รัฐบาลสู้โควิด : มีผลแล้ว! สั่งคุมเข้มสถานบริการ-ผับบาร์ สปสช.ย้ำ!กลุ่มเสี่ยงตรวจโควิดได้ฟรี

วันที่ 8 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานบริการต่าง ๆ

นายอนุชา กล่าวต่อว่า รัฐบาลจึงเน้นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยเริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • 1.กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่ง ให้ปิดสถานประกอบการนั้น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • 2.กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการหลายแห่งให้พื้นที่ใกล้เคียงกัน ให้ปิดสถานประกอบการในพื้นที่นั้น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • 3.กรณีมีการแพร่ระบาดในสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม. พิจารณาปิดสถานประกอบการในพื้นที่ทั้งจังหวัด/กทม. เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

โฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ได้เพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการตรวจกำกับดูแล ให้สถานประกอบการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่กำหนดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ยังเปิดดำเนินการได้ตามที่กำหนดในแต่ละพื้นที่ โดยให้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นายอนุชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในสถานประกอบการใด ให้ปิดสถานที่นั้น ๆ เพื่อจัดระเบียบและระบบป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือหากพบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกทม. พิจารณาเพิ่มการปิดร้านอาหารที่มีความเสี่ยง ได้แก่ สถานประกอบการที่เป็นห้องแอร์ สถานประกอบการที่ไม่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ด้วยเช่นกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 ที่สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน ซึ่งระบุว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย โรคระบาดหยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว และสั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อด้วย

กลุ่มเสี่ยงตรวจฟรี

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากกรณีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยหลายกรณีเชื่อมโยงกับสถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง ผับ บาร์ ทางรัฐบาล และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีความห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนโรค ควบคุม ป้องกันโรค จัดเตรียมมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการคัดกรองโรคและการรักษาได้อย่างทันท่วงที นั้น

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจหนึ่งคือส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งรวมไปถึงบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วย จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า หากท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง เช่น มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาด มีประวัติเคยติดต่อสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เคยติดต่อสัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการป่วย สามารถเดินทางไปเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทุกแห่ง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเนื่องจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ สปสช.ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับเป็นการตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่ง ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนนั้น สปสช.ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี โดย นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งยินดีให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาล

นอกจากนี้ ขอย้ำว่าสิทธิการตรวจคัดกรองโควิด-19 เป็นสิทธิของคนไทยทุกคน ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ตลอดจนสิทธิสุขภาพอื่นๆ ด้วย ดังนั้นขอเน้นย้ำว่าคนไทยทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ฟรี และขอเชิญชวนให้ผู้ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงรีบไปเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง คนในครอบครัว คนใกล้ชิด และจะเป็นการป้องกันการระบาดในวงกว้างอีกทางหนึ่งด้วย หากตรวจคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อก็เข้ารับการรักษาตามขั้นตอนมาตรฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากผลออกมาเป็นลบไม่ติดเชื้อ ก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองเช่นเดียวกัน

“ท่านที่เคยเดินทางไปในพื้นที่ที่พบการระบาด มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือเริ่มมีอาการไม่สบาย สงสัย ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ สามารถไปรับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลได้เลย โดยทางแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าท่านมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนและวางแนวทางการปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของท่าน ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจหรือประมาทว่าตัวเองไม่น่าจะติดเชื้อ หากท่านเคยไปพื้นที่ระบาด กรณีล่าสุดคือสถานบันเทิงที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือคนที่ไม่ได้ไปแต่มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้จะไม่มีอาการอะไรก็ขอให้ไปพบแพทย์ก่อน ถ้าท่านไม่ติดเชื้อ ท่านก็จะได้สบายใจว่าไม่ติด แต่หากตรวจพบเชื้อ ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาแต่เนิ่นๆ โดยกระบวนการทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่าย ทางโรงพยาบาลจะส่งเบิกกับ สปสช.ตามหลักเกณฑ์ ซึ่ง สปสช.ได้แจ้งให้โรงพยาบาลทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งทราบแล้วถึงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองโควิด-19 ตามดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งสามารถเบิกจ่ายกับ สปสช.ได้ โดยไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย” นพ.จเด็จ กล่าว

ทั้งนี้ สปสช.จะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่คนไทยทุกคน สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้น ทางกรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับตรวจคัดกรองโควิด-19 ไว้แล้ว และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

สำหรับกลุ่มเสี่ยงตรวจคัดกรองโควิด-19 มีดังนี้

ก.ตามนิยามผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

มีอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการต่อไปนี้ คือ ไข้/อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก
ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยง คือ

1) 14 วันก่อนเริ่มป่วย มีประวัติอย่างน้อยหนึ่งอย่างต่อไปนี้

1.สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19

2.ไปในสถานที่ชุมชนหรือสถานที่ที่มีการรวมตัวของกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล สถานบันเทิง หรือขนส่งสาธารณะที่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

3.เดินทางไปยัง/มาจาก/หรืออยู่อาศัย ในประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

​​4.ปฏิบัติงานในสถานกักกันโรค

2) แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19

ข.กรณีสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 หรือไปในสถานที่มีการระบาดมา ไม่มีอาการป่วย แต่สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 สามารถไปรับการตรวจคัดกรองได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดย สปสช.ได้ปรับแก้ประกาศให้ครอบคลุมการตรวจคัดกรองโควิด-19 ตามดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งสามารถเบิกจ่ายกับ สปสช.ได้ โดยไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย

เตรียมรับล็อตใหญ่ มิ.ย.นี้

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า การบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ข้อมูลเมื่อวันที่ 6 เม.ย. มีผู้ได้รับวัคซีน 29,108 โดส สะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-6 เม.ย. จำนวน 323,989 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 274,354 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 49,635 ราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่าการกระจายวัคซีนทำได้ตามแผน 77 จังหวัด แม้อาจจำนวนไม่มาก แต่เพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะมาถึงในเดือนมิถุนายน เพื่อการบริการฉีดให้ประชาชนตามแผน

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สถานการณ์ฉีดวัคซีนทั่วโลก ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ฉีดวัคซีนแล้ว 658 ล้านโดส ใน 151 ประเทศ อัตราการฉีด 16.5 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งทวีปอเมริกาเหนือ ฉีดวัคซีนได้เกือบหนึ่งจากทั้งหมด จำนวน 27.68% ยุโรป 18.58% เอเชียและตะวันออกกลาง 45.19%

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การสั่งจองวัคซีนทั่วโลกรวม 9,600 ล้านโดส โดยบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จอง 197.3% ซึ่งเป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนประชากร ส่วนอินเดียจอง 85.4% ญี่ปุ่น 129.4% แคนาดา 335.4%

“จะเห็นว่าแต่ละประเทศจองวัคซีนมากกว่าจำนวนประชากร โดยแม้ว่าวัคซีนมีการผลิตมากแต่หลายประเทศสั่งจองวัคซีนไปกักตุนไว้ ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ผลิตจริงๆ แม้จะมีออกมามาก แต่มีการจองไปในไม่กี่ประเทศ ทำให้การจัดหาวัคซีนในตอนนี้ยังมีจำกัด แต่ในเดือน มิ.ย. ประเทศไทยจะได้รับการกระจายวัคซีนอย่างเหมาะสม ซึ่งระบบสาธารณสุขของเรามีความพร้อมให้บริการฉีดเพื่อประชาชน” พญ.อภิสมัยกล่าว และว่า ระหว่างนี้ขอให้ประชาชนยังต้องป้องกันการติดเชื้อ ด้วยความสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างกันต่อไป