หวั่นนักลงทุนเทหุ้นส่งท้ายปีตลาดผันผวน | เล็งเปิดเส้นทางท่องเที่ยวกัญชาปีหน้า | หมอบุญทุ่ม 3.5 หมื่นล้านสร้าง 4 รง.ถุงมือ

แฟ้มข่าว

เปิดโฉมหน้า 10 เศรษฐีหุ้นไทยปี “63

วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย ปี 2563 โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2563 ปรากฏว่า นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการรองประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ยังครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดรวม 115,290 ล้านบาท แต่ถือว่ารวยลดลง 5,670 ล้านบาท หรือ 4.69% ตามด้วย นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ-นนทเวช และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ถือครองหุ้นมูลค่ารวม 50,079.31 ล้านบาท ลดลง 16,031.33 ล้านบาท หรือ 24.25% อันดับ 3 ได้แก่ นายนิติ โอสถานุเคราะห์ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา ถือครองหุ้นมูลค่ารวม 48,181.64 ล้านบาท ลดลง 431.68 ล้านบาท หรือ 0.89% อันดับ 4 นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัททีโอเอ ถือครองหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รวมมูลค่า 41,213.15 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 157.85 ล้านบาท หรือ 0.38% อันดับ 5 เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี รวมมูลค่าหุ้น 38,178.70 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 27,848.13 ล้านบาท หรือ 269.57% อันดับ 6 และอันดับ 7 ได้แก่ 2 เศรษฐีหุ้นเจ้าของบริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) โดยนางดาวนภา เพชรอำไพ ถือหุ้นมูลค่า 35,460 ล้านบาท ลดลง 5,580 ล้านบาท หรือ 13.60% นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ถือครองหุ้นมูลค่า 35,277.91 ล้านบาท ลดลง 5,563.30 ล้านบาท หรือ 13.62% อันดับ 8 นายสมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ถือครองหุ้นรวม 34,412.43 ล้านบาท ลดลง 7,671.82 ล้านบาท หรือ 18.23% อันดับ 9 คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ถือครองหุ้นรวม 28,728.70 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 18,398.13 ล้านบาท หรือ 178.09% และอันดับ 10 มร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม ถือครองหุ้นรวม 26,798.95 ล้านบาท ลดลง 632.63 ล้านบาท หรือ 2.31%

เล็งเปิดเส้นทางท่องเที่ยวกัญชาปีหน้า

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2564 กรมการท่องเที่ยวร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเปิดเส้นทางกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการออกเกณฑ์ในการเข้าเยี่ยมชมพื้นที่เพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ เพื่อเปิดขายแพ็กเกจทัวร์เส้นทางกัญชาทั่วประเทศ ในพื้นที่ที่มีความพร้อมในการเพาะปลูก ใน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชลบุรี สมุทรสงคราม ลำปาง แม่ฮ่องสอน และพัทลุง คาดว่าประมาณครึ่งปีหลังของปี 2564 จะเปิดกัญชา เอ็กซโป ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแนะนำให้ผู้ที่สนใจเข้าชมและศึกษาประโยชน์ของกัญชา โดยจะพัฒนาเส้นทางในการเพาะปลูกกัญชาเป็นเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้สนใจ อาทิ วัยรุ่น ผู้ที่กังวลว่าจะเป็นมะเร็ง หรือผู้ป่วยมะเร็งให้เข้าชมและรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกัญชาทางเลือกในการรักษามะเร็ง เบื้องต้นคาดว่าจะนำร่องก่อน 8 จังหวัด และในอนาคตอาจขยายเป็น 26 จังหวัดทั่วประเทศที่เป็นพื้นที่เป้าหมายปลูกกัญชา “ช่วงที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังต้องรอวัคซีนต้านโควิด-19 และรอการกลับมาของนักท่องเที่ยว” นายพิพัฒน์กล่าว

หวั่นนักลงทุนเทหุ้นส่งท้ายปีตลาดผันผวน

นายรักพงศ์ ไชยศุภรากุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นจากสิ้นเดือนตุลาคม 2563 ปิดที่ 1,415.72 จุด หรือบวกได้กว่า 18.4% โดยได้แรงสนับสนุนหลักจากนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิเป็นเดือนแรกของปี 2563 เป็นการซื้อสุทธิที่ 3.81 หมื่นล้านบาท สะท้อนความคลายกังวลของโควิด-19 จากผลสําเร็จของวัคซีน และการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งการปรับขึ้นของราคาอย่างแรงนี้ ได้สะท้อนจิตวิทยาของอุปสงค์ ที่หากยังเห็นแรงซื้อจากต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาจป้องกันความเสี่ยงราคาทางลงได้ แต่หากแรงซื้อต่างชาติลดลงหรือชะลอลงอีก ราคาหุ้นก็อาจถูกกดลงแรงได้อีกครั้ง โดยช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤศจิกายน) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสะสม 2.615 แสนล้านบาท จึงต้องติดตามว่าเดือนธันวาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติจะยังเข้าซื้อต่อหรือไม่ แนะนำว่าหากราคาปรับขึ้น ให้ขายออก และควรถือครองเงินสดรอดูตลาดตลอดเดือนสุดท้ายของปี 2563 เพื่อดูทิศทางในปี 2564 ก่อน

หมอบุญทุ่ม 3.5 หมื่นล้านสร้าง 4 รง.ถุงมือ

นายมนตรี ปุณณมากุล ผู้จัดการ บริษัท ไทยเมดิคอล โกล์ฟ จำกัด บริษัทภายใต้การกำกับดูแลของนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเงินลงทุนประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทสำหรับสร้างโรงงานผลิตถุงมือยาง 4 แห่ง ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 3 แห่ง และในอีก 1 แห่งในพื้นที่เขตบางนา กรุงเทพฯ โดยคาดว่าจะเดินเครื่องผลิตได้ 3 โรงงานในปี 2564 และปี 2565 จะเดินเครื่องผลิตได้ครบทั้ง 4 โรงงาน ทั้งนี้ จะสามารถรับรู้รายได้ประมาณครึ่งปีหลังของปี 2564 เกือบ 8,000 ล้านบาท และปีหน้าเมื่อทุกโรงงานสามารถผลิตได้แล้วจะรับรู้รายได้ มีกำไรก่อนหักค่าเสื่อมมากกว่า 22% วางแผนปลายปี 2565 จะแต่งตัวบริษัทเพื่อยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกและเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ได้ในปี 2566 “หลังเปิดตัว บริษัทเตรียมผลิตถุงมือยางเพื่อส่งออก มีนักลงทุนต่างชาติ อาทิ ยุโรป สหรัฐติดต่อมาแล้วเพื่อขอซื้อถุงมือเป็นจำนวนมาก หลังจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางเติบโตมาก ประมาณ 4,000 ล้านกล่อง/ปี แต่กำลังการผลิตในปัจจุบันมีประมาณ 1,800 กล่อง จึงลงทุนเพิ่มอีก 4 โรงงาน ส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 รองจากบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่มีสัดส่วนการผลิตถุงมือยางอันดับ 1 ของไทย หรือประมาณ 80% ของมาร์เก็ตแชร์ตลาดโลกที่ 14%”

” เมื่อรวมกับบริษัท ศรีตรังฯ แล้ว จะส่งผลให้มาร์เก็ตแชร์ตลาดโลกของไทย เพิ่มขึ้นเป็น 25-30% ในตลาดโลก”