“วีระศักดิ์” แนะรัฐบาลคุมเข้มโรคจากชายแดนใต้ ใช้วิธี “ไซ” กับ “เฝือก” บวกมนต์พระสังข์

วันที่ 23 เมษายน 2563 ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและการสมานฉันท์ชายแดนใต้ ได้แสดงความคิดเห็นต่อการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 สำหรับคนไทยที่เดินทางกลับจากมาเลเซียว่า

ไซกับเฝือกและมนต์ของพระสังข์ สำหรับการรับคนชายขอบชายแดนใต้กลับบ้าน

พวกเราส่วนใหญ่คงรู้จัก”ไซ” แต่ไม่รู้จัก”เฝือก”

ไซเป็นเครื่องมือดักปลา คนไทยจึงดัดแปลงมาเป็นเครื่องลางของขลังสำหรับคนค้าขาย ให้ลูกค้าและเงินทองซึ่งเป็นเสมือนปลา ให้มาเข้าไซ

เฝีอก ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานบอกว่า “ของทำเป็นซี่ ถักให้ติดกันเป็นผืน สำหรับกั้นนํ้า ดักปลา หรือห่อศพ” เครื่องมือนี้ล้อมปลาให้ว่ายเข้ามาสู่ปากไช เฝือกช่วงสั้น ๆ นั่นแหละครับทำเอามาพันกระดูกแขนหัก ต่อมาฝรั่งมาสอนหมอเราว่าให้ใช้ปูนปาสเตอร์แทน กระดูกจะสมานติดกันได้ดีกว่า หมอรุ่นใหม่จึงรู้จักแต่เฝือกปูน แต่หมอชาวบ้านจำนวนหนึ่งยังใช้เฝือกไม้

สำหรับบทความนี้ เฝือก หมายถึงเฝือกกั้นน้ำดักปลาครับ

ในการควบคุมโรคระหว่างประเทศ พรมแดนขั้นระหว่างประเทศ เช่น น่านฟ้า มหาสมุทร คนเดินทางระหว่างประเทศต้องผ่านด่านที่สนามบิน เข้าสู่สถานกักโรคที่รัฐจัดไว้ (state quarantine) ซึ่งเหมือนไช มีอยู่คืนหนึ่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ ปลาไทยร้อยกว่าชีวิตไม่ยอมเข้าไซ เพราะไม่มีเฝือกคือฝ่าย รปภ. สนามบินกั้น ปลาเหล่ากลับไปอยู่บ้านตนเอง โชคดีที่ไม่ได้แพร่เชื่อ กว่ารัฐบาลจะร่ายมนต์พระสังข์ เชิญปลากลับมาเข้าไซก็ใช้เวลาหลายวัน

หลังจากวันนั้นมา รัฐบาลก็จัดการทำเฝือกอย่างเรียบร้อย คนที่เดินทางมาทางอากาศทั้งหมดต้องเดินเข้าสู่ state quarantine โดยปริยาย ปลาที่บินมาทางอากาศก็ต้องเข้าไซหมดไม่มีเหลือ คนไทยที่อยู่เมืองไทยไม่ได้ไปไหนก็ค่อยหายกังวลหน่อย

แต่ทางบกล่ะโดยเฉพาะชายแดนใต้ครับ ระบบป้องกันการเล็ดลอดซึ่งเปรียบเสมือนเฝือกกั้นปลาของเราไม่แข็งแรง พรมแดนเป็นเส้นสมมติตามแนวทางภูมิศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นลำน้ำและสันเขา ยาวมาก เกินกว่ากองกำลังตำรวจทหารจะปิดช่องได้ทั้งหมด ตอนนี้ก็อยู่ที่ใจของคนที่อยากกลับบ้านละครับ ว่าจะเลือกกลับทางไหน

