สวนสนามที่ไร้ “ปืน” 7 ทศวรรษ กู้ชาติไทใหญ่ เนื่องในวันชาติครบ 70 ปี (จบ)

ตอนที่ 1

ในตอนสุดท้ายนี้จะได้นำเสนอถึงประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่อง “สื่อ” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงานของขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ และการให้สัมภาษณ์พิเศษของ “พลโทเจ้ายอดศึก” ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน

ในประเด็น “สื่อ” ที่ผู้เขียนสังเกตได้ จากการไปร่วมงานวันชาติของรัฐฉานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้มาเยือนฐานที่มั่นของกองทัพรัฐฉาน ณ ดอยไตแลง นั่นคือ การเล่นเป็น เอาอยู่ กับ “สื่อ” เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างไทใหญ่ ให้สามารถมีตำแหน่งแห่งที่ ปรากฏ และยืนระยะอยู่ และได้รับความสนใจจากทั่วสารทิศ

กระบวนการสร้าง “สื่อ” มีผลต่อรูปธรรมอย่างที่ปรากฏข่าวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ไม่น้อยทั้งสื่อไทยและสื่อต่างชาติ

เจ้ายอดเมือง หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ แห่งกองทัพรัฐฉาน เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้านนี้

ขณะเดียวกันมีข้อน่าสังเกตต่อกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มอื่นๆ แต่ไม่ให้ถูกสนใจหรือพูดถึงมากนัก หรือมักถูกนำเสนอในฐานะของขบวนการที่โยงใยสัมพันธ์ เข้าไปมีส่วนเกาะเกี่ยว ยึดโยงกับขบวนการผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด ค้ามนุษย์ อาวุธ เป็นต้น (ไม่ใช่ว่าฉานไม่มีปัญหาเหล่านี้)

ส่วนสำคัญต่อเรื่องนี้ มาจากลักษณะที่ผ่อนคลาย (ในทัศนะของผู้เขียน) ของขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ มีการเตรียมการ และให้ข้อมูลที่จำเป็น มีวิธีการสื่อสารที่นำไปสู่การเข้าถึงแหล่งข่าว เปิดกว้าง และค่อนข้างเปิดใจ

ซึ่งอาจจะมีผู้เห็นแย้งว่า เพราะเขาต้องการเป็นข่าวอยู่แล้ว อีกทั้งทุกฝ่ายล้วนมี Agenda ที่ต้องการนำเสนอภาพหรือเนื้อหาในมุมที่ดีของตนเองทั้งนั้น

ในประเด็นนี้ อ.สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอุษาคเนย์ ให้ความเห็นว่า ผู้นำของ SSA มีการสร้างความสัมพันธ์กับสื่อ เปิดกว้างต่อการรายงานข่าว

จะสังเกตว่า ผลผลิตของสื่อไทย นำเสนอภาพของคนไทใหญ่ รวมทั้งผู้นำมานาน และนำเสนออยู่ตลอดเวลา SSA มีกระบวนการเล่นกับสื่อทั้ง Tradition media ที่เรียกว่าสื่อพื้นบ้าน ผ่านเพลง เป็นเพลงแนววัยรุ่นมากขึ้น มีลักษณะปลุกใจ มีความก้าวหน้าในการใช้สื่อสมัยใหม่ จะเห็นว่า มีประชาชนจำนวนมากผลิตคลิปวิดีโอและรายงานสดผ่านมือถือ ทำให้เกิดการแชร์บอกต่อในโลกออนไลน์ นี่ก็เป็นความก้าวหน้าไปอีกขั้นในการใช้สื่อที่ลงไปถึงระดับประชาชน

อ.สมฤทธิ์ ให้ข้อมูลต่อกรณีการสร้างความสัมพันธ์กับสื่อของไทใหญ่ เมื่อเทียบกับที่เคยได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอื่นว่า ทีมงานของไทใหญ่ มีการสร้างสายสัมพันธ์กับสื่อ และมีความ open มากๆ พบว่าสื่อหลายสำนักที่เคยทำข่าวในชาติพันธุ์อื่น ไม่ได้ถูก Keep ความสัมพันธ์มากแบบนี้

มีการเชิญสื่อจากหลายสำนัก ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นสื่อไทย อาจด้วยเพราะมีลักษณะร่วมบางอย่างที่ทำให้สื่อสารกันเข้าใจง่าย ในแง่วัฒนธรรม ภาษา

