เครือข่ายนักวิชาการปรัชญาฯ-สมัชชาคนจน แถลงประณามสลายชุมนุม “บ้านทะลุฟ้า” ซัดลุแก่อำนาจ-น่าอับอาย

วันที่ 28 มีนาคม 2564 เหตุการณ์การสลายชุมนุมบ้านทะลุฟ้าข้างทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่รุ่งสางของวันนี้ ได้ก่อปฏิกิริยาความไม่พอใจต่อภาคประชาชนที่รัฐได้ใช้กำลังตร.ควบคุมฝูงชนทำการสลายชุมนุมที่ดำเนินไปอย่างสันติ ทำให้มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมกว่า 60 คน และมีรายงานพระ 2 รูปที่ร่วมการแสดงออกอย่างสันติถูกรัฐบังคับให้สึกโดยไม่เต็มใจ ทำให้เครือข่ายนักวิชาการปรัชญาและพุทธศาสนา รวมถึงสมัชชาคนจน ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำอันเกินเลยนี้ของรัฐในครั้งนี้

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการปรัชญาและพุทธศาสนา

ประณามการสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าและจับพระสึก

เป็น ‘การสลายการชุมนุมที่น่าอับอาย’

ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) สลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า ข้างทำเนียบรัฐบาล เวลา 06.00 น. วันที่ 28 มีนาคม 2564 โดยควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมด 70 คน มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี 2 คน และบังคับสึกพระภิกษุ 2 รูป ไปที่ ตชด.ภาค 1 นั้น

เครือข่ายนักวิชาการปรัชญาและพุทธศาสนาดังรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ ยืนยันว่าการชุมนุมของมวลชนหมู่บ้านทะลุฟ้าเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติมาโดยตลอด เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำราษฎรที่ถูกขังคุกด้วยมาตรา 112 อย่างอยุติธรรมเพราะไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัว, ให้ประยุทธ์ จันทร์โอชาออกไป และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอันจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

การที่รัฐบาลใช้กองกำลังสลายการชุมนุมดังกล่าว จึงเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลเมืองอย่างน่าอับอาย เป็นการแสดงอำนาจเผด็จการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิพลเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไม่อาจยอมรับได้ เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการต่อไปนี้

  1. คืนอิสรภาพให้ผู้ชุมนุมทุกคนโดยเร่งด่วนและอย่างปราศจากเงื่อนไข
  2. คืนจีวรหรือสถานะความเป็นพระภิกษุแก่พระที่ถูกบังคับสึกโดยมิชอบในทันที และ
  3. ขอเรียกร้องให้มหาเถรสมาคม (มส.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ทำหน้าที่ที่ต้องทำคือปกป้องสิทธิเสรีภาพของพระภิกษุที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับสึกอย่างอยุติธรรมโดยเร่งด่วน

เครือข่ายนักวิชาการปรัชญาและพุทธศาสนา

28 มีนาคม 2564

แถลงการณ์ดังกล่าวยังได้แนบรายชื่อนักวิชาการด้านปรัชญาและพุทธศาสนาไว้ประกอบด้วย

คำแหง  วิสุทธางกูร

เจษฎา   บัวบาล

ชาญณรงค์  บุญหนุน

เดโชพล เหมมาไลย

เด่นพงษ์  แสนคำ

พระชาย  วรธัมโม

พระณรงค์  สังขวิจิตร

พัทธ์ธีรา  นาคอุไรรัตน์

วรากรณ์  พูลสวัสดิ์

สมฤทธิ์ ลือชัย

สิบปีย์  ชยานุสาสนี จันทร์ดอน

สุรพศ  ทวีศักดิ์

สุรัตน์  สกุลคู

อุดม  ตะหน่อง

ขณะที่ เวลา 13.00 น.ที่ผ่านมา สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ประณามการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า ความว่า

ตามที่สื่อมวลรายงานข่าวว่า ในวันนี้ (28 มีนาคม 2564) เวลาประมาณ 05.50 น. มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ประมาณ 4 กองร้อย เข้าปิดล้อมและสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า บริเวณซอยพระราม 5 เลียบคลองเปรมประชากร เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยอ้างเหตุผลว่า ผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมทั้งสั่งให้ผู้ชุมนุมหยุดการถ่ายทอดสด และให้เวลาเก็บของออกจากพื้นที่ภายใน 3 นาที ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวผู้ชุมนุมที่นั่งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านทะลุฟ้า จำนวน 64 คน ในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.โรคติดต่อ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น

สมัชชาคนจนเห็นว่า การชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้า เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่ 1.ปล่อยเพื่อนเรา 2.เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ประยุทธ์ออกไป 4.ยกเลิก 112 เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ ในชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ พร้อมทั้งมีการจัดให้ลงทะเบียนและคัดกรองโรคโคโรน่าไวรัสหรือโควิด-19 ตามมาตรการของรัฐบาล และไม่เคยปรากฏว่า ผู้ชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าวมีพฤติกรรมในการใช้ความรุนแรงหรือใช้อาวุธในพื้นที่การชุมนุม ตลอดจนไม่เคยมีข้อเท็จจริงใดที่ระบุว่า มีผู้ติดโรคโคโรน่าไวรัส หรือโควิด-19 จากพื้นที่ชุมนุมดังกล่าว

ดังนั้นการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน เข้าสลายการชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้าเวลาเช้ามืด โดยอ้างว่ามีความผิดต่อ พ.ร.บ.โรคติดต่อ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายนี้ แก้ไขปัญหาโรคระบาดได้เลย ดังที่ปรากฎข้อเท็จจริงตามสื่อต่างๆ แต่กลับใช้เป็นเครื่องมือในการจับกุมผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางเมืองเป็นจำนวนมาก การใช้กฎหมายปิดปากคนเห็นต่างอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบันของรัฐบาล ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองหายไปหรือดีขึ้น แต่เป็นเติมเชื้อไฟให้ความขัดแย้งลุกลาม และรุนแรงมากยิ่งขึ้น

สมัชชาคนจน ขอประณามการใช้กำลังอันป่าเถื่อน ลุแก่อำนาจ เข้าสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า และจับกุมผู้ชุมนุมครั้งนี้ และขอให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมโดยทันที

ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน

สมัชชาคนจน
28 มีนาคม 2564