วอนรัฐเร่งเอฟทีเอ “อียู-ไทย” เปิดตลาดใหม่ส่งออกทูน่า

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ครึ่งปีแรก ปี 2562 มูลค่า 2,151 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.38% แต่ทว่าหากแยกเฉพาะการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยจะพบว่ามียอดส่งออกถึง 1,073 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.73% สวนทางกับการส่งออกภาพรวมทั้งกลุ่ม

โดยเฉพาะการส่งออกทูน่ากระป๋องและซาร์ดีนกระป๋องช่วงครึ่งปีแรก รวม 1,144.67 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.58% ตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก คือ สหรัฐ ตลาดอันดับ 1 สัดส่วน 20.66% มีมูลค่า 236.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.43% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น สัดส่วน 9.23% มูลค่า 105.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.07% ออสเตรเลีย สัดส่วน 7.99 % มูลค่า 91.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.11% ลิเบีย สัดส่วน 7.74% มูลค่า 88.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 201.46% และซาอุดีอาระเบีย สัดส่วน 6.65% มูลค่า 76.17 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.45%

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า แม้วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง แต่สินค้าทูน่าไทยยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกเบอร์ 1 ของโลก โดยการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงครึ่งปี 2562 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทุกชนิด อาทิ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า ทูน่ากระป๋อง ทูน่าเพาซ์ ทูน่าลอยด์ ผลิตภัณฑ์ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรลและอาหารสัตว์เลี้ยงทำจากปลา 306,717 ตัน เพิ่มขึ้น 9%

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับปัจจัยบวกพฤติกรรมการบริโภคที่เพิ่มขึ้นและอานิสงส์เทรดวอร์ เนื่องจากอเมริกาหันมาออร์เดอร์จากไทยมากขึ้น รวมทั้งภาพลักษณ์การปลดใบเหลือง การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย (IUU) คาดว่าทั้งปีจะมีการนำเข้าวัตถุดิบทูน่า 8.5-9 แสนตัน โตขึ้น 10% โดยมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าและปลาทุกชนิดโตขึ้น 5% มูลค่า 95,000 – 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงในประเทศคือค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป รัฐบาลโดย ธปท.ต้องดูแลค่าเงินอย่างจริงจัง รวมถึงกระตุ้นภาคเกษตร อาหารและการท่องเที่ยว รวมทั้งขอให้รัฐบาลเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเปิดตลาดใหม่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอียูซึ่งไทยไม่มีจีเอสพี ทำให้ยังคงเสียเปรียบคู่แข่งขันเรื่องภาษีนำเข้าที่สูงถึง 24% หลายปีแล้ว ผู้ส่งออกจึงหันไปรุกตลาดแอฟริกาและละตินอเมริกาที่มากขึ้น

“ภาพรวมครึ่งปีแรกเทียบกับคนอื่นที่ติดลบเรายังโต ไปได้ดีทีเดียว สินค้าทูน่าถือเป็นสินค้าจำเป็น ไม่แพง และช่วงที่ผ่านมาอเมริกามาซื้อไทยมากขึ้นเพราะซื้อจีนลำบากเนื่องจากเสียภาษี 25% ฉะนั้นออร์เดอร์อเมริกาและจีนก็เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ในระยะยาวค่าเงินไทยแข็งเกินไปมาก น่ากังวล ค่าแรงเราคงไม่ได้ห้ามแต่ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ ถ้าขายก็ลำบาก แต่ข้อดีคือทูน่ามีสัดส่วนนำเข้า 50% สินค้าอื่นกระทบ 100% จะสาหัสมาก ท่องเที่ยว ส่งออก กระทบจากค่าเงินหมด ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลอย่างจริงจัง”