“หมอเก่ง” อัดรัฐบาลเหลว รับมือไวรัส “โควิด-19” จี้วางมาตรการครอบคลุม

วันที่ 8 มีนาคม 2563 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศูนย์ประสานงานอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนค. แถลงว่า เกี่ยวกับวิกฤติซึ่งเกิดจากไวรัสโควิด 19 มีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.ความล่าช้าของการมีมาตรการในการปฏิบัติงานของภาครัฐ 2.มาตราฐานในการกักตัว และ 3.การจัดสรรทรัพยากร และการกระจายทรัพยากรโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ซึ่งรัฐบาลแสดงให้เราเห็นมาตลอดว่า รัฐบาลมีมาตรการในเรื่องนี้ล่าช้ากว่าสถานการณ์อย่างน้อย 1 ก้าว เช่น กรณีที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือถูกกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้อยากกลับมาประเทศไทย ยังขาดมาตรการในการกักตัว และมาตรการในการจำกัดบริเวณอย่างเป็นรูปธรรมที่ดีเพียงพอ เพิ่งมีราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ให้ผู้ที่เดินทางจากประเทศเสี่ยง 4 ประเทศ กักตัวในสถานที่ที่ทางรัฐจัดเอาไว้ ซึ่งล่าช้ากว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพราะมีผู้ใช้แรงงานหลายร้อยคนเดินทางเข้ามาก่อนหน้านี้แล้วโดยไม่ได้มีมาตราการในการกักตัวที่ชัดเจน แต่เมื่อประกาศแล้วก็ยังมีกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 70-80 คน หลุดรอดออกไป จะเห็นว่ามาตรการ และการทำงานของรัฐบาลมีจุดบกพร่องอยู่ ซึ่งทำให้เห็นจุดบกพร่องในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

นพ.วาโยกล่าวอีกว่า ฝากไปถึงรัฐบาลว่ามาตรการครั้งต่อไปหากจะทำ ท่านต้องเตรียมบุคลากร เตรียมอุปกรณ์ และสถานที่อย่างรัดกุม นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก 3 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข ถ้าสถานการณ์เลวร้ายขึ้น ท่านอาจะต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องของสาธารณสุข และความปลอดภัยมากขึ้น ท่านอาจจะต้องเริ่มพิจารณาทำวีซ่าในบางประเทศ หรือการจำกัดเที่ยวบินแล้ว คนที่บินมาจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่คนไทยก็ควรถูกกักตัวเช่นกัน สำหรับเรื่องหน้ากากอนามัย ความจริงวันนี้คือไม่เพียงพอ ไม่ใช่แค่กับประชาชน แต่ไม่เพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ด้วย และรัฐบาลไม่เคยประกาศให้ประชาชนได้รับทราบว่าหน้ากากผ้าไม่มีสารกันซึมเหมือนหน้ากากอนามัย เวลาที่สารคัดหลั่งกระเด็นมาโดนเชื้อโรคสามารถซึมผ่านผ้าได้ องค์ความรู้เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนได้รับทราบ และชาวไทยต้องเข้าถึงการบริการในการจำหน่ายหน้ากากอย่างเท่าเทียมกัน ทั่วถึง และเป็นธรรม

ด้าน นายสุเทพ อู่อุ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนค. กล่าวว่า สำหรับไวรัสโควิด 19 เรามีมาตราการเพิ่มเติม 3 ช่วง คือ ช่วงแรก งานบริการ ที่ยังไม่ได้รับอุปกรณ์ใรนการดูแลป้องกัน ไม่ว่าจะหมอ พยาบาล หรือคนที่อยู่ในสถานประกอบการ รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับการหยุดกิจการ ที่บางสถานประกอบการถึงขนาดปิดกิจการ ต้องมีวิธีการจ่ายค่าตอบแทน พี่น้องประชาชนที่ทำงานอยู่ในที่เหล่านี้จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างไร ช่วงกลาง คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน โดยค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันคือ 300 บาทต่อวัน แต่ต้องเสียค่าอุปกรณ์ป้องกัน 10% รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ผลักภาระเหล่านี้ให้เป็นของประชาชน ส่วนระยะยาวที่เราจะต้องมีการดำเนินการคือ มีการพูดถึงเรื่องการจะลดเงินสมทบเงินประกันสังคมซึ่งเรามองว่าในระยะยาวจะทำให้ปัญหาของพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงานมีความลำบาก ตลอดไปจนถึงเรื่อง ผีน้อย ที่ถือเป็นมูลค่า เพราะการเดินทางไปทำงานและส่งเงินกลับเข้าประเทศไทย เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องดูแล ซึ่งวันนี้รัฐยังไม่มีกฎหมายที่จะมาดูแลในเรื่องเหล่านี้ กฎมายแรงงานสัมพันธ์ หรือการส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานในภาครัฐก็ไม่มี

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนค. กล่าวว่า สำหรับเรื่องเศรษฐกิจ ขณะนี้ประเทศไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จีดีพีหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสเป็นต้นไปถือว่า เศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิคโดยสมบูรณ์ ซึ่งจากการประมานการของธนาคารแห่งประเทศไทยจากนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 2 ไตรมาสแรก ติดลบแน่นอนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเราเจอภาวะที่ไม่คาดคิดคือพิษโควิด 19 แต่ปัญหาคือ มาตรการที่จะออกมารองรับนั้น จะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องของมาตรการที่ทาง ครม.เศรษฐกกิจออกมาแถลงจำนวนกว่าแสนล้านมีคนวิพากษ์วิจารณ์ไปมากแล้วเรื่องของการแจกเงิน 1000 บาทต่อเดือน ให้คนที่มีรายได้น้อย และผู้มีอาชีพอิสระนั้น อยากขอวิงวอนว่า หลังมาตรการนี้ออกมาแล้วได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรง การกู้วิกฤติคือการกู้ความเชื่อมั่น การออกมาตรการที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขอให้ทางรัฐบาลกลับไปทบทวนวิธีการ ย่อมไม่สามารถฟื้นฟูให้ประชาชนกลับมามั่นใจ และกลับมาจับจ่ายใช้สอยได้ นอกจากนี้ อยากให้ติดตามต่ออีกว่า เงินจะเอามาจากไหน เพราะเงินสำรองฉุกเฉินนั้น เหลือไม่ถึง 1 แสนล้านบาทแล้ว เพราะได้นำเงินมาใช้ตอนที่ พ.ร.บ.งบประมาณยังไม่ผ่าน ซึ่งไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้นำเงินประกันสังคมออกมาปล่อยกู้ เพราะเป็นเงินของผู้ประกันตน และสำนักงานประกันสังคมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปล่อยกู้ และการบริหารจัดการเงินลักษณะนี้ และการที่จะให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพานิชย์นั้น เราคิดว่า ต้องแยกให้มีความอิสระ จะเข้าไปแทรกแซงแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังถังแตก มีเงินไม่เพียงพอที่จะนำมาประตุ้นเศรษฐกิจ แต่เราเห็นด้วยกับการตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง แต่ไม่ใช่ยิงกราด เพราะกระสุนมีน้อย ต้องยิงอย่างตรงเป้า