ครป.ออกแถลงการณ์ห่วงวิกฤตความขัดแย้ง ปมยื่นศาลรธน.ตีความอำนาจรัฐสภา

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3/2564 เรื่อง ทางออกจากวิกฤตประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ใจความดังนี้

ตามที่สมาชิกรัฐสภา 73 คน ได้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความอำนาจของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่ามีอำนาจหรือไม่? ตามญัติซ้อนที่มีการเสนอในที่ประชุมรัฐสภานั้น ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้ขอความเห็นจากนักกฎหมาย 4 คน ประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต โดยได้กำหนดว่าจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 11 มีนาคมนี้นั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่าอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาอยู่แล้ว ความขัดแย้งในการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย สมาชิกควรหาทางออกร่วมกันในกลไกรัฐสภาได้เช่นประสบการณ์ในอดีตและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 โดยไม่ใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการตีความอำนาจรัฐสภาโดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญและกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง ซึ่งหากมีการชี้นำไปในทางที่ผิดจะกลายเป็นความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด เนื่องจากมติของศาลรัฐธรรมนูญอาจส่งผลถึงรูปแบบการเมืองการปกครองและวิกฤตประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้น และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การเมืองไทยได้เดินหน้าต่อไปหรือนำไปสู่วิกฤตการณ์ความขัดแย้ง

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เดินหน้าตามกลไกรัฐสภาและนำไปสู่การแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองต่อไป การที่นายวิษณุ เครืองาม ออกมาให้ความเห็นชี้นำว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่าตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เท่านั้นก็ต้องผูกพันตามนั้น ถือเป็นการชักจูงทางการเมืองและสอดคล้องกับความเห็นของ 4 นักกฎหมายที่เห็นว่าการยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำไม่ได้ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญขอความเห็น ซึ่งอาจนำไปสู่แนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มีนาคมนี้ในที่สุด และทำให้กระบวนการทั้งหมดต้องเริ่มต้นใหม่

ด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาล สมาชิกรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เดินหน้าด้วยการยอมรับจากทุกฝ่าย