‘เรืองไกร’ จี้พักงาน ‘ดอน’ จนกว่าศาล รธน.จะมีคำวินิจฉัย

“เรืองไกร” จี้พักงาน “ดอน” จนกว่าศาล รธน.จะมีคำวินิจฉัย ถาม “นายกฯ-ดอน” จะไม่ตอบสังคมเลยหรือว่าจะทำอย่างไร เชื่อเรื่องไปตกที่ศาล รธน. พร้อมจ่อใช้ช่อง ม.51 จี้ กกต.แจงปมตีตกกรณีหุ้นสัมปทาน

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. กล่าวถึงกรณี กกต.มีมติเสียงข้างมากเห็นว่าการถือหุ้นของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าลักษณะต้องห้าม ว่า กรณีที่นายดอนโดนนี้ไม่ใช่ข้อร้องเรียนของตน ตนร้องในประเด็นเรื่องหุ้นสัมปทาน แต่ทั้งนายดอน และภรรยามีทั้งหุ้นสัมปทาน และหุ้น 5% แต่ กกต.วินิจฉัยหุ้น 5% ขณะที่ตนร้องในมาตรา 184 เรื่องหุ้นสัมปทานพร้อม 9 รัฐมนตรี เช่น กรณี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรณีหุ้นสัมปทาน และแจงมาเมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ยังถือหุ้นอยู่ ปัญหาคือเหตุใดจึงตีตกเรื่องนี้ ตนก็อยากขอดูสำนวนก่อน เพราะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯบอกว่า ทราบเรื่องแล้ว แล้วทำไมผู้ร้องซึ่งก็คือตนยังไม่ทราบเรื่อง ส่วนนายกฯหรือ ครม.จะปรับหรือไม่ปรับ ครม.ก็เป็นเรื่องมาตรฐานของนายกฯและ ครม. เพราะวันนี้ก็มีมติแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนขอถามว่า แม้จะไม่ปลดนายดอน สามารถพักงานนายดอนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยได้หรือไม่ ทำไมวันนี้นายกฯ และ ครม.ไม่ตอบเรื่องนี้ เลี่ยงทำไม เพราะกว่าที่ท่านจะตั้งนายดอนมารับตำแหน่งนี้ท่านควรจะเป็นคนตรวจสอบคุณสมบัติเหล่านี้ ไม่ใช่ให้คนอื่นมาตรวจ แถมวันนี้ กกต.มาเห็นในสิ่งที่นอกเหนือจากที่ตนร้องแบบนี้ท่านไม่เทคแอชชั่นอะไรเลยหรือ ทั้งตัวนายกฯ และนายดอน จะไม่ตอบสังคมเลยหรือว่าจะทำอย่างไร หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขาดคุณสมบัติก็กลับมาเป็นใหม่ได้ แต่ในขณะนี้เรื่องมีน้ำหนักแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนอยากเห็นคำร้องที่ถูกตีตกกรณีหุ้นสัมปทานด้วยว่าถูกตีตกเพราะอะไร

เมื่อถามว่า ประเมินว่าอย่างไรที่มีการพุ่งเป้ามาที่นายดอนก่อน นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนก็สงสัยเหมือนกัน เพราะประเด็นที่นายดอนโดนนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ตนร้อง ไม่รู้ว่ามีการหาเหตุอะไรหรือไม่ หลายคนถามว่าเกี่ยวกับกรณีนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ตามจับไม่ได้หรือไม่ ตนก็ว่าไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรีต่างประเทศที่ต้องไปตามจับ แต่ถ้าถามตน มองว่า 1.การหยิบประเด็นนี้ซึ่งนอกเรื่องที่ตนร้องไป จะทำให้ไปหลุดในชั้นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2.การไม่วินิจฉัยเรื่องหุ้นสัมปทานจะทำให้เรื่องไม่ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญโดยปริยาย ก็จะทำให้ ครม.ชุดนี้ดำรงอยู่ได้ ขณะเดียวกันอย่างนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวโน้มว่าจะไปทำพรรคการเมือง ซึ่งหากขาดคุณสมบัติก็จะเป็นปัญหาขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ตนสงสัย จึงอยากให้ กกต.เปิดรายงานการไต่สวนให้ทราบ

เมื่อถามว่า จะมีช่องทางดำเนินการอย่างไรให้ กกต.เปิดรายงานดังกล่าว นายเรืองไกรกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 51 บัญญัติไว้ว่า “การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชน และชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งมาตรานี้ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญ 2550 ตนก็จะใช้ช่องทางนี้จี้ กกต.ให้เร่งดำเนินการชี้แจงในกรณีดังกล่าว ซึ่งต้องดูว่า ป.ป.ช.ดำเนินการได้เลยหรือไม่ หรือตนมีอำนาจในการดำเนินการเองเลยหรือไม่

เมื่อถามถึงกรณีร้องรัฐมนตรีท่านอื่นที่เคยยื่นเรื่องร้องไป นายเรืองไกรกล่าวว่า หลังสุดก็มีร้อง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเรื่องก็ยังไม่ทราบผล เงียบไปเลย 90 สนช. ที่ร้องไปก็เงียบอยู่ เลยไม่รู้ว่าเรื่องตกไปพร้อม 9 รัฐมนตรีแล้วหรือยัง เรื่องนี้ กกต.ควรชี้แจง ว่าคณะกรรมการที่ท่านตั้งขึ้นมาได้มารายงานเรื่องนี้กับท่านหรือยัง เพราะเรื่องเป็นปีแล้ว