พม่าต้านรัฐประหาร : นองเลือดกลางถนนหลายเมือง ผู้ประท้วงสังเวยเกือบ 40 ราย

สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานสถานการณ์คณะรัฐประหารเมียนมาปราบปรามผู้ชุมนุม เลวร้ายลงอีก สหประชาชาติแถลงว่า เฉพาะวันพุธที่ 3 มี.ค. ผู้ชุมนุมตามเมืองต่างๆ ถูกสังหารรวมกันถึง 38 ราย เป็นสถิติวันนองเลือดที่รุนแรงมากที่สุด นับจากเกิดรัฐประหารวันที่ 1 ก.พ.

คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติด้านเมียนมา แถลงที่สำนักงานยูเอ็น นิวยอร์ก ว่า “วันนี้เป็นวันนองเลือดสูงสุดนับจากรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เรามีวันนี้ เฉพาะวันนี้วันเดียว (3 มี.ค.) ประชาชนเสียชีวิต 38 ราย และเรามียอดผู้เสียชีวิตเกิน 50 รายแล้ว นับจากที่รัฐประหารเกิดขึ้น ทั้งยังมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก”

ทูตหญิงกล่าวด้วยว่า ระหว่างการสนทนากับโซ วิน รองผู้นำกองทัพเมียนมา ตนเตือนแล้วว่า ทหารจะต้องเผชิญมาตรการแข็งกร้าวจากบางประเทศ และจะถูกโดดเดี่ยวเพื่อตอบโต้การรัฐประหารในครั้งนี้ แต่คำตอบที่ได้รับกลับไม่แยแส

“คำตอบที่เราได้รับจากทางเมียนมาคือ ชินแล้ว และจะอยู่ได้ เมื่อดิฉันเตือนว่า พวกท่านจะถูกโดดเดี่ยวนะ คำตอบที่ได้คือ พวกเขาเรียนรู้ที่จะเดินต่อไปได้กับมิตรประเทศที่ไม่มาก” ทูตพิเศษยูเอ็นเผย

ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นจะเปิดการหารือสถานการณ์เมียนมาในการประชุมปิดวันศุกร์ที่ 5 มี.ค. นี้ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้จีนแสดงบทบาทสร้างสรรค์ให้ทหารเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง

นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่า สหรัฐตกใจมากกับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังทบทวนมาตรการตอบโต้ที่มุ่งเป้าหมายไปยังทหารพม่าโดยตรง นอกจากนี้สหรัฐขอเรียกร้องให้เมียนมาปล่อยนักข่าวในสังกัดสำนักข่าวเอพี ของสหรัฐ โดยทันที หลังจากทหารพม่าจับกุมนักข่าวเอพีดำเนินคดีพร้อมกับนักข่าวคนอื่นๆ อีก 5 คน

ด้านผู้ร่วมเหตุการณ์เผยว่า ตำรวจและทหารยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุม

“มันสะเทือนขวัญมาก มันเป็นการสังหารหมู่ ไม่มีคำบรรยายใดจะบอกเล่าสถานการณ์นี้และความรู้สึกของพวกเราได้” ธินซาร์ ชุนเล ยี นักเคลื่อนไหวเยาวชนให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ ผ่านแอพฯ ส่งข้อความ

ที่เมืองมัณฑะเลย์ มีการปราบปรามอย่างรุนแรงมากและมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยเหยื่อรายหนึ่งที่สื่อเก็บภาพได้ก่อนเสียชีวิตเป็นภาพหญิงสาวที่นอนราบไปกับพื้นถนนพยายามหลบกระสุนพร้อมผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ทราบชื่อต่อมาว่า แองเจิล หรือ แจ ซิน อายุเพียง 19 ปี ถูกยิงที่ศีรษะด้วยกระสุนจริงเข้าหัว

โดยนอกจาก แจ ซิน แล้วยังมีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย เป็นชายวัย 37 ปี ถูกยิงเข้ากลางอก แต่การเสียชีวิตของ แจ ซิน สร้างความสะเทือนใจให้กับคนจำนวนมากที่ทราบข่าว เพราะเป็นผู้หญิงอายุน้อยแต่ออกไปยืนประจันอยู่แนวหน้าอย่างเด็ดเดี่ยว โดยข้อความบนเสื้อที่เธอสวม แปลว่า “ทุกอย่างจะเรียบร้อยดี”

นอกจากนี้ องค์กร Save the Children แถลงว่าในบรรดาผู้เสียชีวิตเมื่อวันพุธที่ 3 มี.ค. มีเด็กและเยาวชนรวมอยู่ด้วย 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กชายอายุ 14 ปีถูกทหารยิงเสียชีวิต ขณะขับรถลาดตระเวนผ่าน จากนั้นยังนำร่างเด็กขึ้นรถไปด้วย

ขณะเดียวกัน ที่นครย่างกุ้ง มีผู้ถูกจับกุมอีก 300 คน ภาพวิดีโอเผยผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมถูกบังคับให้เดินต่อแถวขึ้นไปบนรถบรรทุกทหาร มีตำรวจยืนเฝ้า ส่วนที่เมืองมะริด มีนักข่าวสังกัดสื่อ เสียงประชาธิปไตยพม่า หรือ DVB ไลฟ์สดผ่านสื่อโซเชียล นาทีที่ตนเองถูกตำรวจบุกจับกุมถึงบ้านพรรค

ภาพไลฟ์ดังกล่าว นาย Kaung Myat Hlaing ถ่ายภาพจากระเบียงบ้าน ร้องตะโกนว่า “ช่วยด้วย ช่วยด้วย พวกนั้นยิงมาที่ผม” ท่ามกลางเสียงดังคล้ายยิงปืนรัวตามมา