“จุรินทร์” ยัน ไทยดันข้อตกลง 16 ประเทศ RCEP สำเร็จ พร้อมให้นายกฯประกาศเอง

“จุรินทร์” โชว์ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของไทยในฐานะประธานอาเซียน ชูเตรียมพร้อมรับมือยุค4.0-ค้าขายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์-เน้นพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เปิดเผยว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ในส่วนเสาหลักด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยพยายามที่จะผลักดันประเด็นสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1. การเตรียมการรับมือกับการปฏิวัตอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution- 4IR) 2.ความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียนในการส่งสินค้าเข้า-ออกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และ 3.การเดินหน้าไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องประมง โดยทั้ง 3 เรื่องหลัก มี 13 เรื่องย่อย ซึ่งสามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จแล้ว 10 เรื่องย่อน ยังเหลือค้างอีก 3 เรื่องย่อย คาดว่าจะสามารถดำเนินการทั้ง 13 เรื่องย่อยได้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับ 3 ประเด็นหลักที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ 1. อาเซียนซิงเกิลวินโดว์ (ASEAN Single Window – ASW) การส่งสินค้าเข้าออกโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนมีความรวดเร็ว ไม่ต้องใช้เอกสารใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการทั้งหมด 2.แนวทางการพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพ และคาดว่าจะดำเนินเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และ 3.การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างอาเวียนโดยใช้อาหารเป็นจุดดึงดูดนักม่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ จะเร่งดำเนินการและคาดจะสามารถผลักดันทั้ง 3 เรื่องย่อยให้เสร็จในปีนี้

“ความสำเร็จของการเป็นประธานอาเซียนของไทยในเรื่องเศรษฐกิจหัวข้อหลัก 3 เรื่อง และ 13 เรื่องย่อยจะสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้น ก่อนส่งมอบตำแหน่งประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้กับเวียดนามต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ยังได้มีการปรับปรุงกระบวนการพิธีสารให้มีความทันสมัย เช่น การปรับปรุงเรื่องการค้าและการบริการ ข้อตกลงการลงทุน ของอาเซียนให้ทันสมัยสอดคล้ององค์การการค้าโลก และล่าสุดได้มีการลงนามพิธีสารว่าด้วยกลไกปรับปรุงการะงับข้อพิพาทของอาเซียนให้มีความชัดเจนขึ้น เช่น กำหนดชัดเจนว่าจะสามารถยื่นเรื่องอย่างใด ช่องทางใด ต้องมีการดำเนินการกี่ขั้นตอน ระยะเวลาในการดำเนินการเป็นอย่างไร รวมทั้งมีทางเลือกให้สามารถพิจารณาโดยคณะลูกขุน หรือเลือกใช้อนุญาโตตุลาการก็ได้

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับ RCEP หรือ รัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ตามที่จะแจ้งให้ทราบเวลานี้ได้ ก็คือเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้มีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 16 ประเทศ โดยตนได้ทำหน้าที่เป็นประธานและได้มีการหารือกันตลอดระยะเวลาตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงช่วงเย็นและไปเสร็จสิ้นตอนเกือบเที่ยงคืน ขอเรียนให้ทราบว่าสุดท้ายก็ได้มีความเห็นร่วมกันซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีคือมีความเห็นร่วมกันที่จะให้นำแถลงการณ์ร่วม 16 ประเทศของผู้นำเข้าสู่ที่ประชุมในช่วงเย็นวันนี้เพื่อพิจารณาในครั้งสุดท้ายนี้คือความก้าวหน้าล่าสุด

“พูดให้ชัดก็คือ 16 ประเทศมีความเห็นร่วมกันแล้วในการที่จะคือผู้นำได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันในช่วงค่ำวันนี้ ซึ่งเมื่อคืนที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณายาวก็เพราะว่าต้องลึกลงไปในรายละเอียดของแถลงการณ์ร่วมที่มีการพิจารณาด้วยความรอบคอบในทั้ง 16 ประเทศรวมกัน และมีข้อสรุปตรงกันแล้วรอเข้าสู่ที่ประชุมตอน 5 โมงเย็นโดยประมาณวันนี้ในที่ประชุมผู้นำระดับผู้นำของ RCEP และให้ท่านนายกฯของประเทศไทยเป็นผู้แจ้งให้ทราบต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า โดยต้องรอให้ผ่านที่ประชุมระดับผู้นำเสียก่อนที่แจ้งให้ทราบได้ก็คือที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเห็นตรงกันแล้วว่าควรออกแถลงการณ์ร่วมของระดับผู้นำและมีเจตจำนงร่วมกันในการที่จะดำเนินการในเรื่องของรายละเอียดที่ยังเหลืออยู่บ้างในเรื่องการเจรจาเปิดตลาดระดับทวิภาคีของสองประเทศ เพราะยังมีการจับคู่ของประเทศเจรจา เพื่อนำไปสู่การลงนามในปีหน้าโดยขึ้นอยู่กับเวียดนามในฐานะเจ้าภาพในปีต่อไปเป็นผู้กำหนด

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิทรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้ร่วมลงนามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุงซึ่งเป็นความตกลงที่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนโดยปรับปรุงจากฉบับเมื่อปี 2547 ให้ทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้นและให้สอดคล้องกับหลักขององค์การการค้าโลกซึ่งประเทศอาเซียนรวมทั้งไทยจะสามารถใช้กลไกระงับข้อพิพาทใหม่ของอาเซียนในการใช้แก้ไขปัญหาข้อพิพาทต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของอาเซียนในครั้งนี้ที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยโดยการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่า 113,792 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 12.91 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนปี 2561 มูลค่า 68,545 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 45,247 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 23,298 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมด