เปิด 3 ขั้นตอน ล้างมรดก คสช. คืนเสรีภาพของจริง! “ปิยบุตร” อนาคตใหม่ มั่นใจตัดวงจรรัฐประหารได้แน่!

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับมติชนและมติชนสุดสัปดาห์ว่า ในวันที่ 16 ธ.ค.พรรคอนาคตใหม่จะเปิดตัว 12 วาระเปลี่ยนอนาคต ประกอบด้วย 3 นโยบายฐานราก 8 นโยบายเสาหลัก และ 1 ปักธงประชาธิปไตย โดยตนเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายในส่วนของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.จัดการมรดก คสช. 2.สิทธิและเสรีภาพ และ 3.ลบล้างผลพวงรัฐประหารและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ในส่วนของกลุ่มแรก การจัดการมรดก คสช. นั้น คสช.อยู่กับเรามาเข้าสู่ปีที่ 5 และทิ้งมรดกบาปที่เราไม่ต้องการเต็มไปหมดในชื่อของประกาศ คสช. พ.ร.บ.ต่างๆที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ออกมา รวมทั้งรัฐธรรมนูญปี60 โดยจะต้องนำประกาศทั้งหมดมาทบทวนใหม่ประกาศฉบับไหนที่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของระบบราชการและมีผู้ที่สุจริตรับผลประโยชน์ไปแล้วและพอที่จะเปลี่ยนได้ ก็ให้ใช้ต่อ แต่ให้สภาแปลงร่างให้เป็น พ.ร.บ.แทน เพราะชื่อเป็นประกาศคสช.ดูไม่ดี ส่วนประกาศ คสช. ที่อยุติธรรม เนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื้อหาที่จัดการศัตรูทางการเมืองของคสช.ต่างๆจะต้องยกเลิก และให้ผู้ที่เสียหายได้รับการเยียวยา ทั้งนี้บรรดาประกาศ คำสั่งต่างๆของคสช.อยู่ยงคงกระพันได้ทุกวันนี้ เพราะชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยมาตราสุดท้ายได้รับรองเอาไว้ ดังนั้นต้องไปถอดสลักระเบิดนี้ทิ้ง ยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญนี้ทิ้ง เพื่อเราจะได้ตรวจสอบว่าประกาศของคสช.เหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ บรรดาพ.ร.บ.ที่สนช.ออกมาที่ประชุมกันแบบยกมือโหวตผ่านๆ แล้วเนื้อหาไม่ชอบธรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องทบทวนแก้ไข เช่น กฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการชุมนุม กฎหมายที่ละเมิดวิถีชีวิต

และรัฐธรรมนูญปี60 ซึ่งเป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุด และตนเคยพูดหลายครั้งว่า มันไม่ได้ทำให้เราถอยหลังเพียงไม่กี่ปี แต่ทำให้ถอยหลังย้อนกลับไปไกล ความคิดในฝันของผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 60 คือทำให้การเมืองไทยเป็นไปอย่างรัฐธรรมนูญปี21 คือ เลือกตั้งไปเถอะแต่คุณจะได้รัฐบาลอย่างที่พวกเขาจัดวางไว้ ซึ่งถอยไป 40 ปีไม่พอ และอยากจะใช้รัฐธรรมนูญออย่างนี้อีก 20 ปีตามแผนยุทธศาสตร์ ฉะนั้นรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 เพียงหนึ่งวัน ถอยไป 40 ปี และใช้อีก 20 ปี รวมแล้วทำประเทศถอยไป 60 ปี นี่คือสิ่งที่เขาปรารถนาจึงต้องแก้ไข โดยเราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี60 เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเอาสภาฯนั้นมาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งมีรากศัพท์ในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า co ซึ่งหมายถึงการก่อนตั้งร่วมกันของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 49 50 57 และ 60 4 ฉบับสุดท้ายมันเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เกิดจากการร่วมมือร่วมใจของประชาชน แต่มันเกิดจากการยึดอำนาจทั้งสิ้น เราขาดบรรยากาศการทำรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมามาก และบ้านเมืองนี้จะไปต่อไม่ได้ถ้าไม่ดึงประชาชนเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญร่วมกัน

