สวนสนามที่ไร้ “ปืน” 7 ทศวรรษ กู้ชาติไทใหญ่ เนื่องในวันชาติครบ 70 ปี (1)

ตอนจบ

ผมตื่นขึ้นในเช้าตรู่ของวันที่อากาศหนาวเหน็บ คำนวณด้วยมาตรวัดอุณหภูมิแบบองศาเซลเซียส อยู่ที่ตัวเลขสาม ภายใต้เต็นท์หลังน้อย ริมแนวเทือกเขา อันเป็นที่ตั้งของฐานที่มั่นกลุ่มชาติพันธุ์ไต หรือ ไทใหญ่ ดินแดนที่ผมกล่าวถึงคือ “ดอยไตแลง”

เช้าวันที่อากาศหนาวขนาดนี้ ควรที่จะได้ขดตัวอยู่ใต้ผ้าห่มหนาๆ ไม่ต้องรีบลุกขึ้นมาทำภารกิจไวมากนัก เพื่อรอให้ตะวันสาดแสงยามสายคลายหนาวบ้างก็ยังดี

แต่ก็มิวายได้ยินเสียงจอแจของผู้คนที่เดินขวักไขว่อยู่ริมถนนหนทางอันเชื่อมต่อมายังเต็นท์หลังน้อยที่ผมนอนอยู่

บรรยากาศแห่งความตื่นเต้น ละคนปนกับการแต่งตัว การออกร้าน ประหนึ่งมหกรรมเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ มีให้เห็นโดยทั่วบริเวณพื้นที่ “ดอยไตแลง” วันนี้ เป็นวันสำคัญที่ดำเนินมาจนถึงขวบปีที่ 70 ของการต่อสู้เพื่อกู้ชาติของชาวไทใหญ่

วันสำคัญนี้ ตรงกับวันที่ “7 กุมภาพันธ์” ตามปีปฏิทิน และกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ถือเอาวันนี้เป็น “วันชาติ” ของพวกเขา

“ใหม่สูงข้า” คือคำกล่าวทักทาย อันมีความหมายว่า “สวัสดี” ของชาวไทใหญ่ ส่งเสียงดังจอแจไปตลอดบริเวณเส้นทางที่จะเดินขึ้นไปยังลานฝึกปางเสือเผือก อันเป็นสถานที่สวนสนามของกองทัพรัฐฉาน เนื่องในวันชาติที่กำลังมาถึง

คนหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ในวัยชะแรแก่ชรา และลูกเด็กเล็กแดง ชาวไทใหญ่ทั่วสารทิศ ทั้งในเมียนมา แม่ฮ่องสอน หรือกระจัดกระจายอยู่ ณ ที่ต่างๆ ได้มารวมตัวในวันสำคัญนี้

ธงชาติของชาวไทใหญ่ ตั้งเรียงเป็นแถวเป็นแนว ตลอดเส้นทางเดิน โบกสะบัดพัดท้าทายลมหนาว อันเป็นสัญญะแสดงให้เห็นถึงความยืนเด่น ท้าทาย รวมทั้งการต่อสู้ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายทศวรรษ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วย สีเหลือง สีเขียว และสีแดง มีวงกลมสีขาวอยู่ตรงกลาง และถูกใช้เป็นธงชาติของชาวรัฐฉานมากว่า 7 ทศวรรษแล้ว

สีของธงชาติล้วนแต่มีความหมาย เมื่อสืบสาวราวเรื่องจากพี่น้องคนรัฐฉาน จึงได้คำตอบว่า

สีเหลือง หมายถึง ชนชาติไทใหญ่ที่เป็นคนเชื้อชาติมงโกลอย มีผิวเหลือง รวมทั้งหมายถึง พระพุทธศาสนาที่ชนชาติรัฐฉานนับถือ

ส่วน สีเขียว หมายถึง แผ่นดินแม่ ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยภูเขา ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ และหมายถึง ชนชาติรัฐฉานที่รักความสงบ

สีแดง คือ ความรักชาติ ความกล้าหาญของคนรัฐฉาน

ขณะที่ วงจันทร์ คือ ความบริสุทธิ์ ยุติธรรม สัจจะของคนรัฐฉาน

เช้าวันนี้ เจ้ายอดเมือง หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ แห่งกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA) เป็นหัวเรือใหญ่ที่ให้การรับรองและดูแลสื่อมวลชนทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติที่เดินทางมาเกาะติดสถานการณ์วันสำคัญนี้

สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State/RCSS) ได้จัดงานวันชาติรัฐฉานทุกปี ปีนี้พิเศษ เนื่องจากเป็นปีที่รัฐฉานเดินทางมาถึงขวบปีที่ 70 งานนี้จัดขึ้น ณ ฐานที่มั่นดอยไตแลง ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน โดยการนำของ “พลโทเจ้ายอดศึก” ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ซึ่งได้เชิญพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เข้าร่วม

ผมสังเกตและได้รับการยืนยันจากเพื่อนผู้สื่อข่าวหลายสำนักทั้งไทยและเทศที่เคยได้มาร่วมงานวันชาติในปีก่อนๆ ว่า ในปีนี้ทางกองทัพรัฐฉานได้เชิญแขกพิเศษเข้าร่วมในโอกาสเฉลิมฉลองวันชาติ 70 ปีนี้มากเป็นพิเศษ และมีแขกที่เป็นนักการทูตจากหลายประเทศเข้าร่วม อาทิ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

มีผู้สงสัยว่า แล้วมีตัวแทนจากทางการไทยเข้าร่วมหรือไม่? ได้รับคำตอบว่า ไม่มีแต่อย่างใด แต่มีประชาชนชาวไทยหลายส่วนทั้งภิกษุ และประชาชน เดินทางมาร่วมงาน

ความพิเศษของวันชาติปีนี้ นอกจากจะเป็นปีที่ 70 ของการกอบกู้รัฐฉานของชาวไทใหญ่ซึ่งจัดขึ้นยิ่งใหญ่กว่าทุกปีแล้ว ปีนี้ยังมีงานสำคัญอีก 3 งานในห้วงเวลาเดียวกันด้วย คือ เป็นวันชาติไทใหญ่ เป็นวันครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งสภากอบกู้รัฐฉาน และ เป็นวันเกิดของพลโทเจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ครบ 60 ปี

ทำให้นอกจากมีการเฉลิมฉลองวันชาติแล้ว ในวันถัดมา ได้มีการจัดงานวันเกิดให้กับเจ้ายอดศึก ด้วย

เช้าแห่งวันเฉลิมฉลองวันชาติไทใหญ่ ได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีการเคลียร์พื้นที่ตลอดเส้นทางขึ้นไปยังลานฝึกปางเสือเผือก มีจำนวนทหารของกองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ที่ผมประเมินด้วยสายตาของตนเองกว่าสามพันนาย เดินแถวขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง เพื่อเข้าร่วมพิธีสวนสนาม ทุกสายตาจับจ้องไปยังขบวนพาเหรดของกองทัพ

นอกจากสื่อมวลชนที่ต้องเก็บภาพวันประวัติศาสตร์ครั้งนี้ บรรดาชาวไทใหญ่ ชาวต่างชาติที่มาร่วมงานในครั้งนี้ หยิบเอาโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ถ่ายภาพได้มาบันทึกภาพเหตุการณ์ตรงหน้าเอาไว้อย่างแข็งขัน

พอๆ กับแถวทหารที่กำลังพาเหรดขึ้นไปบนลานฝึก เสียงเตะเท้าของทหารชายและหญิง ทำให้ฝุ่นตลบไปถนัดตา แต่ผมสังเกตว่า ไม่มีใครสนใจมันมากกว่าการเอามือป้องปาก ป้องจมูก เพราะสายตาจดจ่อกับบรรยากาศตรงหน้ามากกว่า

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทศวรรษที่ 7 แห่งการกอบกู้ชาติของชาวไทใหญ่ ประชาชนได้เคลื่อนตัวไปกับเทคโนโลยีดังกล่าว

เห็นได้จากการใช้โทรศัพท์หลากยี่ห้อ การใช้พาหนะที่เป็นรถยนต์รุ่นใหม่ มีการรายงานบรรยากาศสดโดยการ Live ผ่านเฟซบุ๊กด้วย คลื่นโทรศัพท์บนดอยไตแลง มีเพียงเครือข่ายเดียวเท่านั้น ที่สามารถอำนวยความสะดวกของการสื่อสารได้ ผมเองก็ต้องไปซื้อซิมใหม่บนดอยไตแลงนี้เอง