ขณะเดียวกันสื่อต่างประเทศก็มาจากหลายค่าย หนังสือพิมพ์ ทีวี รวมทั้งฟรีแลนซ์ ที่ทำงานให้กับสำนักข่าวชั้นนำในต่างประเทศ

สําหรับตัว พลโทเจ้ายอดศึก ก็เปิดพื้นที่และให้เวลากับสื่อ ในการตอบข้อซักถาม และให้สัมภาษณ์แบบเดี่ยว มีล่ามประจำตัวคอยแปลและตอบคำถาม จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลผลิตของสื่อไทยแทบทุกสำนัก ล้วนเคยสัมภาษณ์ พลโทเจ้ายอดศึก และเขียนประวัติมามากนักต่อนักแล้ว

อีกประเด็นที่สำคัญคือ เป็นเวลากว่า 70 ปีแล้ว ที่รัฐฉานได้ดำเนินเดินทางการต่อสู้เพื่อกู้ชาติของตนเอง สู้รบ เจรจาหยุดยิง รวมทั้งกระบวนการนำไปสู่จุดร่วมในการสร้างสันติภาพ จึงมีคำถามมากมายต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาสำคัญเหล่านั้น หลายคำถามถูกถามซ้ำๆ แต่คำตอบบางข้อยังยืนหยัด ยืนยันหนักแน่นต่อแนวทางการต่อสู้ และปณิธานอันมุ่งมั่น

ครั้งนี้ก็เช่นกัน “พลโทเจ้ายอดศึก” ถูกโฟกัส เจาะลึก จากบทสนทนาในการให้สัมภาษณ์สื่อ

“กำลังพยายามคุยกันอยู่ให้ขยับคืบหน้า เพราะตอนนี้ยังไม่คืบหน้า แต่ถ้าถามว่าถอยหลังไหม ก็ยังไม่ถอย หลังจากนี้ก็ต้องคุยกันต่อครับ จริงๆ ความต้องการของชาติพันธุ์หรือความต้องการของฝ่ายพม่า ตอนนี้เรื่องการเจรจาสันติภาพ พม่าก็เป็นเจ้าภาพ แต่กลุ่มชาติพันธุ์เราต้องการอะไร ต้องการเป็นสหพันธรัฐ ต้องการส่วนปกครองประเทศของตัวเอง”

นี่คือความคืบหน้าล่าสุดที่ พลโทเจ้ายอดศึก ตอบคำถามต่อสื่อมวลชน ภายหลังจากที่พม่าเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองที่รัฐบาลมาจาการเลือกตั้ง มีรัฐบาลพลเรือน กระบวนการสันติภาพยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจา

แต่ใต้บรรทัดของคำตอบนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ พลโทเจ้ายอดศึก ได้ยืนยันให้เห็นภาพของรัฐฉานในอนาคตว่า ต้องการให้มีรูปแบบการปกครองแบบ “สหพันธรัฐ” และต้องการมีส่วนในการปกครองประเทศของคนไทใหญ่เอง

ตลอดระยะเวลาการต่อสู้กว่า 70 ปี มีสัญญาณในเรื่องความเปลี่ยนแปลงอะไรที่ถือว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ แม้แต่การฝันถึงการปกครองรูปแบบสหพันธรัฐ พลโทเจ้ายอดศึก บอกกับสื่อว่า “ยังไม่ประสบความสำเร็จหรอกครับ แต่มันต้องพยายามก้าวหน้าทีละนิด”

ขั้นตอนต่อไปสำหรับรูปธรรมที่คาดหวังว่าจะนำไปสู่การปูทางในเรื่องนี้ พลโทเจ้ายอดศึก ได้ยื่นเงื่อนไขต่อรัฐบาลพม่าว่า “ให้เป็นสหพันธรัฐ ให้แก้ธรรมนูญ ให้เป็นส่วนปกครองตนเองของแต่ละรัฐ” และรอดูว่ารัฐบาลพม่าจะมีท่าทีต่อข้อเสนอเหล่านี้อย่างไร

เมื่อถามเจาะลึกลงไปอีกว่า แนวโน้มเรื่องสหพันธรัฐที่ท่านอยากเห็นรูปแบบจะเป็นอย่างไร? พลโทเจ้ายอดศึก ตอบว่า “เมื่อพูดถึงรูปแบบมันอยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่อยู่ที่ผมกำหนดขึ้นมา อยู่ที่ผู้มีอำนาจกำหนดขึ้นมาไม่ได้ แต่นักการทฤษฎีของสหพันธรัฐเนี่ยต้องมีรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และประชาชนแต่ละเผ่า ต้องแบ่งแยกอำนาจกัน สหพันธรัฐต้องเป็นแบบนี้”

สอดคล้องกับที่ อ.สมฤทธิ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จะต้องเอาประชาชนเป็นตัววัดความเป็นชาติ เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการกู้ชาติคือประชาชน พูดอย่างตรงไปตรงมาคือ ประชาชนต้องอยู่ดี กินดี มีเสรีภาพ หมายถึงว่า ชีวิตของพวกเขาจะต้องดีกว่าชาติที่ยังไม่ได้กู้ เช่นนั้นแล้ว คงไม่ต่างอะไรจากการที่เปลี่ยนแค่เพียงตัวหัวหน้าจากคนอื่น เผ่าอื่น มาเป็นคนชาติเดียวกันเท่านั้น

จึงเป็นความท้าทายของผู้นำด้วย ที่ให้คำมั่นว่า “ประชาชน” คือผู้ที่กำหนดความเป็นไป

เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อรัฐบาล ออง ซาน ซูจี และการที่จะเปลี่ยนแปลงในพม่าก็ขึ้นอยู่กับการแก้ รธน. และในสภาของพม่า ทหารก็ยังมีอำนาจอยู่ถึง 25%?

พลโทเจ้ายอดศึก กล่าวว่า “ออง ซาน ซูจี เค้าพยายามอยู่นะที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะตอนผมพบ ออง ซาน ซูจี ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ เค้าพูดคำพูด 3 คำ 1.ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงประเทศง่ายนิดเดียวถ้าผู้มีอำนาจทุกคนอยากเปลี่ยน ประเด็นที่ 2.ประชาธิปไตยเนี่ยต้องเริ่มต้นตั้งแต่โรงเรียนให้เด็กนักเรียนเข้าใจประชาธิปไตย คนแก่ต้องมีการอบรม อันที่ 3.เรื่องยาเสพติดที่เรามีนโยบายปราบยาเสพติด เค้าเห็นด้วยถ้าต่อไปก็ต้องปราบให้มันหมดสิ้นในสหภาพพม่า เค้าพูดแบบนี้ผมยังจำได้ ตอนนี้เค้ามีอำนาจมาแล้ว เค้าจะเปลี่ยนอย่างไรผมก็ยังจ้องดูเขาอยู่”

สำหรับปัญหายาเสพติดนั้น พลโทเจ้ายอดศึก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยังไม่เห็น นางออง ซาน ซูจี พูดเรื่องนโยบายยาเสพติดแบบชัดเจน จะต้องมาคุยกันต่อว่าจะเอาอย่างไร เพราะในส่วนของรัฐฉานมีนโยบายปราบที่ชัดเจนอยู่แล้ว

พลโทเจ้ายอดศึก ได้วาง “4 ยุทธศาสตร์” ที่มีต่อคนไทใหญ่ คือ

“1.ต้องเจรจาต่อไป ต้องจริงใจกับการเจรจากับรัฐบาล 2.คนไทใหญ่ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเค้าต้องรวบรวมพลัง ผมเชื่อมั่นว่าคนไทใหญ่ทุกคนรักชาติทุกคน แต่ไม่มีผู้นำว่ารักชาติจะทำแบบไหนไม่มีศูนย์ ผมสร้างศูนย์รวมชาติไทใหญ่เราจะพาเค้าไปไหน ที่ผมพูดไว้ว่าผมจะเป็นสะพานให้เค้า ให้ประชาชนมาเดิน 3.ต้องเจรจาให้ได้ปกครองของตัวเอง ของในรัฐฉาน ให้มีรัฐธรรมนูญของตัวเอง ให้มีทหารปกครองของตัวเอง ให้มีตำรวจของตัวเอง ให้มีสภาของตัวเอง ให้มีรัฐบาลกลาง ให้มีสหพันธรัฐ 4.ต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปสังคมไทใหญ่”

ยุทธศาสตร์การเมืองที่มีต่อคนไทใหญ่ จะทำได้หรือไม่ ต้องจับตาดูความเป็นไปของรัฐฉานอย่างต่อเนื่อง