กลุ่มที่สอง การจัดการสิทธิเสรีภาพ ตนคิดว่า เสรีภาพที่สำคัญที่สุดและจะจรรโลงอยู่ได้ในระบอบประชาธิปไตยคือ จะต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คนเราจะรู้ว่าจะควรเลือกใคร จะต้องมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็น คนเรารู้ตัวว่าจะเสนอตัวให้คนเลือกก็ต้องนำเสนอของเรามีการถกเถียงว่าเสียงข้างมากที่เลือกไปแล้วกีหรือไม่ เสียงข้างมากตัดสินใจถูกไม่ถูก และเสียงข้างน้อยตัดสินใจถูกหรือไม่ ทุกอย่างประชาธฺปไตยเดินได้ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่จะต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตลอดเวลา ดังนั้นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นจะต้องจัดการ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาณที่มีโทษทางอาญา และมีการฟ้องคดีแบบแกล้งกัน ทำให้สื่อมวลชน เอ็นจีโอ ไม่กล้าที่จะวิจารณ์ เพราะกลัวโดนคดี ในต่างประเทศเปลี่ยนโทษหมิ่นประมาทให้เป็นโทษปรับที่ไม่มีการติดคุก บางทีเอาออกจากกฎหมายอาญาเป็นการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน เจตนารมณ์เดิมคือการป้องกันแฮกเกอร์ทุกระบบที่ทำลายฐานนข้อมูล แต่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ทุกวันนี้คือกฎหมายที่ห้ามคนแสดงออกผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งผิดเจตนารมณ์ไปหมด กฎหมายการชุมนุมสาธารณะซึ่งตามเงื่อนไขแล้วแทบจะชุมนุมไม่ได้เลย รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล หมิ่นประมาทผู้พิพากษาที่ต้องเข้าไปจัดการ และพรรคยืนยันว่าเราจะลงนามให้สัตยาบรรณในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ทุกประเทศทำได้ ประเทศที่ปกครองแบบเราซึ่งเป็นประชาธิปไตยมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุขก็ทำได้ลงนามหมดแล้ว ทั้งอังกฤษ สวีเดน ญี่ปุ่น กัมพูชา ดังนั้นไม่มีข้ออ้างไหนอีกแล้วนอกจากคณะรัฐประหารกังวลใจ กองทัพกังวลใจว่าตัวเองจะถูกดำเนินคดีได้ ซึ่งการลงนามจะเป็นการป้องกันระยะยาวในเรื่องของเสรีภาพ

และกลุ่มสุดท้าย คือการป้องกันรัฐประหาร ที่จะสามารถทำได้ แต่ต้องมีการปฏิรูปกองทัพซึ่งพรรคมีนโยบายในการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นระบบโดยในวันที่ 16 ธ.ค.จะเปิดตัวในเรื่องนี้ และการปฏิรูปศาล เพราะการรัฐประหารทุกครั้งเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงกองทัพ ถ้าศาลไม่ไปตัดสินรองรับอำนาจรัฐประหาร กองทัพก็อยู่ไม่ได้ รวมทั้งจัดการทุนผูกขาดที่สนับสนุนการรัฐประหารตลอดเวลา 3 สิ่งนี่คือสิ่งที่จะต้องปฏิรูปเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐประหารอยู่ได้ และสิ่งที่เราดูตัวอย่างมาจากเยอรมันนีคือการเขียนแบบให้ทหาร ข้าราชการทั้งหลายให้มีสิทธิและหน้าที่ในการที่จะต่อต้านการรัฐประหาร และต่อต้านการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ละเมิดกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งต้องประกันสิทธินี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะต้องมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านรัฐประหารในทุกวิธีการ ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไทยระบุไว้ว่าประชาชนมีสิทธิในการต่อต้านรัฐประหารแบบสันติวิธี คือ เขาเอารถถังมาเป็นขบวนแล้วจะไปต่อต้านสันติวิธีไม่สามารถทำได้
อีกเรื่องที่ตนไปดูประเทศที่มีรัฐประหารบ่อยๆและสุดท้ายยุติไปได้ เช่น กรณีของกรีซ ที่ระบุในรัฐธรรมนูญมาตราสุดท้ายไว้ว่า วันใดก็ตามที่ประชาชนสามารถเอาอำนาจสูงสุดของตัวเองกลับมาได้อีกครั้งหลังจากถูกคณะรัฐประหารขโมยไปให้ดำเนินคดีกับคณะรัฐประหารทั้งหมดโดยไม่มีอายุความ และอีกอย่างที่ตนคิดขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษสำหรับประเทศไทย คือ เวลารัฐประหารเกิดขึ้น วันที่ยึดอำนาจมีความผิดฐานกบฎตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 คนจะไปฟ้องกัน ของไทยมีตั้งแต่ไปแจ้งความตำรวจ แล้วก็ส่งอัยการไปศาล ซึ่งกว่าจะไปถึงก็นิรโทษกรรมตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว หรือถ้าไปถึงศาล ศาลก็จะบอกว่าคุณไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ ศาลไม่รับฟ้อง ดังนั้นความผิดในฐานกบฎต้องเขียนเอาไว้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสียหาย ดังนั้นทุกคนต้องฟ้องได้หมด และศาลต้องพิจารณาคดีเร่งด่วนภายใน 7 วัน ทำให้ศาลต้องรีบตัดสินทำให้นิรโทษไม่ทัน ล่าสุด พลงอ.ประยุทธ์และคสช.ใช้เวลาเป็นเดือนในการนิรโทษกรรมตัวเอง ทั้งหมดที่ตนออกแบบใหม่นั้นคิดในดับรัฐธรรมนูญ ระดับโครงสร้างกองทัพ สถาบันการเมือง ระบบยุติธรรม เพื่อที่จะทำให้ประเทศนี้ออกจากวงจรรัฐประหารที่เราอยู่มาหลาย 10 ปี ถ้าทำสำเร็จตนคิดว่า นโยบายอื่นๆจะเดินหน้าไปได้สวย แต่ทุกวันนี้ที่สะดุดเพราะวงจรรัฐประหารแบบนี้