุน กล่าวว่ารายงานบางส่วนที่ระบุว่าสมาชิกประชาคมโลกบางประเทศไม่ยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมานั้นเป็นข่าวปลอม เพราะทางการอยู่ระหว่างประสานงานกับต่างประเทศ รวมทั้งทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ขณะที่ เมียนมานาว รายงานว่าการสลายการชุมนุมใน เมืองพะโค หรือ หงสาวดี ทางตอนใต้ของ ประเทศเมียนมา (พม่า) เมื่อวันศุกร์ที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า อาจมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย และจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ ภายหลังกองทัพใช้ปืนไรเฟิลระเบิดโจมตีกลุ่มผู้ประท้วง

นายเย ทุต แกนนำกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองพะโคซึ่งรัฐบาลทหารเมียนมาออกหมายจับ เปิดเผยว่าทหารตรึงกำลังที่เจดีย์เสยะมุนีและขนศพเข้ามากองไว้ข้างในเขตวัด อาจมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 57 ศพในอาณาเขตเจดีย์ อีก 3 ศพในสถานที่เก็บศพท้องถิ่นเมืองพะโค และ 1 ศพถูกเผาไปแล้ว

“มันเหมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พวกเขายิงเงาทุกเงาที่เห็น สถานการณ์นี้เหมือนกับเหตุการณ์ตอนโน้นในรัฐยะไข่ เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนพวกเขากำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนของตัวเอง” นายเย ทุต กล่าว และว่ามีพระสงฆ์หลายรูปยังขอร้องกับกองทัพให้อนุญาตเข้าไปในบริเวณวัดเพื่อนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล แต่ทหารกลับปฏิเสธ

นอกจากนี้ มีรายงานว่า นางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติ ด้านกิจการพม่า ซึ่งเดินทางถึงไทยเมื่อ 9 เม.ย. ถูกกองทัพพม่าสกัดไม่ให้เข้าประเทศ อ้างว่ายังไม่พร้อมต้อนรับ โดย

นางบูร์เกเนอร์ เขียนแจ้งความคืบหน้า ทาง ทวิตเตอร์ ว่า “เพิ่งมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อเจรจาค่ะ ฉันเสียใจที่กองทัพเมียนมาแจ้งว่ายังไม่พร้อมต้อนรับดิฉัน ดิฉันพร้อมที่จะเปิดการเจรจา ความรุนแรงไม่เคยนำพาทางออกอย่างมีสันติภาพที่ยั่งยืนได้” 

การสกัดทูตยูเอ็นห้ามเข้าประเทศพม่า ครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่ทัตมะดอว์ยังคงปราบปรามประชาชนที่เคลื่อนไหวประท้วงการรัฐประหารอย่างต่อเนื่องจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 580 ราย ล่าสุดศาลทหารเมียนมายังพิพากษาประหารชีวิตผู้ต้องหา 19 คน ตามความผิดฐานเกี่ยวข้องกับการสังหารทหารยศร้อยเอกในเขตโอกาลาปาเหนือ ของนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 27 มี.ค.

ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงการเยือนประเทศไทยของนางชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ว่าผู้แทนยูเอ็นคนนี้เดินทางถึงประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 9 เม.และมีกำหนดพบหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การกระทรวงการต่างประเทศ

รวมถึงผู้เจรจาคนอื่นๆในรัฐบาลไทย และหน่วยงานของยูเอ็นในประเทศไทย ทันที หลังเสร็จสิ้นการกักตัวตามมาตรการป้องกันโควิด -19 ในสถานที่กักตัวประเภท ASQ หรือสถานที่กักตัวทางเลือกเป็นเวลา 7 วัน ทั้งนี้ก่อนเดินทางมาเยือนไทยนางบูร์เกเนอร์ได้รับวัคซีนจำนวน 2 โดสแล้ว

ทั้งนี้ รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่กลบเกลื่อนสถานการณ์ความรุนแรงในพม่ารวมถึงการปราบปรามประชาชนโดยน้ำมือเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ อย่างกรณีเชิญนักข่าวของซีเอ็นเอ็นมาทำข่าวในพม่าเพื่อหวังสร้างทิศทางเชิงบวกต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า หรือก่อนหน้านี้ ที่รัฐบาลเผด็จการทหารได้ว่าจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์สัญชาติแคนาดาเป็นจำนวนเงินหลักล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อล็อบบี้ ให้ข้อมูลเชิงบวกต่อนานาประเทศรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ท่ามกลางกระแสข่าวลบและหลักฐานการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วงอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรม