ปี’63 “บัตรทอง” เพิ่มการเข้าถึง “ยาป้องกันติดเชื้อเอชไอวี” กลุ่มเสี่ยงสูง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งล่าสุด ที่มี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการปรับปรุงรายการบริการในสิทธิประโยชน์การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) กลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม ในพื้นที่มีความพร้อมตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตนำเสนอ

         

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือ PrEP เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันในกลุ่มประชากรเสี่ยงสูงที่มีประสิทธิผลสูง อาทิ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย ชายบริการ หญิงข้ามเพศ หญิงบริการ ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด และคู่เพศสัมพันธ์ที่มีผลเลือดต่าง ด้วยการกินยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ ช่วยลดภาระงบประมาณด้านการรักษาผู้ป่วยเอชไอวีและโรคฉวยโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ปี 2558 องค์การอนามัยโลกแนะนำ PrEP เป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้มีความเสี่ยงสูง ควบคู่ไปกับการป้องกันที่มีอยู่เดิม ประเทศไทยได้ให้บริการ PrEP ผ่านโครงการนำร่อง หรือดำเนินการเฉพาะบางพื้นที่โดยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานต่างประเทศ แต่ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 เพื่อเพิ่มการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค สธ. ได้เสนอบรรจุบริการ PrEP ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2560 ประกอบด้วย บริการ 2 ส่วน คือ 1.บริการยาต้านไวรัส 2 รายการ ได้แก่ ยาต้านไวรัสทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir Disoproxil Fumarate: TDF) และ ยาเอ็มตริไซตาบี (Emtricitabine: FCT) อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (ก) ตั้งแต่ ปี 2561 กินวันละ 1 เม็ด ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ราคาขวดละ 600 บาท บรรจุ 30 เม็ด ค่ายาประมาณ 7,200 บาทต่อปี 2.บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยมีการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีทุก 3 เดือน ตรวจการทำงานของไต (Cr) ทุก 6 เดือน ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทุก 6 เดือน ตรวจไวรัสตับอักเสบบีและซี ปีละ 1 ครั้ง และตรวจการตั้งครรภ์ทุกครั้งที่สงสัย” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่า โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ศึกษาการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าบริการ PrEP มีคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ใน 2 กลุ่มเสี่ยง คือ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชายและคู่เพศสัมพันธ์ที่มีผลเลือดต่าง เมื่อประเมินความคุ้มค่าโดยพิจารณาร่วมกับเป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ในปี 2573 การให้บริการ PrEP ในทุกกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีประมาณ 245,000 คน นับว่ามีความคุ้มค่า เพราะสามารถช่วยลดอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ต่ำกว่า 1,000 รายต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องใช้งบประมาณ 405 ล้านบาทต่อปี 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า บอร์ด สปสช.เห็นชอบนำร่องบริการ PrEP ในกลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่มในพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยใช้งบประมาณกองทุนบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ปี 2563 และให้มีการวิจัยประเมินผลเพื่อติดตามความสำเร็จในการป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาความเหมาะสมในการขยายผลทั่วประเทศต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมให้จัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสนับสนุนให้มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างกว้างขวาง และการตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควบคู่ไปกับการรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกัPrEP

มติชนออนไลน์