ธปท. คาดโควิดลากยาว กระทบเศรษฐกิจ 3-4% แรงงาน 4.7 ล้านเสี่ยงตกงาน-รายได้หด

วันที่ 16 มกราคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ จะเห็นว่าแม้การระบาดกระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่าการระบาดรอบแรก แต่พบว่าความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ซึ่งดูได้จากจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่มีเพียง 25 ราย จากระบาดรอบแรกที่อยู่ 800 ราย และอัตราการเสียชีวิตรอบใหม่อยู่ที่ 0.1% เมื่อเทียบรอบแรกที่อยู่ 1-2% สะท้อนความพร้อมด้านสาธารณสุขมีมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาการของวัคซีนและแผนการได้รับวัคซีนของไทยเริ่มมีความชัดเจน

ดังนั้น ธปท.คาดการณ์ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก โดยได้ประเมินผลกระทบการใช้มาตรการภายใต้ 3 สมมุติฐาน ได้แก่ 1.กรณีมาตรการควบคุมการระบาดแบบปานกลาง ไม่ได้มีการงดกิจกรรมทั้งหมดภายในระยะเวลา 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) และจำนวนผู้ติดเชื้อทยอยลดลง คาดว่าจะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประมาณ 1-1.5%

2.กรณีใช้มาตรการควบคุมการระบาดแบบเข้มข้น เป็นเวลา 1 เดือน (ม.ค.) และทางการดูแลควบคุมผู้ติดเชื้อได้ดีและมีการผ่อนคลายมาตรการตามลำดับ คาดว่าจะมีผลกระทบจีดีพีประมาณ 2-2.5% มองว่าแม้จะใช้เวลาไม่นาน แต่ผลกระทบมีมากกว่ากรณีแรก และ 3.กรณีใช้มาตรการควบคุมการระบาดแบบปานกลางในช่วง 1 เดือน (ม.ค.) แต่หากทางการไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ และทยอยเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการ โดยสถานการณ์ยืดเยื้อและรุนแรง ซึ่งจะกระทบต่อการเปิดประเทศ ธปท.คาดว่าจะกระทบต่อจีดีพีประมาณ 3-4%

“การประเมินทั้งหมด 3 กรณี เป็นการประเมินผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจภาคเอกชนการบริโภคและการลงทุนเท่านั้น ยังไม่รวมผลจากมาตรการการเงินการคลังที่จะมีเพิ่มขึ้น การกระจายวัคซีน และการเปิดรับนักท่องเที่ยว จึงยังไม่ใช่ภาพที่จะนำไปหักลบกับตัวเลขการประเมินของจีดีพี เนื่องจากการประเมินตัวเลขจีดีพีจะมีตัวแปรหลายตัว ซึ่งตอนนี้การส่งออกและเศรษฐกิจคู่ค้ายังไม่ได้มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ยอมรับจีดีพีมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลง เพราะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบาย
การเงิน (กนง.) ในการประเมิน”

นางสาวชญาวดีกล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดของโควิด-19 จะทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก (uneven) ทั้งในมิติเชิงพื้นที่ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มแรงงาน โดย ธปท.ประเมินว่ามีแรงงานที่เสี่ยงได้รับผลกระทบกว่า 4.7 ล้านคน ในจำนวนนี้จะมีประมาณ 1.1 ล้านคน เสมือนว่างงาน (ทำงานต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) และเสี่ยงตกงานอีก 1 แสนคน หากดูกลุ่มแรงงานจะมี 3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือ ลูกจ้างงานรายวันนอกภาคเกษตร ซึ่งจะมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบเสมือนว่างงาน 5 แสนคน และรายได้ลดลง 5 แสนคน กลุ่มอาชีพอิสระนอกภาคเกษตร เสมือนว่างงาน 6 แสนคน รายได้ลดลง 3 ล้านคน และลูกจ้างในสาขาโรงแรมจะมีความเสี่ยงตกงานเพิ่มขึ้น 1 แสนคน

ขณะที่ในเชิงพื้นที่ จะเห็นว่าพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวด 28 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมสัดส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 3 ใน 4 หรือเกิน 50% ของประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และด้านกลุ่มธุรกิจจะมีกลุ่มที่เปราะบางเพิ่มเติมจากรายได้ที่ลดลงในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจภาคบริการ ค้าปลีก นอกจากนี้ บางกลุ่มที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว เช่น ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่นี้เพิ่มเติม

“หลายภาคธุรกิจและครัวเรือนมีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้นจากการระบาดระลอกแรก ทำให้ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจน้อยลง ดังนั้น การช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานอย่างทันการณ์เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และต้องเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางให้ทั่วถึงและตรงจุดมากที่สุด โดยภาครัฐได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือ รวมถึง ธปท.ที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจากรายได้ที่ลดลง ย่อมเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของประชาชน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป”