ส.ส.พปชร. ถกงบปี 64 จี้อย่าตัดงบกระทรวงศึกษา-ห่วงแผนดับไฟใต้

วันที่ 2 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายอาดิลัน อาลีอีสเฮาะ ส.ส.ยะลา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2564 ว่า งบปี 64 เป็นงบประมาณที่จำกัด นอกจากจะนำมาใช้ตามแผนงานที่วางเอาไว้ ต้องนำมาใช้ในการฟื้นฟูประเทศช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรดูแลพี่น้องประชาชน และงบประมาณเพื่อพัฒนาบูรณาการเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ต้องปรับลดงบประมาณของทุกหน่วยงาน

แต่ขอให้รัฐบาลทบทวนในการตั้งงบประมาณบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงานราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นอกจากจะมีการบริหารจัดการเหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ แล้วยังมีมิติของความมั่นคงที่จะต้องจัดการบริหารควบคู่กันไป ซึ่งหลายเรื่องที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ร้องขอให้มีการจัดสรรงบประมาณ แต่ก็ยังไม่ปรากฏในงบประมาณ ปี 2564

โดยยกตัวอย่าง คือ งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักปลัด โดยแม้จะจัดสรรงบประมาณที่จัดให้สำนักปลัดจำนวนประมาณ 148,000 ล้านบาท แต่ได้ตัดงบประมาณในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยาครู บุคคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตและพิการอันเนื่องมากจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ขอไว้เพียง 384 ล้านบาท ใช้สำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่ถึง 200 ครอบครัว ร้อยละ 90 นับถือศาสนาพุทธ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ตามมติคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 56 เห็นชอบให้มีการจัดสรรงบประมาณในการเยียวยาครูและบุคคลากรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ โดยให้ย้อนหลังไปถึง วันที่ 1 ม.ค. 47 ในการจัดสรรเงินให้หักกลบกับเงินที่ได้รับแล้วในวงเงินไม่เกิน 4 ล้านบาทต่อคนที่เสียชีวิตหรือพิการ ตามเงื่อนไข แต่ภายหลังที่มีมติดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการหลายส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล การได้รับเงินเยียวยา หลักเกณฑ์ในการจ่าย และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวในปี 2562 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการจัดสรรเงินดังกล่าว ดังนั้นจึงอยากเสนอให้รัฐบาลทบทวนงบประมาณในส่วนนี้ด้วย

นายอาดิลัน ยังอภิปรายถึงงบประมาณของกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ แต่มีงบประมาณในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประมาณ 23 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรเพียง 8 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากใ้ห้ จัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เพราะกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีส่วนในการขับเคลื่อนสร้างความเชื่อมั่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายอาดิลัน ยังอยากให้มีการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่ไม่มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจ่ายค่าตอบแทนครูผู้สอนในโรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนา ซึ่งแม้ตามโครงสร้างการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานราชการจะมีการสนับสนุนส่งเสริมให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิลาม มีการเปิดสอนหลักสูตรสามัญควบคู่ไปกับการสอนศาสนา เพื่อให้คนไทยที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถพูดภาษาไทยได้ โดยผ่านการสอนหลักสูตรสามัญ แต่กลับไม่ได้จัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนให้กับบุคคลากรในส่วนนี้ และมีการเรียกร้องมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีการสนับสนุนงบประมาณ

นายอาดิลัน ระบุว่าในพื้นที่จังหวัดภาคใต้จะเกิดสันติภาพได้นั้นเมื่อความยุติธรรมปรากฏ ไม่สามารถที่จะเรียกร้องให้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมมือกับราชการได้ หากว่าประชาชนยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม จึงฝากประธานสภาฯผ่านไปยังฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาทบทวนจัดสรรงบประมาณลงสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามความเหมาะสม

นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่าโดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 350,000 ล้านบาท โดยเน้นไปที่ สพฐ. วงเงิน 270,000 ล้านบาท โดยจะจัดสรรงบประมาณอย่างไรให้กับเด็ก เพื่อฟูมฟักให้เติบโตมาเป็นคนดีในสังคม

