เลือกตั้งไทย 62 : เอ็นจีโอเทศห่วง สื่อ-นักเคลื่อนไหว-ผู้เห็นต่าง ยังคงถูกคุกคามด้วยกฎหมายปิดปาก

“ซีวีซัส” องค์กรระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของสิทธิพลเมืองและประชาสังคมระดับโลก ได้เผยว่า แม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้แล้ว แต่กระนั้น รัฐบาลทหารยังคงขยายอำนาจผ่านกฎหมายหลายฉบับในการจำกัดสิทธิและคุกคามประชาชนผู้เห็นต่างมากขึ้น

โดย “ซีวิซัส แทรคกิ้ง ซีวิค สเปซ” หน่วยเฉพาะกิจในการเฝ้าติดตามสถานการณ์การเมืองภาคประชาชนทั่วไปของซีวิซัส ได้ระบุว่า เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แม้รัฐบาลทหาร คสช.จะยกเลิกข้อห้ามในการทำกิจกรรทางการเมือง ตามคำสั่งที่ 22/2561 ที่ยกเลิกคำสั่ง 1 ฉบับ รวมถึงยกเลิก ข้อ 12 ในคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนแล้ว แต่ยังมีกฎหมายและประกาศที่สั่งห้ามอีกหลายฉบับบังคับใช้อยู่

ซีวิซัสเชื่อว่า รัฐบาลทหาร คสช.ล้มเหลวในการสร้างเงื่อนไขการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ในท่ามกลางข้อกังวลที่เกิดขึ้นรวมถึงกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน การเซ็นเซอร์สื่อ และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสื่ออย่างเท่าเทียม บทบาทของ ส.ว.แต่งตั้งที่มากขึ้นและการขาดความเป็นอิสระและความเป็นกลางของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ซีวิซัสได้ประเมินสถานการณ์แต่ละด้านตั้งแต่ในการแสดงความคิดเห็นว่า พบว่า ไทยมีการจำกัดการทำงานของสื่อก่อนเลือกตั้ง อย่างกรณีสั่งระงับใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี 15 วัน หลังถูกกล่าวหาว่า นำเสนอเนื้อหาที่เป็นเหตุทำให้ประชาชนสับสนและก่อความขัดแย้งขึ้นในสังคมและคุกคามของความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองได้ตัดสินให้วอยซ์ทีวีออกอากาศได้ตามปกติ

อีกสิ่งที่สะท้อนการจำกัดบทบาทของสื่อคือ คำสั่ง คสช.ที่ 97/25577 ที่ห้ามนำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ คสช.และ คำสั่ง คสช.ที่ 103/2557 ที่ห้ามการเผยแพร่ข่าวหรือการเผยแพร่ข้อมูลใด ๆ ที่เจ้าหน้าที่พิจารณาว่า “จงใจบิดเบือนเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิดในที่สาธารณะที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน” ซึ่งองค์กรสื่อไร้พรมแดน ประณามการระงับสื่อ โดยมองว่า การระงับออกอากาศของวอยซ์ทีวีได้แสดงเห็นถึงการรบกวนและความรุนแรงต่อประชาธิปไตยแบบพหุนิยม และเรียกร้องให้ประยุทธ์ทบทวนการตัดสินใจหรือทำให้การเลือกตั้งทั่วไปหมดความเชื่อถือ

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีกรณีของอรวรรณ ชูดี ผู้ดำเนินรายการของช่อง 9 อสมท.ที่ถูกบอร์ดบริหารสั่งยุติการทำหน้าที่ จากกรณีที่ถามคนรุ่นใหม่ที่ห้องส่งว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ไม่ต้องร่วมเวทีดีเบตกับคู่แข่งพรรคอื่น แม้ต่อมาผู้บริหารจะปฏิเสธสั่งยุติการทำหน้าที่ แต่อรวรรณก็ไม่ได้กลับมาดำเนินรายการอีก หรือกรณีผู้ให้บริการเคเบิลทีวีระงับการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยของสำนักข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์และการตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ

ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับลิดรอนสิทธิเสรีภาพอย่าง พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์ที่ สนช.ผ่านกฎหมาย ซึ่งให้อำนาจหน้าที่ในการเข้าค้น ยึด แทรกซึม หรือทำสำเนากับคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล หากคณะกรรมการความมั่นคงไซเบอร์เห็นว่าเป็นภัยคุกคามระดับร้ายแรง ซึ่งนักเคลื่อนไหวกังวลมากหากเปิดทางให้รัฐบาลให้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้บริษัทไอทีระดับโลกอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิ้ล แอปเปิล แสดงความกังวลต่อกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ในการเข้าค้นและยึดข้อมูลหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยปราศจากคำสั่งศาล

ส่วนเสรีภาพในการรวมกลุ่มยังคงถูกคุกคาม อย่างเช่นกรณีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การใช้กฎหมายจัดการพรรคการเมืองอย่างพรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีไลฟ์เฟซบุ๊กวิจารณ์พรรคพลังดูด ซึ่งคสช.ได้แจ้งความในข้อหาผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ หรือกรณีการแจ้งข้อหากับนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในข้อหาผิด พรบ.ชุมนุมสาธารณะ โดยการรวมตัวแสดงพลังขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์พูดว่า ไม่ลาออก พร้อมพูดเชิงท้าทายว่า แน่จริงมาไล่ดูสิ