ชงครม.28พค.”ซีพี”ชนะประมูลไฮสปีด ลุ้นต่อมาบตาพุด-ศูนย์ซ่อมอากาศยาน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)หรือ บอร์ดอีอีซี เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ดอีอีซีครั้งที่ 4 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รับทราบผลการคัดเลือก การเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) และได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ที่ภาครัฐลงทุนน้อยที่สุด ซึ่งได้ผู้ชนะเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เนื่องจากมีข้อเสนอด้านการลงทุน ผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณา และบรรลุข้อตกลงในการเจรจาแล้ว โดยร่างสัญญาร่วมลงทุนได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมติให้นำเข้าเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวกับเอกชนที่ได้คัดเลือก ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ส่วนการลงนามในสัญญาร่วมกันอาจทันในวันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งยังต้องรอผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และการส่งมอบพื้นที่ให้ครบทั้งหมดด้วย

นายคณิศ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)จะเสนอเข้าที่ประชุมครม.ครั้งถัดไป เนื่องการมีการปรับปรุงเงื่อนไขในส่วนของค่าถมทะเลกว่า 10,000 ล้านบาท ที่กนอ.จะต้องจ่ายคืนเอกชน ในระยะ 30 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี โดยกนอ.ต้องทยอยคืนเงินให้เอกชนปีละ 600 ล้านบาท แต่เนื่องจากเอกชนไม่สามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ย 2.5% จึงมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยใหม่เป็น 4.8% กนอ.จึงต้องคืนเงินให้เอกชนปีละ 720 ล้านบาทแทน

นายคณิศ กล่าวว่า ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) การบินไทยและแอร์บัส จะมีประชุมความคืบหน้าในวันที่ 14 พฤษภาคม  คาดว่าจะล่าช้าไปจากแผนงานเดิมเล็กน้อยประมาณ 1 เดือน จากคาดว่าจะสรุปและลงนามสัญญากับเอกชนได้เดือนพฤษภาคมนี้ น่าจะได้เดือนมิถุนายนแทน”นายคณิศ กล่าว

นายคณิศ กล่าวว่า พร้อมกับเห็นชอบการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีด้วย ซึ่งต่อเนื่องมาจากการประชุมครั้งที่ 3 ที่ได้ทราบความต้องการในอุตสาหกรรมดิจิทัล กว่า 100,000 คน โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สานต่อโครงการพร้อมจัดทำการพัฒนาและผลิตกำลังคนดิจิทัลสำหรับพื้นที่อีอีซี คาดปี 2566 บุคลากรที่ได้รับการพัฒนากว่า 180,000 คน ประกอบด้วย นักศึกษาจบใหม่ด้านดิจิทัลที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 60,000 คน นักศึกษาสาขาอื่นๆ ทีมีศักยภาพในการเปลี่ยนหรือเรียนเพิ่มเติมสาขาด้านดิจิทัล จำนวน 120,000 คน พร้อมทั้งยังมีแนวทางการผลักดันให้ได้บุคลากรตามเป้าหมายกำลังคนด้านดิจิตอลที่ต้องการด้วย

นายวราวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ขณะนี้รฟท.กำลังหารือกับเอกชนที่ชนะการประมูลของโครงการดังกล่าว เกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่โครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่โดยรอบโครงการ (TOD) โดยในส่วนแรกจะส่งมอบในพื้นที่บริเวณมักกะสัน 50 ไร่ จากพื้นที่ 50 ไร่ หลังจากนั้นจะส่งมอบให้ภายใน 5 ปีหลังการดำเนินการ ส่วนพื้นที่อื่นๆ จะมีการหารือกับเอกชนและผู้รับเหมาโครงการเป็นระยะๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา โดยเงื่อนไขของการลงนามในสัญญาจะสามารถดำเนินการได้ทันในวันที่ 15 มิถุนายนนี้หรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่ากำลังพิจารณาอยู่ เพราะรฟท.ได้ส่งให้กับคณะกรรมการฯแล้ว

มติชนออนไลน์