‘พรเพชร’ ส่งซิกเบรกรื้อ ม.256 หวั่นแก้รธน.ล่ม ยันส.ว.ไม่ปิดประตูแก้ไข

‘พรเพชร’ ส่งซิกเบรกรื้อ ม.256 เสนอมาคงคุยกันยาก หวั่นทำแก้รธน.ล่ม ยันส.ว.ไม่ปิดประตูตายแก้ไข

เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา(ส.ว.) ให้สัมภาษณ์พิเศษหนังสือพิมพ์มติชน ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของส.ว. ตอนหนึ่งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้สภาฯ เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ศึกษาและเสนอว่าจะแก้ไขอย่างไร ส.ว.ยังไม่ได้ไปร่วมด้วย เพราะยังเป็นชั้นการศึกษา หน้าที่ของส.ว.คือการติดตามดูว่ามีประเด็นใดที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ส.ว.จะต้องส่งให้กมธ.ที่เกี่ยวข้องศึกษา ในขั้นตอนการศึกษายังไม่มีผลอย่างเป็นทางการ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องเสนอเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ไม่ใช่ผ่านส.ส. และมาส.ว. นี่เป็นหลักการประการแรก และยังมีเงื่อนไขไว้อีกหลายอย่าง เช่น ต้องมีเสียงส.ว.ต้องเห็นชอบด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง อยากเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแก้ไขในประเด็นที่ควรแก้ไข และส.ว.เห็นด้วย หรือถึงแม้ส.ว.ไม่เห็นด้วยก็มาหารือกันได้ การแก้ไขก็ผ่านได้ ส.ว.ไม่ได้ปิดประตูตายที่จะไม่แก้รัฐธรรมนูญ

“แต่ที่สำคัญที่มีการบอกกัน ที่มีการกลัวกัน ก็คือยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงมาตรา 256 ที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเงื่อนไขทั้งหมด และมีการเสนอว่า ถ้าแก้มาตรา 256 อันเดียวก็ยกเลิกไปเลย แล้วตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ให้มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนตัวคิดว่าในทางกฎหมายก็ทำไม่ได้แล้ว หากเสนอเข้ามาคงไม่ได้ ไม่ผ่าน พูดได้เลย อย่าไปคิดเลย ถ้าส.ส.จะมาคุยก็คุยกันยาก เพราะมาตรานี้คือกุญแจสำคัญ นี่คือความเห็นส่วนตัวผม และคิดว่าหลายคนก็มีความคิดเหมือนผม เพราะการแก้มาตรา 256 จะกระทบกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด ดังนั้นส.ว.จะไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการแก้พิจารณารัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ส่วนที่ผมเห็นด้วยที่ต้องแก้ไขคือ เรื่องระบบคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีปัญหา หรือเรื่องคุณสมบัติต่างๆ เอาออกกันง่ายดายเหลือเกิน ส.ว.ก็ยินดีแก้ไข พูดกันได้ทุกเรื่องทุกอย่าง ทั้งนี้ก็ต้องแก้ไขไปตามกระบวนการที่ระบุในมาตรา 256 อยากให้เข้าใจว่า ส.ว.ไม่ได้มีเสียงเป็นใหญ่ และส.ว.ไม่ได้หวงแหนอะไร ใครจะไม่อยากให้บ้านเมืองดี ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ควรแก้ไข ควรจะเข้าใจด้วยกันทั้งสองสภาฯ ไม่ใช่ไปตั้งคนนั้นคนนี้มา ส่วนที่ส.ว.มีส่วนสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ก็ว่ากันไป เพราะในส่วนนี้เป็นแค่บทเฉพาะกาลเท่านั้น ยังพอคุยกันได้ แต่ถ้าบอกว่าล้มรัฐธรรนูญนี้แล้วเขียนขึ้นใหม่โดยใครก็ไม่รู้ผมว่าไปไม่ได้ หากต้องการส.ส.ร. ที่ผ่านการเลือกตั้งก็ต้องหาวิธีการที่พอฟังได้ วิธีการที่เสนอมาง่ายๆแบบนี้ยังถือว่าฟังไม่ได้”นายพรเพชร กล่าว