ทั้งนี้ตนมีโอกาสเข้าไปต้อนรับคณะผู้บริหารคณะครูชมรมอนุบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ที่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเปิดภาคเรียน และเห็นว่าสามารถบริหารจัดการเรื่องต่างๆให้ดำเนินการเว้นระยะห่างทางสังคมได้เป็นอย่างดี แบ่งวิธีการเรียนการสอนโดยแบ่งครึ่งหนึ่งเรียนที่บ้าน และอีกครึ่งหนึ่งเข้าเรียนที่โรงเรียน โดยได้ทำตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี

นายเกษม ยังอภิปรายว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตราที่ 54 ได้ระบุเรื่องการเรียนการสอนไว้ชัดเจนว่า รัฐต้องดำเนินการเรียนการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา พัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ต้องเคารพและปฏิบัติตาม การเรียนการสอนต้องมีคุณภาพและครอบคลุมพื้นที่ทุกส่วนของประเทศไทย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องบริหารจัดการให้มีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและทั่วถึง ทุกคนต้องมีโอกาสได้เรียน

นายเกษม กล่าวว่า เหตุผลที่เน้นในเรื่อง สพฐ. เนื่องจากมีความเป็นห่วงต่อเด็กที่อาศัยอยู่ในชนบท หากสามารถพัฒนาเด็กในชนบทให้มีคุณภาพและความพร้อม จะเป็นการพัฒนาประเทศไปในตัว ดังที่กล่าวเสมอว่า บวร วัด บ้าน โรงเรียน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก จะทำอย่างไรให้เด็กในชนบทได้มีโอกาสทางการศึกษา ให้มีความพร้อมและความสุขในการเรียนการสอน โดยมั่นใจว่าประเทศไทยจะพัฒนาไปได้อีกไกล

พร้อมกันนี้ยังเสนอแนวทางการแก้ไข โดยให้กระจายไปสู่เมือง ไปสู่อำเภอ ให้มีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ หากในอำเภอมีโรงเรียนที่มีคุณภาพตามนโยบายของรัฐ จะช่วยลดการเดินทางเข้ามาเรียนในเมืองได้ และที่สำคัญถ้ากระจายไปสู่ระดับตำบลได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนในอำเภอหรือจังหวัด แต่หากสามารถลงไปถึงระดับหมู่บ้านได้ ก็จะมีคุณภาพมากขึ้น โดยมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้

นอกจากนี้ยังมองว่า โครงสร้างทางการศึกษามีโครงสร้างที่ซ้ำซ้อน มีผู้บังคับบัญชามาก ส่งผลให้การบริหารในอำเภอและจังหวัดไม่คล่องตัว จึงอยากเรียนฝากไปยังรัฐมนตรี จะมีวิธีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะหากสามารถปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นหนึ่งเดียว การศึกษาในประเทศไทยจะไปได้ไกลมากขึ้น จึงเรียนประธานและรัฐมนตรีว่า การศึกษาของไทยหากสามารถที่จะประสานงานและเรียนรู้แก้ปัญหาโครงสร้างให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จะมีความสุขมากขึ้น

นายเกษม ยังอภิปรายถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กอนุบาล และเด็กประถม โดยขอให้พิจารณาว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยไปหรือไม่สำหรับวางรากฐาน ดังนั้นหากมีการปรับงบประมาณอย่างเพียงพอ จะทำให้การเรียนการสอนหรือกระบวนการในการศึกษาเป็นไปได้ด้วยดี

ส่วนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โดยหลังจบชั้นประถมศึกษาที่ 6 จะต้องเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต่อ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีเงินจะเรียนต่อในตัวเมือง มีครูไม่เพียงพอ งบประมาณไม่เพียงพอ ห้องเรียนพิเศษต่าง ๆ ไม่เพียงพอ ซึ่งโรงเรียนขยายโอกาสมีปัญหามาก โดยปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นจึงขอฝากไปยังรัฐบาลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทั้งเรื่องงบประมาณสำหรับการศึกษาในชนบท โครงสร้างกระทรวงที่ซ้ำซ้อน และโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาที่ยังขาดคุณภาพ