มุกดา สุวรรณชาติ : ปัญหาเศรษฐกิจหนักมาก ชาวบ้านจะตายอยู่แล้ว จะแก้ไขอย่างไร?

มุกดา สุวรรณชาติ

ปัญหาเศรษฐกิจที่หนักมากขณะนี้สะท้อนออกมาในรูปหนี้สินของชาวบ้าน

พวกเขาเป็นหนี้จนเต็มเพดาน เพราะได้ก่อหนี้เพื่อประทังชีวิตมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

ตอนนี้ในระบบไม่ให้กู้ นอกระบบก็ตามทวงหนี้ ธนาคารบอกว่าพวก SME มีหนี้เสียสูงมากขึ้นทุกปี ส่วนหนี้ภาคครัวเรือน ก็มีปริมาณมหาศาลที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย เพราะคนเหล่านี้จะกู้เงินหมุนเวียนจากที่หนึ่งไปใช้หนี้อีกที่หนึ่ง

สุดท้ายก็ไม่มีที่จะกู้

สภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ และจะเกิดขึ้นในอนาคต…คือคนรวยอาจเสียหายแต่เอาตัวรอดได้

คนชั้นกลางอาจเสียหายถึงขั้นเจ๊ง แต่ยังพอมีกิน

แต่คนชั้นล่างจะยากลำบากมาก คนที่เกิดมาเคยแต่ทำนาก็จะทำนา ไม่ว่าข้าวถูกหรือแพง แต่คนโกงหากำไรได้แม้ในวิกฤต หาข้าวต้นทุนถูกไปขายโดยไม่ต้องทำนา ส่วนชาวนาจะต้องทำนาไปจนตาย

เส้นเลือดใหญ่ 3 เส้นที่หล่อเลี้ยงประเทศเราอยู่คือการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ล้วนต้องปรับปรุงทั้งสิ้น ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน

 

ตัวอย่างการท่องเที่ยวที่ปรับปรุงทันที

คือกรณีอาจารย์ปิยบุตรได้โพสต์ภาพและข้อความที่เสนอความคิดเห็นเรื่องการทำงานของด่าน ตม. ที่สนามบินดอนเมืองว่าจำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อยไม่เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวกัน 4-5 พันคน การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อต้องการระบบที่ดีขึ้น ถือว่าช่วยสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม

แต่อาจจะมีคนที่โง่แล้วขยัน หรือไม่เข้าใจได้เสนอความเห็นว่านี่คือการไม่รักชาติ

ผลที่ตามมาคือมีหลายคนโพสต์ความเห็นในทางให้ร้ายต่ออาจารย์ปิยบุตรถึงกับเสนอให้ย้ายไปอยู่ประเทศอื่น

แต่ข้อเท็จจริงที่เปิดเผยตามมาก็คือจำนวนนักท่องเที่ยวในวันนั้นเนื่องจากเครื่องบินดีเลย์มีเกือบ 9,000 คน จำนวนเจ้าหน้าที่มีไม่พอจริงๆ

จากนั้นก็มีการค้นพบว่าเจ้าหน้าที่ ตม. มีบางส่วนที่มีตำแหน่งอยู่แต่ว่าได้มีการยืมตัวไปตามนายอยู่ที่อื่น ทางผู้รับผิดชอบ จึงมีคำสั่งให้ขยายช่องสำหรับตรวจรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 14 ช่อง มีการขยับขยายพื้นที่ทำงานอย่างเร่งด่วน

และมีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีให้เจ้าหน้าที่ ตม. ย้ายกลับ มีการคาดโทษว่าถ้าหากเกิดปัญหากับนักท่องเที่ยวแบบนี้จะต้องมีความผิด

การวิพากษ์วิจารณ์และชี้ข้อผิดพลาด เมื่อผู้ทำงานมองเห็นประโยชน์หาทางปรับปรุงก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

นี่ยังดีที่ฝ่ายรัฐไม่บ้าจี้ตามพวกคลั่งชาติบางกลุ่มที่ใครมีความเห็นอะไรที่ไม่ถูกใจตัวเองก็จะไล่ไปอยู่ประเทศอื่น

คนพวกนี้เป็นตัวถ่วงของการพัฒนาประเทศมาตลอด

เพราะในความเป็นจริงสภาพสังคมบ้านเมืองของเราเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากถ้าเรายังอยากจะทำเงินเข้าประเทศจากการท่องเที่ยวซึ่งขณะนี้เป็นสายเลือดหลักของเรา สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองยังไม่พอเพียงด้วยซ้ำ

