เสวนา รัฐประหารเมียนมา : สุภลักษณ์ ผ่าไส้ในกองทัพพม่า ชี้ควบคุมการเมือง ส่วนกองทัพไทยเล่นการเมืองแต่ “คุมไม่ได้”

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเวลา 13.00 น. ณ ห้องเสน่ห์ จามริก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์ดิเรก ชัยนาม ได้จัดงานเสวนา รัฐประหารเมียนมา กองทัพ การเลือกตั้ง และจุดจบของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เพื่อทำความเข้าใจการเมืองพม่าล่าสุดเมื่อ ทัตมะดอว์ หรือกองทัพพม่า ก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน จนนำไปสู่การลุกฮือต่อต้านการยึดอำนาจของประชาชนทั่วประเทศ จะนำไปสู่บทสรุปวิกฤตการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างไร โดยมีวิทยากร อาทิ ผศ.ดร นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผศ.ดร.พินิตพันธุ์ บริพัตร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตสื่อมวลชนอาวุโสและนักวิจัยอิสระ

โดยสุภลักษณ์กล่าวว่า ทัตมะดอว์(ทหารพม่า)มีแนวคิดชาตินิยม ยึดมั่นอธิปไตยของชาติและธำรงรักษาบูรณภาพดินแดน ส่วนกองทัพไทยยึดมั่นราชาชาตินิยม ซึ่งพันธกิจของทหารพม่าคือปกป้องประเทศและดูแลบริการ ส่วนกองทัพไทย ปกป้องประเทศ ปกป้องสถาบันกษัตริย์ รักษาความมั่นคงภายใน ช่วยเหลือรัฐบาล

เวลาที่จะพูดถึงความมั่นคงต้องนิยามภัยคุกคามตามความเข้าใจของทั้งพม่าและไทย พม่ามองภัยคุกคามคือชนกลุ่มน้อย กองกำลังชาติพันธุ์ที่ใช้การทำสงครามจรยุทธ์ ที่ซีเรียสกว่าคือประเด็นโรฮิงญาเพราะมีทั้งชาติพันธุ์และศาสนา กองทัพพม่ามองว่าโรฮิงญาเป็น “สิ่งแปลกปลอม”

คำถามคือทำไมซูจีถึงได้คะแนนนิยมในชาวพม่าและยังต้องเอาใจทัพพม่า โรฮิงญาจึงเป็นสิ่งไม่เข้ากันและมีธรรมชาติของกองกำลังก่อการร้าย ทั้งที่พวกเขาไม่มีความคิดเช่นนั้น แต่ถูกเอาข้อมูลเชื่อมโยงจนทำให้โรฮิงญาถูกมองให้เป็นอย่างนั้น พอเรื่องไปที่ศาลโลก ทัพพม่าเกินรับเรื่องนี้ และภัยคุกคามภายนอกจากประเทศเพื่อนบ้านกับชาติมหาอำนาจ

สำหรับประเทศไทย เรามีความสัมพันธ์ที่ดี ในยุคของทักษิณถือว่า เราช่วยเรื่องชนกลุ่มน้อย และการทำให้มิน อ่อง หลาย เป็นลูกบุตรธรรมเปรม ก็เป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

แต่ไทยมีภัยคุกคามด้วยการสร้างภัยเทียมจากกลุ่มต่อต้านสถาบันกษัตริย์ เพราะกองทัพไทยไม่เคยรับมือศัตรูต่างชาติ จึงสร้างศัตรูภายในไว้ ทัพไทยไม่เคยเจอศึกใหญ่นอกจากการปะทะตามชายแดน ทั้งๆที่ เมื่อเทียบแสนยานุภาพกองทัพไทยกับพม่า กองทัพพม่าอยู่อันดับที่ 38 จาก 139 ประเทศ แต่ของไทยอันดับดีกว่าที่ 26 งบประมาณกองทัพพม่าแค่ 2 พันล้าน แต่ไทยอยู่ที่ 7.2 พันล้าน

สรุปแล้วกองทัพพม่าควบคุมการเมือง กองทัพไทยเล่นการเมือง

แต่สิ่งที่กองทัพไทยและพม่ากระทำเหมือนกันคือ “ธุรกิจ” หารายได้ พอขึ้นศตวรรษใหม่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่จนเหลือ 2 บริษัท อย่าง MEHL มีบริษัทลูก 50 แห่ง และ MEC มีบริษัทลูกกว่า 100 แห่ง กองทัพไทยมีสเกลน้อยกว่า ทำธุรกิจพวกสื่อ อสังหาริมทรัพย์ กีฬา

สุภลักษณ์ ฉายภาพกองทัพพม่านั่งอยู่ยอดพีระมิดของโครงสร้าง อยู่ในจุดที่ควบคุมได้สมบูรณ์ สังคมชนชั้นนำมีขนาดเล็ก คนรวยอยู่ในกลุ่มกองทัพแต่ยังเล็ก ประชาสังคมพม่าอ่อนแออยู่ เศรษฐกิจพม่าด้อยพัฒนา กองทัพจัดการได้ง่าย และสุดท้ายคือ “ประเทศไม่สนระบบระเบียบการเมืองโลก”

ส่วนกองทัพไทย ทหารไทยแค่เล่นการเมือง ควบคุมไม่ได้ เพราะยอดสูงสุดคือ สถาบันกษัตริย์ ซึ่งคุมการเมืองผ่านกองทัพ สังคมไทยมีโครงสร้างชนชั้นนำที่ซับซ้อนจนจัดการยาก แต่ภาคประชาสังคมไทยเติบโตมาก กองทัพไม่สามารถใช้อำนาจได้เต็มที่ และกองทัพไทยไม่มีปัญญาบริหารเศรษฐกิจ อับจนหนทางมากในตอนนี้ ที่ไม่สามารถแก้ไขในภาวะวิกฤตได้ และสุดท้ายไทยปรับเข้ากับระบบการเมืองโลกมากกว่า กองทัพไทยหน้าบางกว่าทัพพม่า

นอกจากนี้ นายสุภลักษณ์ตอบคำถามถึงปลายทางของกองทัพพม่าว่า สิ่งที่ซูจีทำที่ผ่านมา เป็นภัยคุกคามต่อกองทัพพม่า โดยเฉพาะเรื่องโรฮิงญาและการไปศาลโลก ซูจีพยายามดึงคนโรฮิงญาร่วมข้อตกลงปางโหลงและนำเสนอสหพันธรัฐและชนกลุ่มน้อย ซึ่งกองทัพพม่าต่อต้านมาตลอด เพราะ union ไม่เท่ากับ federation

หากกองทัพพม่าต้องการทำให้พรรคUSDPมีประสิทธิภาพในสภาและชนะ NLD จริงๆถ้าปล่อยให้ NLD ไปอีกสมัย ครั้งหน้าอาจแพ้ ก็ได้ เพราะNLD ยังด้อยเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าทำให้พรรค USDP ดี มิน อ่อง หลายอาจทำตัวเองเหมือน “เต็ง เส่ง” ได้

“ส่วนเลือกตั้งใหม่นั้น หากเกิดขึ้นเร็ว พรรค USDP ยิ่งแพ้เร็ว ดังนั้น พวกเขาอาจคงสถานะรัฐบาลทหารไปจนกว่าพรรคของทหารจะชนะ” สุภลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย