สรุปปมจัดซื้อเรือรบ ก่อนถอยกรูด หลังสังคมขุ่นเคืองและแฮชแท็ก #กูสั่งให้มึงเลิกซื้ออาวุธ

วันที่ 31 มีนาคม 2563 กลายเป็นประเด็นที่สังคมออกมาไม่พอใจและวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดต่อการบริหารงบประมาณของรัฐบาลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันเดียวกันนี้มีวาระที่น่าสนใจ คือ วาระเพื่อพิจารณา โดย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เตรียมขออนุมัติ ให้กองทัพเรือดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ โดย ในสัญญาการต่อเรือแอลพีดี ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบก 1 ลำ คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 6,100 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เคยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กองทัพเรือลงนามกับจีน ในสัญญาการต่อเรือแอลพีดี ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบก 1 ลำ โดยใช้งบประมาณกว่า 6,100 ล้านบาท ว่า ยืนยันว่าทหารเรือไม่ได้ฉวยโอกาสต่อเรือลำใหม่ ซึ่งเรื่องจริงคือเป็นไปตามแผนโครงสร้างกำลังรบของกองทัพเรืออยู่แล้ว และยืนยันว่าไม่ใช่ซื้อมารบเพียงอย่างเดียว หากถามว่าประชาชนจะได้อะไรนั้น เครื่องมือภายในเรือมี 2 ลักษณะ คือใช้ในการทหาร และสามารถช่วยเหลือประชาชนไปได้พร้อม ๆ กัน

ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญ ยังกล่าวแสดงความมั่นใจถึงสมรรถนะของเรือดังกล่าว เพราะได้ผ่านการฝึกร่วมกับจีนมาแล้ว เราได้เห็นและได้ทดสอบว่าเรือใช้งานได้เหมาะสมที่สุดกับกองทัพเรือไทย ส่วนเพื่อนบ้านจะมีเรือขนาดเล็กหรือเรือใหญ่กว่านี้ก็เป็นเรื่องของประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ขอวิจารณ์

ด้าน พล.ร.ท. ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ กล่าวชี้แจง กรณีกลาโหม เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติจัดซื้อ เรือยกพลขึ้นบก จากจีน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ในห้วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า

ไม่ใช่เป็นการขออนุมัติต่อเรือยกพลขึ้นบก เพราะโครงการนี้ ผ่านการอนุมัติ และมีการทำสัญญาไป ตั้งแต่ เดือน พ.ย.2562 แต่เรื่องที่เข้า ครม. วันนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรือ เช่น การส่งคณะกรรมการไปตรวจแบบ เรือ, การเตรียมส่งทหารไปฝึก เมื่อสถานการณ์โควิดฯคลี่คลาย

ทั้งนี้กองทัพเรือไทยทำสัญญา ต่อเรือ LPD ยกพลขึ้นบกลำใหม่จากจีน เพื่อเป็นเรือพี่เลี้ยงให้เรือดำน้ำ และ เพื่อภารกิจ ยกพลขึ้นบก บรรเทาสาธารณภัย เสริมภารกิจเรือหลวงอ่างทองด้วย โดยมี พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ รองผบ.ทร. โดยในขณะนั้นเป็นประธานที่ปรึกษากองทัพเรือในฐานะ ประธานคณะกรรมการฯ ลงนามกับจีน ในสัญญาการต่อเรือยกพลขึ้นบก LPD จากจีน 1 ลำ เมื่อ พย.2562 งบ 6,100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการจัดซื้อเรือลำดังกล่าว กลับกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม โดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อการบริหารงบประมาณในสถานการณ์การระบาดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ไม่ว่าปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งที่เกี่ยวข้องเพื่อสกัดการแพร่เชื้อที่ไม่ครอบคลุม ทำให้ประชาชนและนักการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นวิจารณ์เรื่องดังกล่าวอย่างเข้มข้น

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมากล่าวผ่านเฟซบุ๊กว่า สถานการณ์ฉุกเฉินรบกับโรคระบาดรุนแรง งบประมาณที่มีอย่างจำกัด ควรถูกจัดลำดับความสำคัญและ เร่งด่วน นำมาใช้ในการแก้ปัญหาสู้ภัยโควิดก่อน จัดซื้อจัดหาเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เตียง รพ.สนาม ชุดตรวจเชื้อไวรัส

ค่าตอบแทนบุคคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข อสม. ค่าชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เยียวยาฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งอาจใช้เม็ดเงินถึง 5 แสนล้าน ต้องกู้เพิ่ม เรื่องซื้ออาวุธ ชะลอออกไปก่อนได้ จะได้ไม่ต้องกู้เพิ่มมาก #บริหารงบอย่างฉลาดกู้วิกฤตชาติ

เช่นเดียวกับ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ก็ออกมาให้ความเห็นว่า

ทรรศนะของตน คือ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และมีสัดส่วนการระบาดไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้ระบบสาธารณสุขของประเทศ มีศักยภาพที่เพียงพอที่จะรองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ควบคู่ไปกับการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ผ่านมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างสังคม (Social Distancing) พร้อมกับการลด (หรืองด) กิจกรรมที่มีการชุมนุมของมวลชนที่หนาแน่น และการสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายประชาการ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และประชาชนทุกๆ คน จึงควรให้ความร่วมมือกับรัฐบาล อย่างเคร่งครัด เพื่อลดอัตราการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้

