“อมรัตน์ ก้าวไกล” บุกกรมราชทัณฑ์ จี้ตอบปมคุกคามผู้ต้องขังกลุ่ม “ราษฎร” ยามวิกาล

วันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่กรมราชทัณฑ์ ท่าน้ำนนท์ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, และนายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงต่อกรมราชทัณฑ์ ในกรณีเหตุการณ์คุกคามนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา “ไผ่ ดาวดิน” และนายภานุพงศ์ จาดนอก “ไมค์ ระยอง” สองผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร

โดยมีความพยายามนำตัวทั้งสองออกจากแดนคุมขังที่ 2 ในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร ออกจากแดนคุมขังกลางดึก โดยอ้างว่าจะนำไปตรวจโรคโควิด-19 โดยเป็นการกระทำหลายระลอก มีการใช้เจ้าหน้าที่พร้อมกระบองเสริมกำลังเข้ามากดดัน และมีการนำตัวบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ใส่ชุดสีน้ำเงิน ไม่ระบุชื่อและสังกัด เข้ามาร่วมปฏิบัติการ ต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของคืนวันที่ 15 มีนาคม 2564 ไปจนถึงเวลา 03.00 น.ของเช้าวันที่ 16 มีนาคม 2564 แต่ทั้งสองปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม เนื่องจากเป็นการปฏิบัติที่ผิดปกติวิสัย ท่ามกลางข่าวลือว่าจะมีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องขังคดีการชุมนุมกลุ่มราษฎรในเรือนจำ

ซึ่งนางอมรัตน์ ได้เดินทางมาถึงกรมราชทัณฑ์ในเวลาประมาณ 14.00 น. พร้อมกับมีประชาชนผู้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าร่วมสังเกตการณ์และขอรับทราบข้อเท็จจริงร่วมกับนางอมรัตน์ด้วย โดยทางกรมราชทัณฑ์ ได้ส่งนายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เข้าพบเพื่อรับหนังสือและอธิบายข้อเท็จจริงต่อนางอมรัตน์

โดยหนังสือของ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสองกล้องวงจรปิดในห้องขังเรือนจำ และตรวจสอบบุคคลแปลกหน้าที่เข้าออกเรือนจำกลางดึกเมื่อคืนนี้ และขอให้ชี้แจงกับประชาชนให้เกิดความกระจ่างและความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์

รองอธิบดีฯแจง การตรวจโรคกลางดึกเป็น “เรื่องปกติ” — ชายชุดน้ำเงินแค่มาแยกผู้ต้องขังอื่นออก-การไม่ติดป้ายชื่อเป็นเรื่องของ “โอกาส” ในการแต่งเครื่องแบบ

ซึ่งในส่วนของนายแพทย์วีระกิตติ์ผู้ลงมารับหนังสือ ได้พยายามอธิบายข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่ากรณีดังกล่าว ทางกรมราชทัณฑ์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว การตรวจหาเชื้อโควิด-19 กลางดึกในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งผู้ต้องขังในกลุ่มอื่นๆด้วย ความพยายามนำตัวผู้ต้องขังกลุ่มราษฎรทั้งสองออกจากแดน ไม่ใช่การนำออกไปที่อื่น แต่เป็นการนำไปรับการตรวจในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเอง ซึ่งมีสถานที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 อยู่แล้ว

การมีหลายระลอก เพราะระลอกแรกผู้ต้องขังเข้ามาถึงเรือนจำในเวลาประมาณ 19.00 น. เข้าไปห้องกักเดียวกันกับผู้ต้องขังที่มาจากพื้นที่เสี่ยงโดยบังเอิญ จึงได้ขอเจรจาว่าจะนำผู้ต้องขังกลุ่มราษฎรแยกไปอยู่ในห้องกักอื่นที่ยังว่างอยู่

เมื่อมีการปฏิเสธจึงต้องมีการป้องกันความปลอดภัยทางสุขภาพของผู้ต้องขัง คือการตรวจหาโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด จึงได้มีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อเข้าไปขอทำ swab เป็นเจ้าหน้าที่ๆมีใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งทั้งสองคนได้ปฏิเสธ ในขณะที่ผู้ต้องขังรายอื่นๆให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทั้งหมดเป็นไปตามความชอบธรรมของนโยบายการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่มีการปฏิบัติกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อทั้งหมดไม่ยอมตรวจ ทางกรมราชทัณฑ์ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรอีก เพราะไม่ต้องการที่จะเผชิญหน้า มีเพียงการนำผู้ต้องขังรายอื่นที่ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วออกจากห้องขังนั้นไป

