คลังโต้รีดภาษีผ้าอนามัย ไม่ได้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

จากกรณีที่น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและเก็บภาษีในอัตราสูง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตไม่เคยจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย ไม่เคยมีอยู่ในพิกัดภาษี และตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต ไม่เคยได้รับรายงานสักครั้งว่ามีเจ้าหน้าที่ไปตรวจจับโรงงานผ้าอนามัยเสียภาษีไม่ถูกต้อง โดยปัจจุบันผ้าอนามัยเสียแค่ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % เท่านั้น ไม่ได้เสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือมีเพดานการจัดเก็บภาษี 40 % ตามที่ปรากฏเป็นข่าว

“สินค้าผ้าอนามัยไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น เป็นสินค้าที่สุภาพสตรีจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือถ้าไม่มีใช้ก็ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าส่งผลกระทบก็ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย”นายพชรกล่าว

“ต้องถามว่า ผ้าอนามัยไม่ใช้ได้ไหม ถ้าไม่ใช้ไม่ได้แล้วจะมันฟุ่มเฟือยได้อย่างไร ที่ผ่านมาไม่มีในพิกัดภาษีผ้าอนามัย ประชาชนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียว เหมือนซื้อสินค้าอื่นๆ อยากจะรู้ว่า ข่าวนี้ใครคิด คิดได้อย่างไร ถ้าคนอ่านแล้วเชื่อก็บ้ากันไปใหญ่แล้ว”นายพชรกล่าว

สำหรับ ประเด็นภาษีผ้าอนามัย เกิดขึ้นเมื่อน.ส.เกศปรียา กล่าวว่า ผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าเครื่องสำอางหรือสินค้าฟุ่มเฟือยเพราะไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์หามาใช้เพื่อสนองความต้องการทางใจ เป็นสินค้าที่สนองความต้องการทางกายภาพของเพศหญิง ผู้หญิงทั่วโลกไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเกิดมาโดยไม่มีมดลูก และประจำเดือนก็เป็นสิ่งที่ติดมาพร้อมการมีมดลูก ผ้าอนามัยควรถูกมองว่าเป็น ‘สินค้าจำเป็น’ ต่อสุขภาพอนามัย ไม่ใช่คิดแค่ว่าเป็น ‘ความรับผิดชอบส่วนตัว’ ของผู้หญิง

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนที่แล้ว เว็บไซต์เวิร์คพอยต์นิวส์ ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ผ้าอนามัย ของใช้จำเป็นสำหรับผู้หญิง แต่กลับถูกจัดอยู่ในหมวด ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ จึงทำให้ผ้าอนามัยมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น สร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้หญิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย นักเรียน นักศึกษา พร้อมกับเสนอทางแก้ปัญหาเชิงระบบว่า ผ้าอนามัย ควรได้รับการควบคุมดูแลในฐานะ ‘สินค้าอุปโภคบริโภค’ ให้มีราคาที่สมเหตุสมผล และรัฐควรปรับระบบการศึกษาเรื่องสุขภาวะทางเพศ เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ทั้งนี้ ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ว่าด้วยการประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 ระบุในข้อ 3 ให้ ผ้าอนามัย อยู่ในกลุ่มสินค้าและบริการควบคุม หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค