“สนธิรัตน์”ลุ้นข้าวตันละ 2 หมื่น ออเดอร์เพียบส่งขายร้านค้าอาลีบาบา-เอ็มโอยู 4 ฉบับ ส่งออก 9.3 หมื่นตัน

วันที่ 8 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในงานเจรจาธุรกิจสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวระหว่างผู้นำเข้าข้าวต่างประเทศและผู้ประกอบการไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายนว่า กระทรวงฯจะยกระดับความร่วมมือกับอาลีบาบามากขึ้น ทั้งไทยไรซ์แฟล็กชิพสโตร์ผ่านทีมอลล์ เพื่อนำข้าวไทยไปสู่ตลาดจีนและล่าสุดจากการหารือร่วมกับอาลีบาบา กระทรวงฯจะทำความร่วมมือกับเหอหม่า บริษัทในเครืออาลีบาบา ที่ดำเนินการร้านค้าไร้เงินสด(แคชเลสสโตร์) โดยจะนำสินค้าไทยเข้าไปวางขายในร้านค้า ซึ่งจะมีการจัดทำข้อมูลว่าทางเหอหม่ามีความต้องการสินค้าไทยชนิดใดบ้าง คุณภาพอย่างไร ปริมาณเท่าใด รวมทั้งข้าว ผลไม้ โดยกระทรวงฯ จะช่วยแมชชิ่งซัพพลายสินค้าไทยให้กับเหอหม่า และในเดือนธันวาคมนี้ จะเดินทางไปยังเมืองหังโจว ประเทศจีน เพื่อดำเนินการเรื่องเถาเป่า วิลเลจ โดยจะนำสินค้าชุมชนไทยไปสู่ตลาดจีน นอกจากนี้จะมีความร่วมมือกับเจดีดอทคอม และคิงวายกรุ๊ปด้วย

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงฯ มีนโยบายจะผลักดันการค้าระหว่างประเทศของไทยในการขยายลู่ทางการส่งออกสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวสู่ตลาดโลกให้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถดูดซับปริมาณผลผลิตอกจากตลาดในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวและช่วยพยุงราคา จึงมอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกเชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจากตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูงเดินทางเข้ามาร่วมจับคู่ธุรกิจ มีผู้เข้าร่วมกว่า 160 ราย จาก 28 ประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง แคนาดา สหรัฐ ประเทศในกลุ่มยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอาเซียน และมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 170 ราย คาดว่าจะเกิดคำสั่งซื้อทันทีราว 1,500 ล้านบาท และมีคำสั่งซื้อในระยะ 1 ปี อีกประมาณ 30,000 ล้านบาท

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ปี 2561 ตั้งเป้าหมายส่งออกข้าว 11 ล้านตัน โดยช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 8.12 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.13% จากปี 2560 ตลาดหลักการส่งออก อาทิ เบนิน สหรัฐ อินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิมีราคาสูงถึง 16,000-17,000 บาทต่อตัน และหากมีคุณภาพดีราคาอาจจะขึ้นไปถึง 20,000 บาทต่อตันได้ ข้าวเปลือกแห้งราคาสูงถึง 18,000 บาทต่อตันในบางพื้นที่ ผลจากการที่ไทยได้ปรับโครงสร้างสต็อกข้าวทำให้ไม่มีสต็อกคงค้างที่จะกดดันให้ราคาต่ำและผลผลิตต่างประเทศออกมาน้อย ส่วนราคาข้าวขาวที่ยังไม่เห็นปรับขึ้นเพราะมีปริมาณมากและการแข่งขันสูง

“ตลาดข้าวมีการแข่งขันสูงมากขึ้น แต่ละปีประเทศเพื่อนบ้านมีสัดส่วนการส่งออกข้าวสูงขึ้น ซึ่งด้านราคาในแต่ละปีจะเป็นอย่างไรนั้นต้องพิจารณาปริมาณการผลิตของแต่ละประเทศ ในส่วนของไทยจะควบคุมปริมาณการปลูกข้าวไม่เกิน 33 ล้านตันต่อปี เพื่อไม่ให้ราคาข้าวตก และจะเน้นยกระดับผลผลิตเป็นพรีเมียมโปรดักส์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการค้าแบบบีทูซี หรือไปสู่ผู้บริโภคมากขึ้นจะช่วยให้ราคาข้าวต่อตันเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เน้นการขายแบบอุตสาหกรรม ซึ่งปริมาณการส่งออกถือเป็นคีย์ของเคพีไอ แต่เรื่องสำคัญคือมูลค่าการส่งออก หากสามารถส่งออกเท่าเดิมหรือส่งออกลดลงแต่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ดีกว่า สะท้อนราคาขายที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนด้วย” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ระหว่างผู้นำเข้าต่างประเทศกับผู้ประกอบการไทย จำนวน 4 ฉบับ รวม 93,000 ตัน ได้แก่ 1. การลงนามระหว่าง 759 สโตร์ ผู้นำเข้าและซุปเปอร์มาเก็ตที่มีสาขา 224 สาขาทั่วเกาะฮ่องกง กับบริษัท สยามไดมอนด์ เอ็กปอร์ตไรซ์ จำกัด เพื่อสั่งซื้อข้าวหอมมะลิ 10,000 ตัน 2. การลงนามระหว่าง 759 สโตร์ ฮ่องกง กับบริษัท โกลบอล ไร้ซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด เพื่อสั่งซื้อข้าวหอมปทุมธานี 4,000 ตัน 3. การลงนามระหว่าง บริษัท เอเวอร์โฟลวิ่ง ฟอร์จูน เทรดดิ้ง จากฟิลิปปินส์ กับบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ จำกัด เพื่อสั่งซื้อข้าวไทย 5%, 15%, และ 25% รวมทั้งสิ้น 70,000 ตัน และข้าวหอมมะลิไทย 5,000 ตัน 4. การลงนามระหว่างบริษัท กว่างตง โย่วเหลียง เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล จากจีน กับบริษัท หอมกุลา จำกัด โดยจะลงนามซื้อข้าวหอมมะลิไทย Gl และข้าวหอมมะลิไทยออแกนิกส์ รวม 4,000 ตัน