“บวรศักดิ์” ชี้พิรุธเตะถ่วงคดีบอส ร้องขอความเป็นธรรม 10 กว่าครั้ง

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่สำนักงานกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ มีการประชุมคณะทำงานตรวจสอบอัยการ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนของอัยการกรณีสั่งไม่ฟ้องในคดีวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา โดยมีนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เข้าร่วมฟังการชี้แจงด้วย ที่ประชุมได้เชิญนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เข้าชี้แจง แต่นายอรรถพลและนายเนตรไม่ได้เข้าชี้แจง มีเพียงนายประยุทธ์ และคณะอัยการที่ทำคดีดังกล่าวเข้าชี้แจงเท่านั้น ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง

นายประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าชี้แจงว่า มาชี้แจงในฐานะเป็น 1 ในคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการสั่งสำนวน ส่วนรายละเอียดตนไม่สามารถเปิดเผยได้ ตนมาให้ถ้อยคำว่าเราตรวจสอบอะไรอย่างไรบ้าง และผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร และได้นำเสนอเรียนอัยการสูงสุดประเด็นไหนอย่างไร ส่วนกรณีนายเนตรไม่ได้เข้าชี้แจงนั้น ตนไม่ขอแสดงความเห็น

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เชิญอัยการมาร่วมชี้แจงคือนายประยุทธ์ นายสมใจ โตศุกลวรรณ์ เนื่องจากในเวลานั้นที่สำนวนมาถึงนายสมใจ เป็นรองอธิบดีอาญากรุงเทพใต้ น.ส.นิภาพร รุจนรงค์ รองอัยการสูงสุด สมัยร.ต.ต.พงษ์วิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด เป็นคนเสนอความเห็นว่าให้ยุติการขอความเป็นธรรมและนายเพียรศักดิ์ สมบัติทอง อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ นายนิติ สุขเจริญ เป็นอัยการ ดำรงตำแหน่งรองเลขานุการอัยการสูงสุด และเป็นผู้ช่วยร.ต.ต.พงษ์วิวัฒน์ ทั้ง 2 คนนี้มีความเห็นว่าควรยุติเรื่อง จากการชี้แจงได้ข้อมูลเป็นประโยชน์มาก

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ถือว่าได้ประโยชน์มาก ส่วนรายละเอียดข้อมูลนั้นต้องไปถามนายวิชา วันที่ 11 ส.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ที่สำนักงานกฤษฎีกา และจะเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาให้ข้อมูล อย่างไรก็ตามข้อมูลในวันนี้จะยังไม่พูดถึง แต่จะยกตัวอย่าง เช่นการร้องขอความเป็นธรรมที่มีถึง 7 ครั้ง แต่ข้อเท็จจริงมีการร้องขอความเป็นธรรมกว่า 10 ครั้ง ส่งผลให้คดีเกิดความล่าช้า การร้องขอความเป็นธรรมทั้ง 10 ครั้งมาจากหลายฝ่าย แต่ส่วนใหญ่มาจากผู้ต้องหา และมีคำสั่งให้ยุติเรื่องทั้งหมด แต่ก็มีการร้องขอมาเรื่อยๆ ทำให้เห็นว่าการที่นายคณิต ณ นคร ออกระเบียบร้องขอความเป็นธรรมเพื่ออำนวยความยุติธรรม แต่วันนี้กับกลายเป็นเครื่องมือถ่วงคดี เห็นว่าต้องมีการแก้ไข อาจจะเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการฯ น่าจะต้องเขียนเป็นกฎหมายให้ชัดเจน เช่น ผู้ร้องขอความเป็นธรรมจะต้องมาร้องด้วยตัวเอง จะให้มีการร้องขอความเป็นธรรมได้กี่ครั้ง จะสามารถเอาพยานหลักฐานเดิมมาร้องได้หรือไม่เป็นต้น

เมื่อถามว่า การร้องขอความเป็นธรรมมีจุดไหนที่ทำให้เห็นว่ารองอัยการสั่งไม่ฟ้อง นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามอัยการ ไม่ใช่มาถามที่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ แต่ในที่ประชุมได้มีการซักถามพร้อมขอพยานหลักฐานในเรื่องดังกล่าวด้วย

ต่อข้อถามว่ามีการซักถามเรื่องดุลยพินิจของนายเนตร กลับสำนวนสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า อัยการชี้แจงว่าเป็นดุลยพินิจว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือผิดวินัยหรือไม่ เป็นอำนาจของคณะกรรมการอัยการ แต่ปัญหาตอนนี้ที่เกิดขึ้นคือการจะเอาผู้ต้องหามาฟ้องคดีได้อย่างไรนั่นคือปัญหา

เมื่อถามย้ำว่า ในการชี้แจงของอัยการวันนี้ได้เห็นภาพรวมอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าว่า อัยการได้ชี้แจงแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ขณะนี้เรากำลังขอไทม์ไลน์ทั้งหมดในเรื่องของการร้องขอความเป็นธรรมทั้ง 10 ครั้ง ว่ามีการร้องขอความเป็นธรรมที่ไหนอย่างไรบ้าง

เมื่อถามว่า มีแนวทางสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนายวรยุทธให้พ้นผิดอย่างไรบ้าง นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า เพราะกระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใด ตนพูดเสมอว่าความไม่เป็นธรรมในคดี หากประชาชนเกิดความรู้สึกไม่เชื่อมั่นว่า ไม่เป็นธรรมจะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองมากที่สุด ฉะนั้นทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน ดูแลความยุติธรรมของบ้านเมือง ให้เกิดการอำนวยความยุติธรรมที่แท้จริง

“ทั้งนี้ยืนยันว่าจะมีการเชิญนายเนตรและอัยการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ได้อย่างแน่นอนโดยเฉพาะนายเนตรจะต้องมาชี้แจง ส่วนจะเป็นวันไหนจะแจ้งให้ทราบภายหลัง” นายบวรศักดิ์ กล่าว