ผู้บริหารประเทศจะต้องคิดขยายการรับเครื่องบินและผู้โดยสารจำนวนมาก ถ้านั่งเครื่องบินมา 2-3 ชั่วโมงแต่ต้องรอติดอยู่หน้าด่าน ตม. เพื่อตรวจเอกสาร 4 ชั่วโมง อย่างนี้ก็ไม่มีใครอยากกลับมาประเทศไทยอีกแล้ว

การเร่งสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ยุคนายกฯ ทักษิณ ตอนนี้บุญเก่ากำลังจะหมด เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้สนามบินเพิ่มขึ้นมาก อะไรคือแผนระยะสั้น และแผนระยะยาวนับจากวันนี้

ภาคอุตสาหกรรม SME กำลังลำบาก

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งก่อนที่กลไกของระบบ ทั้งผู้ผลิตโรงงาน ผู้ซื้อ ผู้ขาย ยังพอลากยาวอยู่ได้ พอพ้นวิกฤตก็เริ่มเดินหน้าใหม่ แต่ครั้งนี้ทั้งลูกค้าและผู้ผลิตที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม อาจจะหายไปหรือย้ายออกจากประเทศไทย เพราะสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัญหาทางการเมือง ความไม่แน่นอนในระบบกฎหมาย และนโยบาย

ปี 2557 ยอดการค้าโดยทั่วไป ลดลงโดยเหลือ 70 เปอร์เซ็นต์

ปี 2558 ลดเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ ปี 2559 ลงไปอีกเล็กน้อย ปี 2560 ยังไม่โงหัวขึ้น

หนี้ในภาคธุรกิจธุรกิจ SME ตัวเลขที่ปรากฏยังไม่ใช่ตัวเลขจริง มีการซ่อนหนี้โดยวิธีการประนอมหนี้เป็นที่รู้กันระหว่างธนาคารกับลูกหนี้เพราะธนาคารก็ไม่อยากนำเงิน 30 เปอร์เซ็นต์ของ NPL ไปค้ำประกันไว้กับแบงก์ชาติถ้ามีหนี้เสียหมื่นล้าน ต้องหาเงิน 3,000 ล้าน ไปค้ำประกัน จึงพยายามประนอมหนี้ โดยวิธีทำสัญญายืดการชำระหนี้ออกไปให้นานขึ้น ชำระน้อยลงต่อเดือน โอนทรัพย์สินเป็นของแบงก์ โดยตีราคาถูก แล้วให้ซื้อคืนในภายหลัง ธุรกิจที่ไม่ล้มวันนี้ ก็จะล้มอีก 10 เดือนข้างหน้า หรือ 2 ปีหน้า

หลายปีก่อนบริษัทเหล่านี้จ่ายภาษีให้รัฐมากมาย แต่วันนี้พวกเขากำลังจะตาย แบบไม่มีใครช่วย

ส่วนภาคก่อสร้าง วันนี้แบงก์เข้มงวดสินเชื่อมาก เจ้าของบ้านจัดสรรแนวราบ บอกว่า “ลูกค้าผม ขอไป 12 ราย ไม่ผ่านเลยซักราย คอนโดฯ ไม่ต้องพูดถึง ยิ่งยากกว่า”

ถ้ากฎหมายภาษีที่ดินออกมา ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราคงมีสวนกล้วยซึ่งปลูกในที่รกร้าง เต็มทั้งประเทศ

ต้นไม้ใหญ่น้อยคงถูกโค่นเป็นแสนต้น เพื่อที่จะใช้แสดงว่านี่เป็นที่เกษตรกรรมสวนกล้วย จะได้เสียภาษีที่ดินถูก

แต่ไม่ว่าจะเสียภาษีเท่าไร ก็จะถูกผลักไปให้ผู้บริโภค

การกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก คงต้องทำต่อไป

หลายโครงการที่รัฐบาลปัจจุบันพยายามเสนอขึ้นมาเพื่อช่วยคนจน ทั้งชนบทและในเมืองก็เพื่อต้องการผล 2 ด้านคือผู้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนชั้นล่างให้ดีขึ้น และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อจากคนชั้นล่างและชั้นกลางเพื่อขยับเขยื้อนเศรษฐกิจให้หมุนเวียนให้ผู้คนมีงานทำมีเงินใช้มากขึ้น

เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน ที่ทำกันมาหลายยุคหลายสมัย เมื่อ 40 ปีที่แล้วอดีตนายกฯ คึกฤทธิ์ก็ทำโครงการเงินผันสร้างงานในชนบท ทำร่มโครงการพยุงราคาพืชเกษตร ซึ่งมีการทำต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี

ถึงวันนี้ก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการที่รัฐบาลพยายามอัดเม็ดเงินเข้าไปสู่โครงการต่างๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะได้ผลดีที่สุด ที่นิยมกันมากและคิดว่าได้ผลที่สุด

เราใช้คำว่ารดน้ำไปที่ราก และน้ำจะถูกนำไปหล่อเลี้ยงผ่านส่วนที่เป็นลำต้นกิ่งก้านและใบทำให้พืชงอกงาม แตกดอกออกผล

การนำเงินลงไปสู่คนจนไม่ว่าจะเป็นการพยุงราคาพืชผลเกษตร เช่นข้าว ยางพารา พืชไร่ การให้เงินกู้ที่ช่วยคนจน นโยบายที่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ชาวบ้านมีเงินทองผ่านมือมากขึ้น

คนชั้นล่างเหล่านี้เมื่อได้เงินพวกเขานำเงินไปใช้จ่ายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเงินจำนวนนั้นแทบไม่พอใช้อยู่แล้ว ภายใต้การบริโภคสมัยใหม่ เงินหมื่นล้าน แสนล้าน จะถูกนำออกมาหมุนเวียนในหมู่บ้านในตำบล ผ่านตลาดนัด ผ่านร้านค้า ทำให้กิจการค้า การบริการต่างๆ ได้เงินไม่หมุนเวียนมากขึ้น เงินก็จะพุ่งขึ้นสู่ลำต้นกิ่งก้านซึ่งเป็นโรงงานเล็กโรงงานน้อย มีการต่อเติมสร้างบ้าน ผู้ค้าวัสดุ เจ้าของโรงงานผลิตวัสดุก็ได้ประโยชน์ตามไปด้วยที่เป็นแรงงาน เป็นช่างก็ได้เงินเพิ่มขึ้น ได้งานเพิ่มขึ้น

เงินเหล่านี้หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ น่าจะหมุนได้ไปถึง 5 รอบทุกคนก็มีเศรษฐกิจมีการเงินที่ดีขึ้น

เมื่อการค้าดีขึ้นรัฐบาลก็เก็บภาษีได้มากขึ้นมีเงินมากขึ้นก็สามารถปรับปรุงเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการมากขึ้น

 

ถามว่าแบบนี้คนรวยได้ประโยชน์หรือไม่

คนรวยได้ประโยชน์มากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำพวกเขาอาจจะไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรค

อาจจะไม่ได้สัมผัสกับกองทุนหมู่บ้านโดยตรง

แต่กระแสการหมุนของเงินสุดท้ายก็ต้องวนมาซื้อวัสดุซื้อสิ่งของจากโรงงานใหญ่ไม่ว่าการบริโภคอาหารการกิน สบู่ยาสีฟันของใช้สิ้นเปลือง การใช้โทรศัพท์ รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ เมื่อถึงคนรวย

เงินส่วนหนึ่งก็จะวนเข้าสู่ระบบธนาคาร ธนาคารก็จะได้ผลประโยชน์อย่างมากมายเช่นกัน เพราะการทำกิจการส่วนใหญ่ต้องกู้เงินธนาคารออกไปทำงาน ในอัตราดอกเบี้ยสูง และในช่วงสุดท้ายเงินจะถูกเก็บมาใช้หนี้ และนำมาฝากไว้ธนาคารในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ดังนั้น แม้มีหนี้เสีย ระบบธนาคารพาณิชย์ก็ยังมีกำไรปีละเกินแสนล้าน

เงินที่ผ่านมือคนรวยบางส่วนได้กลายเป็นทรัพย์สินที่อาจจะเรียกว่าฟุ่มเฟือย เช่น รถเบนซ์ รถเฟอร์รารี่ บ้าง กลายเป็นกระเป๋าราคาแพงจากต่างประเทศใบละหมื่น ใบละแสน บางส่วนก็ถูกนำมาใช้เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการบริการ ชีวิตของคนกลางคืนชีวิตที่หรูหรา

เงินบางส่วนอาจหายออกไปนอกระบบโดยเฉพาะเงินที่ได้มาไม่ถูกต้อง

มีเม็ดเงินบางประเภทที่ไม่ได้ไหลผ่านคนจน

เงินประเภทนี้อาจจะไม่ได้หมุนเวียนในสังคมไทยเลย เพราะเมื่อลงทุนไปก็หายไปอยู่เมืองนอก อาจจะมีคนกลาง ตัวแทนจำหน่าย หรือจากการเป็นนายหน้า

มีโครงการใหญ่จำนวนมากเป็นหมื่นล้านแสนล้าน ที่เม็ดเงินไม่ได้ผ่านเข้าสู่สังคมไทยตามมูลค่าโครงการ

ไม่ว่าจะเป็นการซื้อวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศ เกือบทั้งหมด เพราะเงินกู้จากเมืองนอก แล้วก็ซื้อของนอก การก่อสร้างก็ผ่านบริษัทใหญ่ที่ใช้คนไม่มากนัก เพราะมีเทคโนโลยี และเครื่องมือสมัยใหม่

เมื่อโครงการสร้างเสร็จก็อาจจะมีเงินกระจายเข้าสู่คนชั้นกลางและชั้นล่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ผลจากเศรษฐกิจที่สูงขึ้นหรือตกต่ำจะกระทบทุกด้าน

การกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก เพิ่มขึ้นมาก จากยุคอดีตนายกฯ ทักษิณ ถึงเวลานี้ผ่านมา 15 ปี ทุกรัฐบาลก็ยังทำกันอยู่ แต่ทำแล้วใครจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า ขึ้นอยู่กับนโยบาย และโครงการแนวทางรดน้ำที่ราก จนถึงออกดอกออกผล รัฐบาลเองจะต้องรู้จักควบคุมไม่ให้เกิดการยักยอกทั้งน้ำที่รดลงไปที่ราก และผลิตผลที่ออกมาบนต้น ทำอย่างไรสิ่งเหล่านั้นประชาชนจะได้ส่วนแบ่งที่คุ้มค่า ถ้าจัดการได้ดี ชาวบ้านจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หลายช่วงเวลาในอดีตที่เห็นประชาชนหน้าใส ชีวิตดีขึ้น

แต่ถ้าเศรษฐกิจตกลงมาก ชีวิตลำบาก คนหน้าหมอง สังคมมีปัญหา การเกิดอาชญากรรมจะมากขึ้น แบบธรรมดาก็คือชาวบ้านฉกชิงวิ่งราวขโมยปล้นกันเอง

อีกแบบหนึ่งก็คือการใช้อำนาจมาปล้นชิง เช่น นายพล นายพันในเครื่องแบบ ให้ลูกน้องไปอุ้มนักธุรกิจมาเรียกค่าไถ่ ที่จะมีเยอะขึ้นคือการคอร์รัปชั่น ทั้งจากการเอาของรัฐไปขาย หรือการซื้อของด้วยเงินของรัฐ ถ้าขนาดมีคนรู้และท้วงติงว่านี่เป็นการโกงกันชัดๆ ก็ยังจะทำ นี่เป็นการออกใบอนุญาตให้ปล้นกลางแดด ถ้าเป็นแบบนี้สังคมจะอยู่กันอย่างไร ชาวบ้านไม่มีความหมาย

วันที่ 25 สิงหาคม ยังจะไม่มีอะไรชี้วัดระบบยุติธรรมของบ้านเมืองนี้ เพราะความยุติธรรม ไม่ได้ชี้วัดเฉพาะที่ศาล แต่ชี้วัดตั้งแต่การออกกฎหมาย นโยบายของรัฐ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ จนถึงการตรวจสอบ การป้องกัน

ชะตากรรมของชาวบ้านจำนวนมากในวันนี้รอคำตัดสินเหมือนกัน อาจจะเจ๊ง ล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์ ยึดที่ดิน ในอีกไม่นานนี้

อาการป่วยและกำลังจะตาย ของคนจำนวนมากในสังคม อย่าคิดว่าไม่เกี่ยวกับตัวเรา โรคทางเศรษฐกิจร้ายแรงยิ่งกว่าโรคติดต่อ อยู่ไกลแค่ไหนก็ติดต่อได้ สร้างภูมิต้านทานให้ดีก็แล้วกัน