‘สุรเชษฐ์’ สับงบลงทุน 63 ไร้อนาคต ย้ำตรึกตรองให้ดีก่อนใช้ ‘ภาษีประชาชน’

เมื่อวานนี้ (19 ตุลาคม 2562) นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายในหัวข้อ การลงทุนภาครัฐ ตามร่าง พรบ. งบประมาณประจำปี 2563 โดยระบุว่า การนิยามความแตกต่างระหว่างรายจ่ายลงทุนกับงบลงทุนในร่างงบประมาณฉบับนี้ยังไม่ชัดเจน จากร่างงบประมาณรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท มีรายจ่ายลงทุนเพียง 20.5% ลดลงจาก 21.6% ในปีก่อน ถือว่าผ่านเกณฑ์ 20% แบบเฉียด ๆ แต่แย่ลงจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การผ่านเกณฑ์แบบเฉียด ๆ นี้ ผ่านแบบโกงนิยาม เพราะนิยามความแตกต่างระหว่างรายจ่ายลงทุนกับงบลงทุนนั้น ไม่ชัดเจน

“งบลงทุนซึ่งมีการให้รายละเอียดพอสมควรมีเพียง 15.3% และหากตัดรายการที่ประชาชนทั่วไปไม่คิดว่าเป็นการลงทุน เช่น ซื้ออาวุธ โต๊ะ เก้าอี้ ครุภัณฑ์ สร้างอาคารใหญ่โต เป็นต้น แล้วมาดูโดยละเอียดจะพบว่า เหลืองบลงทุนเพียง 2.8 แสนล้านบาทเพื่อการพัฒนาประเทศจริง ๆ หรือคิดเป็น 8.8% โดยประมาณเท่านั้น ดังนั้น ข้อเสนอในเรื่องนี้คือ ควรแยกเงินลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศออกมาให้ชัดเพื่อจะได้นำมาดูว่าประเทศมีหวังแค่ไหนกับการลงทุน” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อนำรายจ่ายลงทุนมาดู พบว่ามีรายจ่ายประจำสูงมาก พรรคอนาคตใหม่ เห็นว่า ควรลดรายจ่ายประจำลงแล้วเพิ่มงบลงทุนเข้าไป แต่ต้องเป็นการลงทุนที่สมเหตุสมผล เพราะการลงทุนจะเกี่ยวพันไปถึงงบผูกพันปีถัด ๆ ไป ซึ่งภาระผูกพันจากที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มีอยู่ถึง 1.3 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนในกระทรวงคมนาคมนำห่างกระทรวงอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ เมื่อพิจารณาจากแผนต่าง ๆ ที่ไปปรากฏรวมกันเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านคมนาคม จะพบว่าวางแผนกันมาอย่างมั่วซั่ว เอาโครงการมาแปะ ๆ รวมกันอย่างไม่คำนึงถึงความซ้ำซ้อน ใช้งบลงทุนสูงถึง 7.8 ล้านล้านบาท เฉพาะในปี 63 วางไว้ 720,000 ล้านบาท ขณะที่กรอบความเป็นไปได้อยู่ที่ประมาณ 178,000 ล้านบาท

“ในรายละเอียด แผนงานด้านคมนาคมมีหลายโครงการที่ซ้ำซ้อน ไม่คุ้มค่า เมื่อซ้ำซ้อนก็แย่งดีมานด์กันเอง แต่ต้นทุนกลับต้องใช้สองเท่า นอกจากนี้ยัง ขาดการจัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสม เป็นการผลาญเงินแบบไม่เห็นอนาคต” นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีก

นายสุรเชษฐ์ กล่าวย้ำว่า พรรคอนาคตใหม่เห็นด้วยกับการลงทุน แต่ไม่เห็นด้วยกับหลายโครงการที่ซ้ำซ้อนไม่คุ้มค่า เพราะสิ่งที่ประเทศขาดจริง ๆ คือ เส้นเลือดฝอย ไม่ใช่โครงการของเจ้าสัวนายทุนที่ขาดความช่วยเหลือ ไม่ใช่การที่จะเอาแต่สร้างรถไฟฟ้าโดยไม่แก้ปัญหาระบบรถเมล์ เฉพาะโครงการที่ซ้ำซ้อนอย่างเส้นทางโคราช หากเอาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 180,000 ล้านบาทออก จะพบว่า สามารถนำไปแก้ปัญหาระบบรถเมล์ได้ทั้งประเทศ เช่นเดียวกับการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าหลากสีในกรุงเทพฯ ที่หลายสายใหญ่เกินจำเป็น ลากยาวออกไปเกินจำเป็น เอาแต่พูดถึงเฉพาะด้านดีของโครงการโดยไม่คำนึงถึงต้นทุน ว่าเงินที่เท่ากันเอาไปทำประโยชน์ได้มากกว่านี้มาก ไม่สงสารชาวไร่ชาวนาต่างจังหวัดที่ไม่มีโอกาสใช้และไม่ได้รับการพัฒนาอะไรเลยเพราะเอางบประมาณไปผลาญให้คนรวยใช้หมดแล้ว ส่วนค่าโดยสารก็ราคาแพงเพราะการอุดหนุนไม่เพียงพอ เนื่องจากลงทุนแบบไม่พอเพียง เอาแต่สร้างแบบผลาญ ซึ่งการสร้างเยอะไม่ได้แปลว่าเก่ง แต่ต้องสร้างแล้วคุ้มค่า

“ยังต้องตั้งคำถามอีกด้วยว่า การลงทุนเหล่านี้เพื่อใคร ยุค คสช. เน้นการประเคนไม่ใช่การประมูล” นายสุรเชษฐ์ กล่าวและว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ประเคนให้จีน แทนที่จะให้หลาย ๆ ชาติมาประมูลแข่งขันกันว่าประเทศใดให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินก็จะประเคนให้เจ้าสัวไปแถมการพัฒนาที่ดินไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่น่าเป็นห่วงมากโดยเฉพาะโครงการที่เป็นผลพวงมาจากรัฐบาล คสช.

ในส่วนของข้อเสนอต่อรัฐบาลนั้น นายสุรเชษฐ์ ระบุว่า การลงทุนเพื่อทุกคนคือทางออก ประชาชนทุกคนควรเปิดใจและสร้างอนาคตใหม่ไปด้วยกัน หลัก 4 ประการของการลงทุนเพื่อทุกคน ได้แก่ (1)ให้อำนาจการตัดสินใจกับท้องถิ่นมากขึ้น (2) สร้างงานในท้องถิ่นมากขึ้น (3) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง และ (4) ต้องคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน

“ตัวอย่างของการลงทุนเพื่อทุกคน เช่น การลดโครงการระหว่างเมืองไปเพิ่มการพัฒนาหัวเมือง การพัฒนาเมืองด้วยการเพิ่มเส้นเลือดฝอย เน้นทำให้เมืองมีชีวิตชีวา เพิ่มระบบรถเมล์เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้า เพิ่มทางเดินเท้าและรถจักรยาน สิ่งที่สามารถตามมาก็คือเศรษฐกิจรายย่อย และเมื่อต้องการขนส่งสาธารณะมากขึ้น สิ่งที่ควรทำต่อก็คือ อุตสาหกรรมคมนาคม ระยะสั้น อุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้าสามารถทำได้เลย ระยะกลางคืออุตสาหกรรมรถไฟ ถึงเวลาผลิตเองได้แล้ว ส่วนระยะยาวอาจเป็นไฮเปอร์ลูป ระหว่างนี้ก็อยู่ในช่วงศึกษาวิจัยไปก่อนไม่เสียหายอะไร หลักการก็คือไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ สุรเชษฐ์ ยังเสนอให้ท้องถิ่นมีส่วนในการจัดเก็บภาษีน้ำมันมากขึ้น เพื่อสามารถนำเงินไปพัฒนาระบบคมนาคมในท้องถิ่นได้ หลักคิดของการลงทุนเพื่อทุกคนก็คือ การเปลี่ยนจาก “กรุงเทพฯ คือประเทศไทย” ไปเป็นกระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ยังคงมองไม่เห็นอนาคตว่า การลงทุนภาครัฐตามร่าง พรบ. งบประมาณปี 2563 จะเปลี่ยนประเทศไทยได้อย่างไร แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ก็วางมาไม่ดีและน่ากลัวมาก รอเวลาอนาคตใหม่ มาช่วยกันเปลี่ยนประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ ขอทิ้งท้ายว่า

“การลงทุนภาครัฐมีความเสี่ยง ผู้แทนราษฎรควรตรึกรองให้ดีก่อนใช้ภาษีประชาชน”

อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ลุกขึ้นอภิปรายตอบ ระบุว่า ทางกระทรวงคมนาคมขอ งบปี 63 เข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับพี่น้องในจังหวัดต่างๆ อีกส่วนนั้นจะต้องดเนินการในเขตกรุงเทพและปริมณฑล มีโครงการขนาดใหญ่อยู่ทั้งสิ้นจำนวน 44 โครงการในช่วงระหว่างปี 2561-2564 เป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ เพราะประเทศไทยถือได้ว่าเป็นจุดศูนย๋กลางของอาเซียน

วันนี้ต้องกราบเรียนชื่นชมว่า ท่านายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ สิ่งที่ท่านทำมาห้าปีที่ผ่านมานั้นคือความกล้าหาญ ที่ท่านได้แสดงให้เห็นว่า ท่านกล้าวางแผนที่จะทำในสิ่งที่ผมคิดว่ารัฐบาลปกตินี่อาจจะทำไม่ได้

ในอดีตเมื่อปี 2525 เรามีโครงการที่ท่านรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ได้ทำโครงการเพื่อพัฒนาประเทศ ใช้เวลาพัฒนาประมาณแปดปี ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่หลังจากนั้นมา เราก็ไม่มีโครงการอย่างนี้อีกเลย เรามาเริ่มมีตั้งแต่ที่มีรัฐบาลประยุทธเข้ามาทำงานแล้ววางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี EEC จะเป็นจุดที่ทำให้นักลงจากต่างประเทศมาลงทุน

“กระทรวง คมนาคม ยินดีที่ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจแสนอแนะ และให้ความเห็นได้ สิ่งหลายสิ่งต้องกราบเรียนว่าเราต้องมาปรึกษาหารือกัน ตั้งแต่วันที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสภานี้ ผมก็ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ขออนุญาตเอ่ยนาม ด.ร.สุรเชษฐ์ ก็ได้แนะนำ ผมก็นำสิ่งที่ท่านได้แนะนำไปปรึกษาหารือกับข้าราชการกระทรวงคมนาคม วันนี้ก็ยังเหมือนเดิมนะครับ ผมรอท่านอยู่ที่กระทรวงคมนาคมนะครับ ท่านสามารถไปแลกเปลี่ยนข้อหารือกับเราได้” รมว.คมนาคม กล่าว