เมื่อทหารชาย หญิง เดินแถวขึ้นไปยังบนลานฝึกเสือเผือกแล้ว ณ ที่นั้น มีการประดับประดาบริเวณงานด้วยความยิ่งใหญ่ ที่เวทีมี พลโทเจ้ายอดศึก นั่งเป็นประธานแห่งพิธี มีแขกที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว นั่งรายล้อมถัดลงมาเป็นทอดๆ ชาวไทใหญ่ และแขกต่างบ้านต่างเมือง รวมทั้งสื่อมวลชน จับจองพื้นที่โดยรอบบริเวณลาน เพื่อหาทำเลที่เหมาะสมของตัวเองในการเข้าร่วมงานประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ผมเองโชคดีหน่อย แม้จะมัวถ่ายภาพกองทัพ แต่เมื่อขึ้นมาบนลานพิธีก็ได้ทำเลเป็นด้านหน้าของเวที พอที่จะให้เห็นภาพบรรยากาศโดยรวมของงาน

การเฉลิมฉลองเริ่มต้นขึ้น โดยมีการแสดงความสามารถของทหารชาย หญิง ในการต่อสู้ และการแสดงการป้องกันตัวของเยาวชน ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ การแสดงที่พูดถึงชาวไทใหญ่ถูกรุกรานโดยศัตรู และทหารไทใหญ่สามารถช่วยเหลือประชาชนของพวกเขาให้ได้รับอิสรภาพจากการถูกจับกุมโดยศัตรูได้ ซึ่งมีชาวไทใหญ่บางคนถูกฝ่ายศัตรูยิงเสียชีวิต

ถึงตรงนี้ผมหันไปสังเกตเห็นหญิงชาวไทใหญ่สองคนที่ไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้

ที่บอกว่าน่าสนใจแม้จะเป็นรายละเอียดเล็กน้อย คือ ฝ่ายศัตรูนั้นมิได้แต่งกายเป็นทหารพม่าแต่อย่างใด

ถ้าใครติดตามสถานการณ์การสู้รบของไทใหญ่ รวมถึงประวัติศาสตร์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า กองทัพพม่า ได้เป็นคู่ขัดแย้งสำคัญในการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการปลดแอกตัวเอง สะท้อนให้เห็นว่า รัฐฉานไม่ต้องการตอกย้ำประวัติศาสตร์บาดแผล ถึงคู่ขัดแย้ง หรือศัตรู เพราะการต่อสู้ในวันนี้เน้นไปที่การเจรจาทางการเมือง ขณะที่การสู้รบไม่ใช่แนวทางสันติที่นำไปสู่การแก้ปัญหา

สอดคล้องกับที่ พลโทเจ้ายอดศึก ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไว้ว่า

“ต้องเจรจาต่อไป ต้องจริงใจกับการเจรจา เอาปืนแก้ไขปัญหาได้แต่ดอย เอาธรรมชาติแก้ปัญหาได้ทั้งหัวใจ”

และที่น่าสนใจอย่างยิ่งไม่แพ้กันคือ ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทหารของกองทัพรัฐฉาน ไม่มีการติดอาวุธในขณะสวนสนาม

ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ภายหลังจากมีการเซ็นสัญญา NCA (Nationwide Ceasefire Agreement) กับรัฐบาลพม่า และกลุ่มชาติพันธุ์อีก 8 กลุ่ม รวมทั้งกองทัพรัฐฉาน กะเหรี่ยงเคเอ็นยู ซึ่งได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ เมื่อ พ.ศ.2558

เจ้ายอดศึก ในฐานะผู้นำแห่งกองทัพรัฐฉาน แม้ว่าจะขึ้นนำการต่อสู้ได้เพียง 20 ปี แต่ได้แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยก็พยายามเป็นตะวันในยามเช้าที่สาดแสงไปสู่สันติภาพ และพร้อมที่จะคลายตัวก่อรูป ถึงฝันอันสูงสุดที่ชาวไทใหญ่ได้ตั้งปณิธานร่วมกันไว้