ส่วนบุคคลชุดน้ำเงินที่เข้ามา เป็นชุดปฏิบัติการปกติของกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำผู้ต้องขังอื่นๆที่อยู่ร่วมกันและให้ความร่วมมือออกไปจากห้องขัง ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายหรือการกระทำอื่นใดผู้ต้องขังทั้งสิ้น

“เรื่องป้ายชื่อเนี่ยมันเป็นโอกาสที่เขาจะใส่ชุดใดๆ ซึ่งเครื่องแบบชุดนั้นผมไม่ได้สังเกต แต่ที่แน่ๆไม่มีการทำร้ายหรืออะไรใดๆทั้งสิ้น เราได้บันทึกภาพ บันทึกอะไรต่างๆไว้หมด แล้วในกรณีไปเปรียบเทียบกับหมอหยองไม่ได้ เพราะหมอหยองไม่ได้อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก่อนเกิดเหตุ มันเป็นความชอบธรรมในเรื่องนโยบายโควิด เพราะคุกมันมีความแออัด มีคนตั้ง 3-4 พันคน การตรวจโควิดเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ” นายแพทย์วีระกิตติ์กล่าว

ถามเพิ่มกรณี “เพนกวิน” ขังรวมนักโทษประหารปกติหรือไม่ — รองอธิบดีฯตอบไม่ได้-มวลชนโห่ไล่

จากนั้น นางอมรัตน์จึงได้ซักถามเพิ่มเติม กรณีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ต้องขังระหว่างการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกรายหนึ่งจากกรณีการชุมนุมกลุ่มราษฎร ถูกแยกตัวออกไปคุมขังร่วมกับนักโทษเด็ดขาด (นักโทษประหาร) ว่าเป็นความปกติหรือไม่

นายแพทย์วีระกิตต์ตอบเพียงว่าเป็นความปกติ เรื่องนี้เป็นเรื่องในทางปฏิบัติและทัณฑวิทยา โดยไม่อาจให้รายละเอียดของเหตุผลได้ เมื่อความพยายามอธิบายของนายแพทย์วีระกิตติ์ ยังคงไม่สามารถทำให้ประชาชนที่มาร่วมรับฟังข้อเท็จจริงเกิดความสิ้นสงสัยได้ ทั้งในกรณีข้ออ้างการตรวจโรคโควิด-19 กลางดึก และกรณีของนายพริษฐ์ จึงเกิดการโต้แย้งแสดงความไม่พอใจออกมา จนทำให้นายแพทย์วีระกิตต์รับหนังสือจากนางอมรัตน์และเดินกลับเข้าไปในกรมราชทัณฑ์ทันที

หลังจากการยื่นหนังสือ นางอมรัตน์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมติดตามการชี้แจงจากกรมราชทัณฑ์ในวันนี้ โดยระบุว่าทางเจ้าหน้าที่ได้อธิบายเบื้องต้นแล้ว ยังคงไม่มีการแสดงหลักฐานอื่นใดจากทางกรมราชทัณฑ์ แม้ทางรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะระบุว่ามีภาพหลักฐานทุกอย่างที่พร้อมนำมาแสดง ส่วนที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างนักคือกรณีเจ้าหน้าที่ในชุดสีน้ำเงินที่ไม่ได้ติดป้ายระบุชื่อและสังกัด ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ก็คงจะต้องออกมาแถลงสร้างความกระจ่างให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งให้สิ้นความสงสัยต่อไป

“เป็นเหตุการณ์ที่ดูแล้วไม่ปกติ เราห่วงใยในความปลอดภัยของผู้บริสุทธิ์ที่ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ยังไม่ได้ถูกตัดสิน ยังไม่ไ่ด้เป็นนักโทษ วันนี้จึงมายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ท่านข่วยตรวจสอบกล้องวงจรปิด และตรวจสองการเข้าออก และให้ท่านได้ชี้แจงให้สังคงกระจ่างด้วยว่าเหตุการณ์นี้มันปกติหรือไม่ เพราะในยามวิกาลจะมีคนแปลกหน้าในชุดสีน้ำเงินมาพยายามนำตัวผู้ถูกคุมขังออกไป ก็ขอให้ท่านชี้แจงกับสังคมให้กระจ่างด้วย ว่าเหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?” นางอมรัตน์กล่าว