“สนธิรัตน์”ดันไทยฮับแอลเอ็นจีปี63 คุมต้นทุนค่าไฟ-กระตุ้นศก.กว่า1.6 แสนล.

“สนธิรัตน์”ดันไทยฮับแอลเอ็นจีปี63 คาดกระตุ้นศก.กว่า 1.6 แสนล้านบาท-คุมต้นทุนค่าไฟ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า โดยที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ของภูมิภาค คาดว่าจะเริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่างๆ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 อาทิ ระบบบริการขนถ่ายแอลเอ็นจี(รีโหลด ซิสเท็ม) ให้บริการเติมแอลเอ็นจีเรือที่ใช้เชื้อเพลิงนี้ในการเดินเรือ และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้าแอลเอ็นจีเข้ามาใช้บริการ โดยช่วงไตรมาสที่ 2 – 3 ของปี 2563 จะเริ่มทดลองค้าขายแอลเอ็นจีเชิงพาณิชย์ พร้อมทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคและระดับสากล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบประมาณปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เป็นต้นไป

“แผนดังกล่าวจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ไทย เกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยโดยรวมประมาณ 165,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปี คือ ปี 2563-2573 และมีผลต่ออัตราการจ้างงานเฉลี่ยในประเทศเพิ่มขึ้นเท่ากับ 16,000 คนต่อปี และช่วยลดภาระการส่งผ่านอัตราค่าบริการไปยังค่าไฟฟ้าด้วย”นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า แนวทางนี้เป็นผลศึกษาที่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจซื้อ-ขายแอลเอ็นจีของภูมิภาค เนื่องจากไทยมีศักยภาพเพียงพอทั้งความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติระดับสูงโดยเฉลี่ยปี 2562 นำเข้าประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ที่ตั้งอยู่ตำแหน่งศูนย์กลางของประเทศที่มีความต้องการแอลเอ็นจี ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการซื้อขายคิดเป็น 60% ของโลก และมีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการให้บริการอย่างหลากหลาย อาทิ การขนถ่ายแอลเอ็นจีจากเรือ การให้บริการกักเก็บแอลเอ็นจีในถังกักเก็บ การแปรสภาพแอลเอ็นจีเป็นก๊าซธรรมชาติส่งผ่านลูกค้าในประเทศ

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ที่ประชุมฯ รับทราบรายงานความก้าวหน้าของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หรือ โกลบอล ดีซีคิว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะมีบางประเด็นต้องเจรจา ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาภายใต้หลักการความมั่นคงทางพลังงาน เป็นธรรมทุกฝ่าย และไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้า คาดว่าจะลงนามสัญญาโกลบอล ดีซีคิวภายในปีนี้ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการ กฟผ. อัยการสูงสุด กบง. และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ต่อไป

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ กบง.ได้รับทราบแนวทางคำนวณราคาไบโอดีเซล (บี100) เพื่อใช้ผสมเป็นดีเซลหมุนเร็ว โดยยังคงให้ใช้หลักเกณฑ์กำหนดราคาไบโอดีเซลปัจจุบันไปก่อน และมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ติดตามผลการใช้บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานและศึกษาผลกระทบต่างๆ เร่งศึกษาหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลใหม่ที่เหมาะสม และนำมาเสนอ กบง. เพื่อประกอบการศึกษาผลทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคา บี100 ต่อไป