ก.ต่างประเทศ โต้ยูเอ็น มาตรา 112 ไม่ได้มุ่งจำกัดเสรีภาพ อ้างหลายประเทศก็มีใช้แบบต่างๆ

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งท่าทีของไทยต่อกรณีโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการใช้ม. 112 ต่อผู้ประท้วงในไทย 35 คน ซึ่งรวมถึงนักเรียนวัย 16 ปี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมาดังนี้

1. กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยรัฐธรรมนูญไทยให้เสรีภาพทางวิชาการ หรือการถกเถียงเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ในฐานะสถาบันได้ กฎหมายนี้มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยก็เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี มกุฎราชกุมาร หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทสำหรับพลเมืองไทยทุกคน

2. ในการพิจารณากรณีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะมีการใช้หลักการข้างต้นเป็นแนวทางประกอบ และหากจำเป็นต้องดำเนินคดีความเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว ก็จะเป็นตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งในหลายกรณีก็จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ

3. ต่อกรณีการตั้งข้อหาผู้ประท้วงวัย 16 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของศาลเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ระบุระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวานนี้แล้ว ว่า ศาลได้ปฏิเสธคำขอให้มีการคุมขัง พร้อมกับอนุญาตให้ประกันตัวแบบมีเงื่อนไข

4. ขอย้ำอีกครั้งว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีผู้ประท้วงถูกจับกุมเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ แต่ผู้ที่ถูกจับกุมได้ละเมิดกฏหมายอื่นๆ ของไทยซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว