“วิษณุ”เตือน วิจารณ์ศาลรธน.เจอละเมิดอำนาจ เป็นคดีอาญาพิเศษ ตั้งข้อกล่าวหาได้เลย

วิจารณ์ตามหลักวิชาการหรือไม่ ไม่รู้ “วิษณุ” เตือน วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ เจอ ละเมิดอำนาจ โทษ ทั้งจำทั้งปรับ เป็นคดีอาญาพิเศษ ตั้งข้อกล่าวหาได้เลย

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกบุคคลที่มีชื่อเสียง รวมถึงนักวิชาการไปชี้แจง หลังจากที่วิพากษ์วิจารณ์พาดพิง ถึงศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนก็ได้ทราบเรื่องทั้งหมดจากข่าวหนังสือพิมพ์ เข้าใจว่าเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตามกฏหมายใหม่ ดังนั้น ทุกคนต้องระมัดระวังการแสดงความคิดเห็น แต่กรณีนี้เข้าใจว่าเลขาศาลรัฐธรรมนูญ ได้เรียกไปสอบถามโดยไม่มีการตั้งข้อหา เพียงต้องการพูดคุย ว่ามีวัตถุประสงค์อะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมอาจมองว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นตัดสินเรื่องการเมือง จึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ นายวิษณุ กล่าวว่า จะทำอย่างไรได้ ก็ในเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติ ให้มีข้อหานี้อยู่ ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ไม่มี แต่คำว่าละเมิดศาลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์แต่เกี่ยวกับการกระทำ เช่น ครั้งหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยไปอ่านคำวินิจฉัยที่ศาลปกครอง เพราะไม่สามารถอ่านคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น จึงเกิดความรู้สึกว่าศาลรัฐธรรมนูญควรมีบทบัญญัติ ว่าด้วยการละเมิดศาลไว้ด้วย ส่วนที่หลายคนบอกว่าวิพากษ์วิจารณ์ด้วยหลักวิชาการนั้น ตนไม่ทราบ เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคนเรียกมาพูดคุย ดังนั้น ทุกคนจึงต้องระมัดระวังด้วยตัวเอง

เมื่อถามว่าการวิจารณ์ผ่านโซเชียลถ้ามีคนไปแจ้งความก็จะถูกดำเนินคดีด้วยใช่หรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า แล้วแต่กรณี แต่การเรียกมาสอบถามก่อนโดยที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการนั้น นับเป็นเรื่องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ทั้งนี้ การละเมิดศาลนั้น ศาลอาจจะตั้งข้อหาเองได้ โดยที่ไม่ต้องมีคนไปร้อง และการละเมิดศาลก็ไม่ได้จบที่การจำคุก หรือปรับเสมอไป แต่จบที่การตำหนิหรือออกข้อกำหนดก็ได้ เช่น ให้หยุดพูดหรือ ห้ามมาศาล 3 วัน อย่างไรก็ตาม คดีละเมิดศาล ถือเป็นคดีอาญาพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีใครแจ้งความร้องทุกข์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตั้งข้อหาเองได้ ตั้งต่อหน้าผู้ละเมิดได้เลย

เมื่อถามว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ไม่ใช่ละเมิดอำนาจศาล นายวิษณุ กล่าวว่า ก็แล้วแต่จะว่าไป จึงอยู่ที่ศาลว่าจะตัดสินอย่างไร ทั้งนี้ขอบเขตของการละเมิดศาลมีอยู่ว่า การทำอะไรก็ตามที่เป็นการล่วงเกิน ทำให้เห็นว่าศาลไม่เป็นกลาง หรือไม่ยุติธรรม ทำให้เกิดความรู้สึกจูงใจ โน้มน้าว ผู้คน ให้คนรู้สึกไม่ดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง รวมถึงการก่อความไม่สงบและในบริเวณศาล และยังรวมไปถึงการขัดสิ่งที่ศาลได้ห้ามไว้ โดยบทบัญญัตินี้มีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ในบริเวณศาลและ กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษทั้งปรับ จำคุก ตำหนิ บอกกล่าว แต่ไม่มาก