นายวิโรจน์ กล่าวว่า นอกจากการควบคุมการระบาด สิ่งที่รัฐบาลไม่อาจจะละเลยได้ และมีความจำเป็นต้องทำควบคู่กันไปด้วย คือ การยกระดับศักยภาพทางการแพทย์ เพื่อให้ระบบสาธารณสุข มีเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเครื่องมือที่มีความจำเป็นต่อการรักษาโรคโควิด-19 เป็นอย่างมาก เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย นั่นก็คือ “เครื่องช่วยหายใจ” ตลอดจนความพร้อมด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “จำนวนเตียง” และ “เครื่องผลิตออกซิเจน” ที่มีความจำเป็นในการรักษาโรคโควิด-19

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตต่างๆ คือ 1.เครื่องช่วยหายใจที่โรงพยาบาลของรัฐมีอยู่ นั้นมีจำนวนเท่าใด สามารถรองรับกับจำนวนผู้ป่วยได้กี่ราย และ2.ปัจจุบันเครื่องช่วยหายใจที่มีอยู่ตามโรงพยาบาลของรัฐแต่ละแห่ง ซึ่งมีไว้ใช้สำหรับการรักษาโรคตามปกติอยู่แล้ว จำนวนที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด โรงพยาบาลขนาดเล็กหลายแห่งอาจมีไม่เพียงพอ จึงอยากทราบว่ารัฐบาลมีแผนในการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจเพิ่มหรือไม่ และวางแผนว่าจะจัดซื้อเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใด

“ผมได้กำหนดสมมติฐานตามอัตราการพบผู้ติดเชื้อ คาดว่า ณ สิ้นเดือน ส.ค. 63 ประเทศไทยน่าจะมีประชากรที่ติดเชื้อสะสมรวมกันกว่า 2 แสนคน (รวมคนที่หายป่วยกลับบ้านด้วย) และจากการคำนวณที่คำนึงถึงการหมุนเวียนการใช้เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องผลิตออกซิเจนแล้ว พบว่า รัฐบาลควรจัดเตรียมเครื่องช่วยหายใจไว้ 5,724 เครื่อง หรือประมาณ 6,000 เครื่อง และเครื่องผลิตออกซิเจน 6,346 เครื่อง หรือประมาณ 6,500 เครื่อง รวมทั้งต้องจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม ประมาณ 12,070 เตียง หรือประมาณ 12,000 เตียง

โดยจุดพีคน่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ค. นั่นแสดงว่ารัฐบาลพอจะมีเวลาให้เตรียมการได้ถึง 3 เดือนครึ่ง ซึ่งน่าจะมากพอที่จะเตรียมความพร้อมได้ทัน” นายวิโรจน์ กล่าว

การประมาณการที่ตนคำนวณในเบื้องต้นนี้ หากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ดีกว่าสมมติฐาน ก็อาจจะจัดหาจำนวนเครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตออกซิเจน และจำนวนเตียง ไว้น้อยกว่านี้ได้ แต่ในทางกลับกัน หากมาตรการในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของรัฐบาล แย่กว่าสมมติฐานที่กำหนดเอาไว้ รัฐบาลก็จำเป็นต้องเตรียมจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ข้างต้น ไว้เพิ่มมากขึ้น

โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า สำหรับงบประมาณ หากตั้งสมมติฐานว่า เครื่องช่วยหายใจเครื่องหนึ่งมีราคาประมาณ 850,000 บาท 6,000 เครื่อง ใช้งบทั้งสิ้น 5,100 ล้านบาท และเครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องละ 40,000 บาท 6,500 เครื่อง ใช้งบประมาณ 260 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 5,360 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้แพงเลย กับการสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข และทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น

“จากข้อแนะนำนี้ หากประชาชนจะร่วมกันสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อการซื้ออาวุธของกลาโหม ผ่านแท็ก #กูสั่งให้มึงเลิกซื้ออาวุธ เพราะในสถานการณ์ที่ประเทศต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ และงบประมาณด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยให้รัฐบาลได้ตระหนัก และรัฐบาลควรเอางบประมาณมาเยียวยาประชาชน เอางบมาพยุงเศรษฐกิจช่วยเอสเอ็มอี เอางบมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพิ่มศักยภาพด้านการสาธารณสุขเหมาะกว่าการซื้ออาวุธ”

ชาวเน็ตเดือด ติดแฮชแท็ก กูสั่งให้มึงเลิกซื้ออาวุธ

ไม่เพียงเท่านี้ ประเด็นดังกล่าว ชาวเน็ตก็ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงพร้อมกับติดแฮชแท็ก #กูสั่งให้มึงเลิกซื้ออาวุธ จนขึ้นเป็นอันดับ 1 วิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณในการซื้อยุทโธปกรณ์ ปีละจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาวะที่กำลังประสบกับวิกฤต โรคระบาด และเกิดความขาดแคลนเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการดูแลประชาชนอย่างหนัก

ล่าสุด มีรายงานเพิ่มเติมเมื่อช่วงเวลา 14.30 น.ว่า กระทรวงกลาโหม ได้ขอถอนวาระดังกล่าว ออกจากการประชุม ครม.ไป หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก