ศบค.เตือน เข้ากทม.อันตราย! เดินทางเสี่ยงติดเชื้อทั้งสิ้น ชี้ กราฟผู้ป่วยยังพุ่งขึ้น

“โฆษก ศบค.” ชี้ แนวโน้มกราฟผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน กทม. ที่มีการกระจุกตัวของผู้ติดเชื้อ ย้ำให้ ปชช.-รัฐ เข้มขึ้น ตั้งเป้าได้รับความร่วมมือ 90% จึงจะลดลงได้ ชี้  กทม.มีจำนวนมากถึง 850 ราย  คนที่เดินทางไปมาใน กทม. มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อทั้งสิ้น 

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงรายงานประจำวันว่า นายกฯได้รับทราบรายงานจากทาง ศบค.อยู่ตลอด โดยนายกฯได้ขอบคุณหลายๆ ภาคส่วน ท่านได้เห็นถาพการทำงานของพี่น้องประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนที่มีการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อป้องกันโรค

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ของโลกขณะนี้มีการเพิ่มระดับสีจากสีแดง เป็นสีแดงเลือดหมูแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวม 856,910 ราย รายที่หนักมีจำนวน 32,297 ราย ที่ดีขึ้น และหายแล้วมี 177,141 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตรวม 42,107 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่องาน 4,327 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทั่วโลกให้ความวิตกกัลวล โดยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 โดยมีผู้ติดเชื้อรวม 187,340 ราย ตามมาด้วยอิตาลี สเปน และฝรั่งเศส สำหรับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 35 ส่วนสถานการณ์ประเทศไทยวันนี้ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 1,771 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 120 ราย เสียชีวิตรวม 13 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายใหม่ 2 ราย คือ รายที่ 11 เป็นเพศชายอายุ 79 ปี อาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน และไตวายเรื้อรัง มีประวัติการเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม เริ่มมีอาการป่วยในวันที่ 20 มีนาคม จากนั้นวันที่ 23 มีนาคม เริ่มเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐในจังหวัด แต่อาการไม่ดีขึ้น จนกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่งโดยมีไข้สูงถึง 39.1 องศา บวกกับท่านมีอายุมากทำให้มีอาการอื่นแทรกซ้อน เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว ปอดอักเสบ หมอจึงส่งต่อมาที่โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจที่ท่านเสียชีวิตในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา และรายที่ 12 เป็นชาย อายุ 58 ปี มีประวัติเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศอังกฤษ โดยเริ่มมีอาการป่วยในวันที่ 12 มีนาคม มีไข้ ไอ มีเสมหะ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในวันที่ 15 มีนาคม และเสียชีวิตในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า แนวโน้มของกราฟยังพุ่งทะแยงขึ้น ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะเพิ่มขึ้นวันละจำนวนหลักร้อย โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นมานี้ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีการยืนยันก่อนหน้านี คือเช่นที่สนามมวย ที่สถานบันเทิง ฯลฯ 3-4 วันนี้ กราฟแท่งในพื้นที่ต่างๆ บริเวณ กทม. และนนทบุรีดูเหมือนจะลดลง ขณะที่กราฟในต่างจังหวัดยังทรงๆ ขณะที่จุดสีแดงการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อในประเทศนั้น ยังกระจุกตัวอยู่ใน กทม.และปริมณฑล โดย กทม.มีจำนวนมากถึง 850 ราย ดังนั้น คนที่เดินทางไปมาใน กทม. มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อทั้งสิ้น ซึ่งอัตราการแพร่เชื้อจะเพิ่มขึ้นจากนี้ 2-3 เท่า ขณะที่มี 13 จังหวัดได้แก่ ชุมพร นครพนม พิษณุโลก พะเยา หนองคาย อำนาจเจริญ มุกดาหาร ลำพูน เพชรบุรี อุทัยธานี แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ มุกดาหาร และสุพรรณบุรี ที่ไม่เคยพบผู้แล้วพบผู้ป่วยรายใหม่ขึ้นในช่วงวันที่ 25-31 มีนาคม ส่วนใหญ่มาจากสถานบันเทิง และ กทม. เจ้าหน้าที่ต้องเร่งดูแลควบคุมคนกลุ่มนี้ให้ดี

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า แม้มีการรณรงค์ให้อยู่บ้าน แต่ตัวเลขกลับไม่ลดลง เพราะแม้ท่านจะอยู่บ้าน แต่ถ้าไม่เพิ่มระยะห่างกับบุคคลเกินกว่า 2 เมตร ตัวเลขก็ไม่ลดลง ขณะที่สถานการณ์หลังปิดสนามมวยตัวเลขลดลงเพราะมีการให้ความร่วมมือ ขณะที่มาตรการการกักตัวบุคคลที่กลับมาจากต่างประเทศ หรือพื้นที่เสี่ยงยังทำได้ไม่ดี และแม้จะปิดสถานที่ชุมชนหรือลดปริมาณคนแล้วกราฟก็ยังพุ่งสูงขึ้น แปลว่ามาตรการนี้ต้องเข้มขึ้น และต้องมาพูดคุยกัน เนื่องจากยังไม่สามารถลดจำนวนลงได้ ทั้งนี้ สำหรับภาพ 1 เดือนมีนาคม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศฝั่งยุโรป มีอเมริกา และปากีสถานมาเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ส่วนในประเทศไทย 1 เดือนที่ผ่านมาเราอยู่ในภาวะวิกฤต โดยระยะเวลาการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อมาเพิ่มขึ้น และกระจายทั่วประเทศในช่วงสิ้นเดือน หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครบ 1 สัปดาห์ในวันพรุ่งนี้ (2 เมษายน) ตัวเลขหลังจากนี้จะเป็นตัวเลขที่เกิดจากการทำงานของพวกเราทุกคน และความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ซึ่งเราคาดว่าจะลดลง ดังนั้น ท่านต้องเข้มมากกว่านี้ ต้องได้รับความร่วมมือ 90% จึงจะได้ผล ถ้าน้อยกว่า 90% ไม่มีทางได้ผล

นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า กรมสุขภาพจิตได้ให้ข้อมูลในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องชื่นชมพี่น้องประชาชนที่รับฟังข้อมูลข่าสารเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ย 1 ใน 5 ของประชาชนคนไทยใช้เวลารับฟังข้อมูลข่าวสารจำนวนเกินกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ที่มีความสำคัญคือเรื่องความเครียด ซึ่งจากการสำรวจใน 3 สัปดาห์พบว่า สัปดาห์สุดท้ายประชาชนมีความเครียดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 8-9% แต่ส่วนใหญ่เป็นเครียดปานกลาง กับเคลียดเล็กน้อย อยากให้เครียดปานกลางดีที่สุด เพราะถ้าเครียดน้อยอาจจะทำให้เราย่อหย่อนได้