วิธีแรก กลับผ่านกงสุล มีบริการอย่างดี ท่านรับส่งจากกัวลาลัมเปอร์ถึงด่านไทยฟรี แต่รายจ่ายเรื่องอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทางจากจุดทำงานในมาเลเซียไปยังกงสุล ค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ และใบรับรองแพทย์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายระหว่างพักรอในเมืองใหญ่คงจะไม่ฟรี

วิธีที่สอง กลับผ่านด่านโดยไม่ผ่านกงสุลละครับ เห็นว่าจะโดนปรับ 800 บาท? แล้วเข้าเมืองไทยได้เหมือนเพื่อน เพียงแต่การเดินทางจากที่อยู่มาจุดผ่านแดนต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ถ้าผมอยู่ใกล้ชายแดน ผมคงเลือกวิธีนี้นะครับ

วิธีสุดท้ายครับ คือผ่านจุดผ่านแดนตามธรรมชาติ เช่น ช่วงแคบ ๆ เกือบร้อยจุด ของแม่น้ำโกลค หรือ สุไหงโกลค (คำว่าสุไหง เป็นภาษามลายูแปลว่าแม่น้ำ คำว่าโกลค แปลว่ามีดอีโต้ ชื่อเมืองมีคำว่าสุไหงอยู่ด้วยพบได้ทั่วไปในแหลมมลายู เหมือนบ้านเราเรียกชื่อตั้งแต่หมู่บ้านจนถึงจังหวัดตามชื่อแม่น้ำ เช่น แม่ฮ่องสอน แม่จัน ฯลฯ) วิธีนี้ผิดกฎหมายครับ แต่ชาวบ้านจำนวนมากปฏิบัติเป็นประจำเพราะเป็นวิถีชีวิตของเขา มีเรือจับปลาพายไปมาอยู่ทั้งสองฝั่ง ถ้าผมเข้าประเทศมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย ขากลับผมก็คงต้องเสี่ยงใช้เส้นทางนี้ ถ้าถูกจับก็จะต้องโดนปรับ 800 บาท ตรวจ DNA ในฐานะกลุ่มเสี่ยงที่เกี่ยวกับควาไม่สงบตามระเบียบ จากนั้นก็เข้าไปสู่กระบวนการกักโรค 14 วัน แต่ถ้าผมไม่โดนจับละครับ ผมจะไปรายงานตัวกับทางการเพื่อขอกักตัวและแถมด้วยตรวจ DNA ไหม ผมน่าจะไปหลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่บ้านญาติหรือเพื่อนฝูง หรือ ไม่งั้นก็เข้าไปหาสหายในป่าไปซะเลย

บอกยากครับว่าคนไทยในมาเลเซียเลือกกลับบ้านโดยวิธีใดมากที่สุด กระทรวงต่างประเทศหรือกงสุลมีตัวเลขของคนที่เลือกช่องทางแรก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางที่ไปทำธุระ เรียนหนังสือ ประเภทที่สองเป็นกลุ่มคนชายแดนธรรมดา ประเภทที่สามอาจจะเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่มีเงิน(อาจจะมีแต่คดี)ติดตัว

กลุ่มที่น่าจะนำโรคโควิดเข้าประเทศไทยโดยที่เราปิดกั้นได้ยากที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มที่สาม

สังคม เศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางการเมืองเชิงชาติพันธุ์ผูกพันกันแกะไม่ออก มาตรการไม้แข็งที่ราชการใช้ จับประเด็นความมั่นคงทางการเมืองเป็นแกน อาจจะทำให้ความมั่นคงทางสุขภาพจากโรคระบาดย่อหย่อนลงไป ความขัดแย้งนี้จะแก้ได้อย่างไร

ถ้าการรักษากฎหมายทำได้ดี รัฐบาลควบคุมจุดผ่านแดนตามธรรมชาติได้หมด มาตรการที่ทำอยู่นี้ก็อาจจะได้ผล แต่ถ้าชายแดนเราพรุนไปหมดเสมือน เฝือกขาด ๆ ต้อนปลาเข้าไซไม่ได้ มาตรการดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้ผลทางการทหารแล้ว ยังเสียผลทางการเมือง และ ทำให้การควบคุมโรคระบาดไม่ได้ผลด้วย

การทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งต้องหลบหนีเข้าเมือง ทำให้พื้นที่กลายเป็นสีเทา เวลาจะไปสอบสวนโรค ชาวบ้านอาจจะไม่แน่ใจว่ามาสืบเรื่องความมั่นคงด้วยหรือเปล่า ความสลัว อาจจะสร้างความสับสนและดีไม่ดีอาจจะมีการโต้ตอบด้วยความรุนแรง ซึ่งทำให้กิจกรรมควบคุมโรคเป็นไปไม่ได้ในที่สุด

ผมเสนอว่า ยามนี้เราต้องการท่าทีสมานฉันท์เป็นพิเศษ เพื่อที่จะทำให้การควบคุมโรคในพื้นที่ซึ่งเป็นไข่แดงของโควิดดำเนินการได้ดีขึ้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้านอกออกในได้ง่าย ไม่มีพื้นที่ no-man’s land โรคจะสงบได้ แล้วอย่างอื่นค่อยมาว่ากัน

Health As A Bridge To Peace ครับ

เฝือกตามพรมแดนของเรากั้นปลาไม่ได้ผล เราต้องอาศัยมนต์พระสังข์ หรือ พระอภัยมณีครับ ทำไซให้น่าเข้ามาอยู่ น่าปลอดภัย ปลาทั้งหลายจะได้ว่ายเข้ามาในไซ

อ้างคำพูดฝรั่งก็ได้ครับยุทธศาสตร์สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว Carrot and Stick คือ เอาแครอทไปล่อข้างหน้าทำให้สัตว์ต่างพยายามยื่นคอเดินไปในทิศที่เราต้องการ ขณะเดียวกับก็มีไม้เรียวเร่งให้เดินไปพร้อม ๆ กัน ลองไปดูรูปใน Wikipedia สิครับ

โดยเฉพาะยามโรคระบาดแบบนี้ ใช้ carrot ก่อนนะครับ ใช้ stick เฉพาะเท่าที่จำเป็น ถ้าให้ชาวบ้านชายแดนเห็นว่าไม่ได้ใช้ stick เลย การควบคุมโรคในพื้นที่ไข่แดงของโควิดนี้จะได้ผลดีที่สุด

ในทางปฏิบัติ การตรวจดีเอ็นเอ เป็นสัญญลักษณ์ของ stick ครับ เมื่อสี่ห้าสิบปีที่แล้ว ทุกเช้า อาจารย์หมอประสพ รัตนากร เพื่อนรักของป๋าเปรมจะจัดรายการชื่อ “ใจเขาใจเรา” เพื่อเตือนคนไทยเสมอว่าทำอะไรให้คิดถึง others’ perspective หรือมุมมองของคนอื่นที่ไม่ใช่เรา เราไม่อยากให้ใครมาตรวจพันธุกรรมของเราโดยที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไร เราก็พึงปฏิบัติกับเขาอย่างนั้น

ให้ carrot จะให้อะไรบ้าง ผมคิดถึง ลิลิตพระลอ วรรณกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนว่า “แข็งดังเหล็กเงินง้าง อ่อนได้โดยใจ” ถ้าเราแสดงความจริงใจช่วยเหลือ ลดค่าปรับสำหรับคนยากไร้ ช่วยให้เขาได้รับการสนับสนุนทางการเงินตามสิทธิ์ของคนไทยตามโครงการเยียวยาโควิดของรัฐสิครับ ผมเชื่อว่าเป็นมนต์ของพระสังข์อันศักดิ์สิทธิ์ให้ปลาทั้งหลายกับสู่วังน้ำประเทศไทยโดยคนไทยปลอดจากโควิดได้นะครับ

http://dsrrfoundation.org/