พณ.กางผลสำรวจใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยว ประชาชน 11% ยอมควักเงิน ชี้แรงงานต้องการตังค์เพิ่มเพื่อซื้ออาหาร

วันที่ 5 ตุลาคม 2563 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า ในการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2563 ถึงประเด็น การใช้จ่ายและการท่องเที่ยว ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2563 พบว่า ประชาชน 86% ระบุใช้จ่ายท่องเที่ยวไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อครั้ง มีเพียง 13% ใช้จ่ายเกิน 1 หมื่นบาทต่อครั้ง ที่เหลือระบุไม่ไปเที่ยว ซึ่งในส่วนนี้ 56% ระบุว่า ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย อีก 15% ระบุข้อมูลมาตราการหรือแพคเกจท่องเที่ยวไม่ชัดเจน และ 29% ต้องการพักผ่อนที่บ้าน ขณะที่สำรวจประเด็นวางแผนใช้จ่ายและท่องเที่ยวในเดือนตุลาคมเป็นต้นไปอย่างไร พบว่า 47% ระบุไม่มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัด อีก 40% ยังไม่แน่ใจ และ 11.7% เตรียมแผนเดินทางแล้ว

ในการสำรวจพบว่า ข้อกังวลประชาชนสูงสุด 40% เกรงว่าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบสอง อีก 17% วิตกเรื่องราคาสินค้าแพงและค่าครองชีพสูง และ 14.4% มีปัญหาหนี้สูง ซึ่งผลจากการสำรวจนี้ เพื่อที่รัฐบาลจะได้นำไปประมวลกับแนวทางหรือมาตรการที่ออกมาใช้ในการกระตุ้นใช้จ่ายหรือท่องเที่ยว ถือว่าเป็นประเด็นท้าทาย” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค.ได้มีการจัดทำ ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อได้รับรู้ว่าถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของภาคแรงงานไทย ซึ่งประชาชนทั่วไปประมาณ 46% ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อที่พักอาศัย ค่าเช่าบ้าน ค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าพลังงาน แต่สำหรับผู้ใช้แรงงาน พบว่า กว่าครึ่งระบุว่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าประจำวันและค่าอาหารสด อาหารสำเร็จรูป รวมถึง 38% ไม่ใช่ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ซึ่งผลสำรวจนี้ก็ได้นำเสนอต่อกระทรวงแรงงาน ในการประกอบการพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และประกอบการพิจารณาว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นอย่างไร ที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง