‘อนุทิน’ ยันไม่มีร่วมจ่าย ‘บัตรทอง’ เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำ 3กองทุน ลั่นรัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายเพิ่ม ‘ภาระ’ ปชช.

“อนุทิน” ยันไม่มีร่วมจ่าย “บัตรทอง” เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน ลั่นรัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายเพิ่ม “ภาระ” มีแต่เพิ่ม “สิทธิประโยชน์” ประชาชน เน้นซื้อและใช้ของในประเทศอุ้มเศรษฐกิจ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 15 สิงหาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ประธานบอร์ด สปสช.) เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2562 ครั้งที่ 16 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

นายอนุทิน กล่าวตอนหนึ่งระหว่างมอบนโยบาย “ทิศทางเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพ” ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ รัฐบาลจะเดินหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อคุ้มครองความมั่นคงทางสุขภาพให้กับประชาชน จะไม่มีการร่วมจ่าย (Co-Payment) ค่ารักษาพยาบาลในสิทธิบัตรทอง และระบบนี้จะอยู่ต่อไป ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง

“เมื่อประชาชนสุขภาพดี ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถือเป็นการลงทุนในมนุษย์ จึงไม่ใช่ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ส่วนที่มีความกังวลว่าจะมีการให้ประชาชนร่วมจ่ายนั้น ขอย้ำว่าไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม แต่ผมไม่มีแนวคิดเรื่องนี้เลย เพราะไม่ต้องการผลักภาระให้ประชาชน กลับกันยังจะเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มผู้ป่วยโรคหายากด้วย เช่นกัน สารสกัดจากกัญชา หากใช้รักษาผู้ป่วยได้จริง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองโดยรัฐ ก็สมควรถูกบรรจุเป็นยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ และใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อเป็นทางเลือกแก่หมอ และผู้ป่วย” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า จากนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมีส่วนที่ต้องทำเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทางการแพทย์ช่วยเพิ่มประสิทธิผลและคุณภาพบริการ การจัดทำฐานข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ด้านสุขภาพ การให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค การจัดการกลุ่มโรคอุบัติใหม่ และโรคหายาก การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การสร้างเครือข่าย ให้ประชาชนในชุมชนเข้าถึงบริการรูปแบบใหม่อย่างทั่วถึงรวดเร็วและมีคุณภาพ เช่น กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ร้านยาชุมชนอบอุ่น เป็นต้น

“สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ทุกความคิดเห็นมีความหมาย สปสช.และ สธ.จะคัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดแน่นอน งาน สปสช. เป็นงานในความรับผิดชอบของผม ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. นโยบายของผม คือการให้บริการที่ยอดเยี่ยมแก่ประชาชน เพราะสุขภาพประชาชนคือ รากฐานของประเทศ ถ้าทั้งประเทศป่วย ประเทศคงเดินหน้าลำบาก และสิ่งที่อยากจะสื่อสารกับประชาชนคือ กรุณาดูแลสุขภาพตัวเอง อย่าปล่อยให้ป่วย เพราะถ้าป่วย จะเจ็บทั้งตัว เสียทั้งเงิน และจากที่กล่าว ผมพร้อมสนับสนุนกิจกรรมของ สปสช.แต่การจัดซื้อ จัดจ้าง ขอให้ซื้อของคนไทย ใช้ของคนไทย ให้เงินหมุนเวียนในประเทศ สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ เฟิร์ส (Thailand first)” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า วันที่ 16 สิงหาคมนี้ จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจครั้งแรก ในฐานะที่เป็นหนึ่งในครม.ชุดดังกล่าว จะเสนอนายกรัฐมนตรีว่า งบประมาณ สปสช.มีเท่าไร ก็ไม่พอ ที่ทำได้อย่างเดียวคือ ทำให้ สปสช.ใช้เงินคุ้มค่าที่สุด เช่น จัดซื้อเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ต่างๆ ต้องผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศที่ต้องซ่อมอย่างหนักได้

“เพราะการใช้จ่ายงบประมาณสุขภาพ 2-3 แสนล้านบาท หากใช้ในประเทศก็จะหมุนได้หลายรอบ เป็นโอกาสที่ไม่ได้เสียเปล่า ใช้ให้เป็น จ่ายให้เป็น รับให้เป็น ก็จะอยู่ได้” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันจะไม่มีการร่วมจ่ายในยุคนี้ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยืนยันว่าบัตรทองยังเป็นภาระที่รัฐบาลให้การดูแลตราบเท่าที่ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ.

“สิ่งที่ประชาชนเคยได้รับมา ก็ต้องไม่เอาภาระไปเพิ่มให้ประชาชน สิ่งที่ให้ไปแล้ว ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่เอาคืน และต้องได้รับสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้นกว่านี้ ทั้งการบริการ การรักษา การสร้างเสริมสุขภาพ” นายอนุทิน กล่าว

 

เมื่อถามว่า การร่วมจ่ายไม่ได้มีเพียง ณ จุดบริการ นายอนุทิน กล่าวว่า ตรงนี้ยังไม่ได้ศึกษาในรายละเอียด ส่วนที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในรัฐบาลชุดก่อน ต้องถามเลขาธิการ สปสช. และปลัด สธ.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ

ต่อข้อถามว่า ขณะที่เป็นช่วงสังคมผู้สูงอายุ ถ้าเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เงินอาจจะไม่พอ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็แก้ไขไปตามสถานการณ์ สังคมผู้สูงอายุที่มากขึ้นแสดงว่าพื้นฐานสุขภาพต้องดีขึ้น ถ้ายิ่งให้ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจการดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่ใช่ประเด็นน่ากลัวว่าคนป่วยทั้งประเทศแล้วรัฐดูแลไม่ไหว เพราะไม่มีใครอยากป่วย แต่ต้องทำให้คนมีความรู้ เข้าใจ มีสุขภาพแข็งแรง พึ่งพาการรักษาพยาบาลให้น้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ด้วย

เมื่อถามถึงการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพของรัฐ นายอนุทิน กล่าวว่า รายละเอียดเป็นเรื่องของ สปสช. และให้นโยบายแล้วว่า ต้องดูแลให้บริการอย่างดีที่สุดเท่าที่ให้ได้ ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ของประชาชนก็ขับเคลื่อนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายอนุทินให้สัมภาษณ์เสร็จสิ้น ตัวแทนเครือข่ายประชาชน 9 ด้าน ในระบบหลักประกันสุขภาพ ได้เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอต่อเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ พร้อมขอเข้าพบเพื่อหารือถึงแนวทางการดูแลด้านสุขภาพแก่ประชาชนกับรัฐมนตรีว่าการ สธ.ในเร็วๆ นี้ด้วย ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันเดียวกัน นายอนุทิน และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ยังได้ร่วมประชุมกับคณะผู้บริหาร สธ. และ สปสช. ในประเด็นเรื่องการลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วย