จรัญ พงษ์จีน : ดาบที่มีชื่อว่า “มาตรา 44” จะคืนสนอง?

จรัญ พงษ์จีน

“มาตรา 44” ดาบอาญาสิทธิ์ อาวุธลับสุดวิเศษของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” งัดมาใช้ประโยชน์ได้ดุจแก้วสารพัดนึก จัดการแก้ปัญหามาแล้วมากมายหลายเรื่องราว ตั้งแต่ “สากกะเบือ ยันเรือรบ”

นับจำนวนกันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว ที่ “บิ๊กตู่” ประกาศใช้ “มาตรา 44” แก้ปัญหานับตั้งแต่ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” มาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แม้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติเก็บ “มาตรา 44” เข้าลิ้นชัก ลงซุกก้นหีบแต่ประการใด

จนนักวิชาการบางคนออกมาขว้างก้อนหินถามทาง แสดงความปรารถนาดี ว่าควรแก่กาลเวลาได้แล้วที่จะหยุดใช้มาตรา 44 เพราะไปทับซ้อนกับอำนาจต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ

การใช้ “กฎเหล็ก” แบบพร่ำเพรื่อมากเกินไป มิต่างอะไรกับเอา “ดาบอาญาสิทธิ์” ฟันหญ้า ฟันหยวกกล้วย อย่างไม่ระแวดระวัง สุดท้ายความศักดิ์สิทธิ์มันจะเสื่อมคลาย กลายเป็นไม้ตะพด

ข้อท้วงติงยังไม่ทันสิ้นเสียง “มาตรา 44” ก็ส่อเค้าเล่าอาการ ว่าจะเป็น “บูมเมอแรง”

เรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่ทำท่าจะโกบิ๊ก เปิดคอร์ส นำร่องโดย “เหมืองอัครา” ซึ่ง “นายปิยบุตร แสงกนกกุล” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาแสดงความเห็นว่า หลายฝ่ายกำลังวิตกกังวลว่าจะมีปัญหาทางกฎหมาย และกลัวจะถูกเรียกชดเชยค่าเสียหาย หาก “บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด” ผู้ประกอบการเหมืองแร่ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ “บริษัทอัครา รีซอร์สเซส” เกิดชนะคดีขึ้นมา

“ตามความในท้องเรื่อง” มีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2559 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดย “อาศัยอำนาจตามมาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดมาตรการในการป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองคำ รวมทั้งกำหนดมาตรการฟื้นฟูผลกระทบ

ซึ่งคำสั่งดังกล่าว มีผลสั่งให้ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำไว้

ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ไปแล้ว “ให้ระงับการประกอบกิจการไว้” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยผู้ประกอบการยังคงมีหน้าที่ในการฟื้นฟูพื้นที่ ตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งนี้ จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติจะมีมติอื่น

จากคำสั่งดังกล่าว “นายเกรก ฟาวลิส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอัครา รีซอร์สเซส ผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ได้ยื่นจดหมายเลิกจ้างกับพนักงานทุกคน โดยมีผลทันทีในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 วันที่ 31 มกราคม 2560 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ในบางส่วน

 

ต่อมา “บริษัทคิงส์เกตฯ” ผู้ประกอบการเหมืองแร่ของออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่อัคราฯ ยื่นข้อร้องเรียน เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายทางธุรกิจมูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 30,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างตั้งตัวแทนเจรจา มีความพยายามที่จะให้ได้ข้อยุติเป็นที่น่าพอใจทั้ง 2 ฝ่าย เพราะหากไม่สามารถตกลงกันได้ บริษัทคิงส์เกตฯ ขู่จะฟ้องรัฐบาลไทย ภายใต้กระบวนการ “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” เป็นไปตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ “เอฟทีเอ” ไทย-ออสเตรเลียในด้านการคุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนของประเทศหนึ่งสามารถฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลอีกประเทศหนึ่งได้ หากดำเนินนโยบายให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุน เช่น ยึดทรัพย์สิน ยึดการลงทุน หรือเวรคืนที่ดิน

“การฟ้องร้องภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอนี้ มาตรา 44 ไม่มีอำนาจครอบคลุมไปถึง”

จากเกราะคุ้มครองของ “มาตรา 44” ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกฎหมายระหว่างประเทศ “นักวิชาการ” วิเคราะห์ดูแล้ว เกรงว่าโอกาสรัฐบาลไทยจะชนะแทบไม่มีเลย และน่าจะต้องจ่ายค่าเสียหาย เพราะผิดสัญญา ผิดข้อตกลงเอฟทีเอ

อยู่ที่ว่าจะสามารถเจรจาลดหย่อนตัวเลขลงได้มากน้อยเท่าใด เพื่อให้เรื่องจะได้จบ โดยไม่ต้องให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศชี้ขาด เพราะถึงขั้นตอนนั้น ถ้าแพ้คดี ต้องชดเชยค่าเสียหายถึง 30,000 ล้านบาท เป็นวงเงินสูงมาก ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกรณี “ค่าโง่ทางด่วน”

อย่างไรก็ตาม กรณี “เหมืองแร่อัคราฯ” เป็นบทเรียนราคาแพงให้กับ “คสช.” ที่ประกาศใช้มาตรา 44 อย่างย่ามใจ พร่ำเพรื่อมากเกินเหตุ สุดท้ายทำท่าจะ “งานเข้า” เพราะเงื่อนไขตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี ครอบจักรวาลไม่ทั่วถึง

“ข้อตกลงการค้าเสรี” หรือ Free Trade Area เป็นรูปแบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยประเทศที่รวมกลุ่มกันหรือประเทศสมาชิกจะต้องยกเลิกอุปสรรคทางการค้าทั้งหมด เพื่อทำให้ต้นทุนสินค้าระหว่างกลุ่มมีราคาลดลง เพื่อสามารถแข่งขันกับตลาดภายนอกกลุ่ม และมีอำนาจต่อรองกับตลาดโลกได้

การประกาศใช้มาตรา 44 ระงับการอนุญาตเหมืองแร่อัคราฯ คนที่น่าเห็นใจมากที่สุดคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้ลงนามในคำสั่ง จะไปมีปัญญาแตกฉานเรื่องเหมืองแร่ทองคำ ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

นอกเสียจากผู้ใต้บังคับบัญชา “ชงยาขม” มาให้รับประทาน และเป็นผู้ลงนามเท่านั้น

ยังมีอีกมากมายหลายโครงการที่สุ่มเสี่ยงเข้าข่ายเดียวกับ “เหมืองแร่อัคราฯ”

ซึ่งกระทรวงทบวงกรม ร่วมด้วยช่วยกันประติมากรรม ส่งของเหม็นมาให้จัดการ

ยิ่งช่วงนี้ใกล้ฤดูกาลผลัดใบ ทั้งพวกเกษียณอายุราชการ ทั้ง “คนดีแตก” รู้แก่ใจว่า จะมีปรับ ครม.ใหญ่ในไม่ช้าไม่นานนี้อีกแล้ว เลย “มูมมาม” กันเป็นการใหญ่

สวมวิญญาณ “เสือหิว” เร่งคีย์ ตีจังหวะอนุมัติโครงการใหญ่ๆ กันเป็นว่าเล่น แถมหมกเม็ดให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนกันยายนอีกต่างหาก