“สุชาติ” ฉายภาพเศรษฐกิจ-การเมืองโลกหลัง “โควิด-19” อะไรจะเปลี่ยนไป

เมื่อวานนี้ (28 พฤษภาคม 2563) ศ.ดร.สุชาติ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช อดีต​ร​ัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​และอดีต​ร​ัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้โพสต์ข้อความแสดงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมืองโลกหลังการระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า

ส่วนที่ 1 สถานการณ์การเมืองโลก

1. วิกฤติโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ทันทีทันใดนับเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถเตรียมการป้องกันไว้ล่วงหน้าได้ โรคนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกทั้งเอเชีย ยุโรป​ ออสเตรเลีย และอเมริกา​ เดิมไม่มีใครมั่นใจว่าจะใช้วิธีการใดแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนประเทศจีนได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวในการควบคุมการระบาดที่อู่ฮั่น โดยใช้มาตรการปิดเมือง (Lock down) การสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง (Social distancing) และการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างจริงจัง ทำให้สามารถควบคุมการแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต​ เมื่อเทียบกันสหรัฐฯ​ อยู่ในระดับไม่มาก

2. หลายประเทศในแถบยุโรป สามารถควบคุมการแพร่กระจายได้ดี เช่น เยอรมนี สวีเดน เช็ค และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แต่หลายประเทศก็มีข้อจำกัด เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือ สหรัฐอเมริกา ที่มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเกือบ 30% ของโลก และปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ อาจเนื่องจากมีมาตรการรับมือที่ช้าเกินไป และวิธีการในช่วงแรกไม่ถูกต้อง เช่น ไม่สวมหน้ากาก ไม่รักษาระยะห่าง ไม่ปิดเมือง ไม่ขอให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ไม่ตรวจหาผู้ติดเชื้อ ปล่อยให้เชื้อแพร่กระจายในวงกว้าง

3. นักวิชาการหลายคนกล่าวว่า หลังวิกฤตโควิดนี้ รัฐบาลแต่ละประเทศจะใช้อำนาจมากขึ้น สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะลดลง ประชาชนจะถูกติดตามและตรวจสอบมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี่สื่อสารใหม่

4. โลกาภิวัตน์จะลดลง จะเป็นรัฐชาติมากขึ้น อาจมีผู้นำประชาธิปไตยหัวรุนแรง หรือผู้นำเผด็จการมากขึ้น แต่ละประเทศจะพึ่งพาแหล่งผลิตจากภายในมากขึ้น ต้นทุนและราคาสินค้าแพงขึ้น ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและเครือข่ายการกระจายสินค้ามีความเสี่ยงสูงขึ้น จึงถูกนำเข้ามาใกล้บ้าน โดยมีระบบเพื่อป้องกันการผลิตหยุดชะงัก ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

5. จีนจะเป็นผู้นำและมีความสำคัญต่อโลกมากขึ้น โดยอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาต่อโลกจะลดลง เนื่องจากลักษณะและนโยบายของประธานาธิบดี Trump เอง ที่เห็นแก่ตัวและมักใส่ร้ายคนอื่นมากเกินไป อาจกล่าวได้ว่า หากท่าน Trump ได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยหนึ่ง ก็จะทำให้สหรัฐอเมริกาหมดความน่าเชื่อถือ และจะทำให้จีนมีบทบาทสำคัญรวดเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนที่ 2 สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมโลก

1. โควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกัน ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงต้นปี 2021 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงประมาณ 3% โดยสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะหดตัว 6-7.5 % เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 1.2% ส่วนประเทศไทย ซึ่งมีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว ไทยจะหดตัวมากถึง 6.7% ทั้งนี้เนื่องจาก การที่รัฐบาลสั่งหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงของอย่างมาก (โดยเฉพาะจากจีน) และการลดลงของการส่งออก อย่างไรก็ดีในปี 2021 เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวในอัตราสูง 5.8% โดยจีนจะเติบโตถึง 9.2% ไทยจะโตประมาณ 6.1%

2. อิทธิพลของเงิน US$ จะลดลง พร้อมกับอ่อนค่าลง เนื่องจากความเชื่อมั่นต่อสหรัฐอเมริกาลดลง และการพิมพ์เงิน US$ มาใช้มากเกินไป ในขณะที่เงินหยวนจะมีอิทธิพลมากขึ้นเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ความจริง​ จีนได้เปลี่ยนการถือเงิน US$ ไปบ้างแล้ว เช่น จีนถือทองคำมากขึ้น​ จีนได้เปลี่ยน​ US$ เป็นโครงสร้างบริการพื้นฐานในประเทศเอเชียและอาฟริกา ในโครงการเส้นทางสายไหมใหม่​ (Belt and Road Initiative: BRI) นอกจากนี้ จีนยังได้เปลี่ยนวิธีการชำระเงินใช้ระบบ IT โดยไม่ผ่านระบบธนาคารที่ควบคุมโดยสหรัฐอเมริกา

3. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจะฟื้นตัวช้า เช่น สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ร้านของที่ระลึก แต่ค่าบริการต่างๆ จะแพงขึ้นจาก Social distancing และการรักษาสุขภาพและความสะอาดของประชน

4. อุสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น Medical Hub เป็นที่ต้องการมากขึ้น ความต้องการจะมากขึ้น ในด้านโรงพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ โดยค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้น

5. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสื่อสาร จะมีความจำเป็นและมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะธุรกิจต้องลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้อยู่ได้ การแข่งขันสูงขึ้น จากการใช้ระบบ IT, E-payment ต่างๆ

6. เมืองและสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น แออัดลดลง ฝุ่นและมลพิษลดลง การทำงานจากบ้าน (Work from home) จะมากขึ้น คนจะย้ายออกไปอยู่บ้านนอกเมือง ความต้องการคอนโดจะลดลง

7. ประชาชนจะมีพฤติกรรมที่เป็นระเบียบ รักษาความสะอาดมากขึ้น ธุรกิจ Share office จะลดลง เพราะคนต้องการรักษาระยะห่างจากกัน

8. ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย การบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลสั่งหยุดทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปิดห้างร้านต่างๆ ทำให้มีคนต้องหยุดทำงานอย่างฉับพลัน จำนวนมาก ในขณะที่มาตรการเยียวยาจากภาครัฐเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนไทยจำนวนมาก ประสบปัญหาไม่มีเงินใช้จ่าย รัฐบาลไทยใช้เงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นอีกถึง 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11.5% ของ GDP เพื่อมาชดเชยรายได้ให้ประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้เงินกู้ยืมแบบผ่อนปรนกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) รวมถึงการดูแลตลาดหุ้นกู้ อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือเหล่านี้ยังมีปัญหาเรื่องเงินไม่ถึงมือประชาชน

9.​ ในประเทศไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจะฟื้นตัวช้า เช่นเดียวกับคอนโดมิเนียมในเมือง ภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทยคือ อุตสาหกรรมเกษตรคุณภาพ การแพทย์และการสาธารณสุข การท่องเที่ยวที่ปลอดภัย