‘เต้น’ ชี้ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ต้องรอผลโพล เหน็บนายกฯอึดอัดตู้ปันสุข-แต่คนชวดรับเยียวยากลับรับได้

วันที่ 16 พฤษภาคม 2563 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงต้นของสถานการณ์โควิด-19 ทั้งที่มีอำนาจตามกฎหมายปกติคือ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ให้ทำได้แทบทุกอย่างอยู่แล้ว แต่ประชาชนให้โอกาสเพราะในห้วงเวลานั้นเป็นช่วงเริ่มต้น ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าความร้ายแรงของสถานการณ์จะไปถึงขั้นไหน แต่เมื่อสถานการณ์มาถึงวันนี้ การแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด กำลังมีการคลายล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ หลายกิจการ คำถามเรื่องความชอบธรรมในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงเริ่มดังขึ้นทุกที แทนที่นายกฯหรือรัฐบาลจะประเมินและตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกต่อไป กลับแสดงเจตนาจะถือบังคับใช้ไว้ต่อ โดยอ้างการลงพื้นที่ทำโพลสอบถามความต้องการของประชาชนจาก กอ.รมน. และหน่วยงานของฝ่ายความมั่นคง

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า 2 ประเด็นที่นายกฯอยากคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้คือการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลทำให้ควบคุมความเคลื่อนไหว หรือปฏิกิริยาของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยแล้ววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เวลานี้ และนายกฯ สามารถรวบอำนาจของรัฐมนตรีไว้ในมือของตัวเอง ถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลับไปใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ บทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก็จะปรากฏออกมามากขึ้น อำนาจที่นายกฯถืออยู่วันนี้ก็จะถูกแบ่ง ถูกหารไปโดยรัฐมนตรีต่างๆ บทบาทของปลัดกระทรวงในระบบรัฐราชการที่นายกฯ พยายามสร้างขึ้นก็ลดน้อยลงไปด้วย นายกฯ ชอบการทำงานแบบรัฐราชการ ชอบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเต็มมือ แต่เชื่อว่าบรรดารัฐมนตรีเขาไม่ชอบ

“รัฐบาลควรแสดงความจริงใจ ไม่ฉวยโอกาสรวบอำนาจไว้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างอื่น สถานการณ์โรคระบาดที่ดีขึ้นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจริงๆ น้อยมาก ห้ามชุมนุมกันเกิน 5 คน วันนี้ไม่ต้องมีกฎหมาย ใครเขาก็ไม่ทำ ขืนทำก็ถูกประณามจากสังคม พอเกิดขึ้นจริงๆ ก็เห็นชัดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำอะไรไม่ได้ คนไปมุงกันหลายร้อย ไปเกาะรั้วกระทรวงการคลังเพื่อเรียกร้องเงินเยียวยา ไปเข้าคิวกันแน่นขนัดเพื่อรอรับข้าวสารอาหารแห้ง เรื่องพวกนี้เห็นชัดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่มีความหมาย” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการคลายล็อก ตนเรียกร้องมาตลอดว่าต้องจัดกลุ่ม จัดน้ำหนักตามสถานการณ์ที่เป็นจริง ไม่ใช่แต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกันแล้วใช้มาตรการเดียวกันในระดับความเข้มข้นเท่ากันตลอดเวลา มาตรการเยียวยาจากรัฐก็ไม่ทั่วถึง ที่ได้เดือนละ 5 พันก็ใช่ว่าจะมากพอ พูดกันทั่วไปว่าต่อจากนี้ต้องนิวนอร์มอล หรือมีวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ แต่รัฐบาลยังย่ำอยู่กับที่ ใช้วิธีคิดเดิมๆ ในการแก้ปัญหา อย่าสรุปเอาง่ายๆ ว่าปิดกิจการแล้ว เปิดช้าขึ้นอีก 15 วัน 1 เดือนก็คงไม่เป็นไร เพราะเวลาคือต้นทุนสำคัญของทุกธุรกิจและทุกชีวิต ถึงวันนี้ยังประเมินไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่า เมื่อเปิดล็อกกันเต็มที่จะเหลือกิจการที่ลุกขึ้นยืนได้ทันทีกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ละจังหวัดติดโควิดไม่เท่ากัน แต่ติดพิษเศรษฐกิจเท่ากัน หลายจังหวัดเขาปลอดภัยจากโรคห่า แต่จะตายห่าเพราะโรคหิว

นายณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่า นายกฯบอกว่าอึดอัด รับไม่ได้กับการเห็นภาพคนไปโกยของจากตู้ปันสุขมากเกินไป เรื่องตู้ปันสุขเป็นเรื่องหัวใจสาธารณะ จิตวิญญาณการแบ่งปันของสังคม คนให้เขาให้ด้วยความสมัครใจ คนไปรับก็ไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่าหยิบมาคนละเท่าไหร่ ที่เขามาเอาไปตามสมควรก็มาก พวกละโมบ เห็นแก่ตัว กวาดหมดตู้ก็มี แต่คนเป็นนายกฯ ไม่ควรจะแสดงความอึดอัดอะไรขนาดนั้น พวกหยิบของไปมากเกิน กวาดของไปขาย พวกนี้จะค่อยๆ ถูกแรงเสียดทานทางสังคมบีบให้น้อยลงไป ตนแปลกใจที่ภาพแบบนี้นายกฯ บอกว่ารับไม่ได้ แต่การให้เงินเยียวยาที่ล่าช้า มีคนตกหล่นจำนวนมากนายกฯ กลับรับได้ คนไปร้องเรียน คนที่ยังตกหล่น แรงงานในประกันสังคมที่ได้เงินช้า แล้วปัญหาอีกเยอะแยะที่กระทบกับประชาชน นายกฯ ไม่เคยพูดว่าอึดอัดด้วยซ้ำไป ต่อมความอึดอัดของคนเป็นผู้นำควรจะทำงานให้ได้มาตรฐาน