‘บิ๊กป้อม’ หัวโต๊ะ ถกแก้ปัญหาไอยูยู มีมติรับซื้อเรือคืน 3 ระยะ เริ่ม เรือ 10-60 ตันกรอส

‘บิ๊กป้อม’ หัวโต๊ะ ประชุมคกก.ขับเคลื่อนและปฏิรูปฯ ถกแก้ปัญหาไอยูยู มีมติรับซื้อเรือคืน 3 ระยะ เริ่มที่เรือ 10-60 ตันกรอส พร้อมตั้งอนุกรรมการดำเนินงาน ยัน รบ.ไม่ละเลยผลกระทบต่อชาวประมง

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 7/2561 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู) ว่า รัฐบาลทราบว่าการปรับกฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมายสากลอาจส่งผลกระทบต่อชาวประมง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ละเลยในเรื่องดังกล่าว โดยได้รับเรื่องร้องเรียนของสมาคมชาวประมงแห่งประเทศไทยที่เสนอ 8 ประเด็น และขณะนี้ได้มอบให้กระทรวงแรงงานรับไปดำเนินการ 3 เรื่อง คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาด้านกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และการเตรียมให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งในวันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะเดินทางไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เพื่อพูดคุยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานด้วย

พล.ท.คงชีพกล่าวต่อว่า เรื่องปัญหาการรับซื้อเรือคืน จะมีการดำเนินการ 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เรือขนาด 10-60 ตันกรอส จำนวน 409 ลำ ระยะที่ 2 เรือขนาด 60-150 ตันกรอส จำนวน 166 ลำ และระยะที่ 3 เรือขนาด 150 ตันกรอสขึ้นไป จำนวน 104 ลำ ซึ่งวันนี้ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการกับเรือในระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก โดยจะตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการ ให้ผู้ประสงค์ขายเรือต้องแจ้งความประสงค์ และต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของเรือ มีการประเมินราคาและซื้อโดยคณะกรรมการจัดซื้อเรือ โดยจะโอนเงินให้ชาวประมงผ่านทางบัญชีโดยตรง ขณะที่ปัญหาการแจ้งเรือเข้า-ออก ได้มอบหมายให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ไปดำเนินการดูแล โดยจัดทำคู่มือการปฏิบัติให้เหมือนกันทุกท่าที่มีเรือเข้า-ออก นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าไปดำเนินการแก้ปัญหากฎหมายการประมงว่าด้วยเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับในการตรวจเรือ ส่วนกรมประมงจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบปัญหาภาระการจ่ายค่าบริการระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System : VMS)

พล.ท.คงชีพ แถลงเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประวิตรได้กำชับสั่งการให้มีการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการเลื่อนสถานะให้ดีขึ้นอยู่ในระดับ 2 (Tier 2) จากรายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ Trafficking in Persons Report (TIP Report) ประจำปี 2561 โดยให้นำข้อเสนอในรายงานดังกล่าวมาขยายผลขับเคลื่อนแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนรองรับไว้ 2 แผน คือ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนและปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งมุ่งเน้นด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย เช่น เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบสถานบริการ การอายัติทรัพย์ผู้กระทำผิด การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมดูแลผู้เสียหายให้มากขึ้นและติดตามสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้แก่ผู้เสียหาย ด้านการป้องกัน จะเพิ่มมาตรการเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มประสิทธิภาพแก่เจ้าหน้าที่และให้ความรู้แก่ประชาชน ส่วนแผนที่ 2 คือ แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายด้านแรงงาน ซึ่งจะดำเนินการทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การป้องกัน การเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมถึงสร้างการรับรู้ไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มมากขึ้น