กรองกระแส : แนวรบ พ.ศ.2560 เผด็จการ กับ ประชาธิปไตย อะนาล็อก ดิจิตอล

ปีพุทธศักราช 2560 เดินทางเข้ามาพร้อมกับโอกาสที่จะประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลังผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 168 โดยไม่มีการคัดค้าน

ขณะเดียวกัน ภายนอกที่ประชุม สนช. ได้มี “ภาคประชาสังคม” รณรงค์เพื่อคัดค้าน ต่อต้าน พร้อมกับมีรายชื่อผู้สนับสนุนจำนวนมากถึง 360,000 รายชื่อ

จำนวน 360,000 รายชื่อแทบไม่สร้างความหวั่นไหวอะไรเลยในที่ประชุม สนช. เพราะไม่เพียงแต่จะเทคะแนนให้อย่างท่วมท้นเป็นจำนวนมากถึง 168 โดยไม่ปรากฏการคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว

จึงนำไปสู่การเปรียบเทียบอย่างสำคัญ

1 แม้จำนวน 168 เสียงจะดำเนินไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเสียงคัดค้าน ต่อต้าน ที่ดังอึงคะนึงจากจำนวน 360,000 รายชื่อก็สร้างผลสะเทือนในทางความคิดอย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง

จากนั้นกลุ่ม “พลเมืองต่อต้าน ซิงเกิล เกตเวย์” ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในโลกออนไลน์ก็เพิ่มและพัฒนาปฏิบัติการผ่านกระบวนการ “เด็กปาก้อนหิน : F5” เข้าถล่มเว็บไซต์ของ “หน่วยราชการ”

ประสานกับการเจาะทะลวง “ข้อมูล” โดยกลุ่ม “แฮ็กเกอร์”

ไม่เพียงแต่นำไปสู่การสะท้อนให้เห็นการปะทะระหว่างแนวทางยุค “อะนาล็อก” กับแนวทางยุค “ดิจิตอล” เท่านั้น

หากยังโยงไปยัง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”

 

การต่อสู้ ความคิด

2 ยุคแห่งข้อขัดแย้ง

เหมือนกับว่า การต่อสู้ระหว่างยุค “อะนาล็อก” กับยุค “ดิจิตอล” โดยมี “คอมพิวเตอร์” เป็นพื้นที่ในการยึดครองและแย่งชิงจะเป็นเรื่องในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

แต่ก็สะท้อน 2 แนวทาง 2 ความคิดที่ขัดแย้งกัน

เหมือนกับว่า การต่อสู้ระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย” โดยมี “การเลือกตั้ง” เป็นพื้นที่ในการยึดครองและแย่งชิงจะเป็นเรื่องในทางการเมือง เป็นเรื่องในทางสังคม

แต่ก็สะท้อน 2 แนวทาง 2 ความคิดที่ขัดแย้งกัน

แนวทางแห่งยุค “อะนาล็อก” ดำเนินไปในลักษณะเป็นตัวแทนแห่งยุคเก่า ระบอบเก่า ขณะที่แนวทางแห่งยุค “ดิจิตอล” ดำเนินไปในลักษณะเป็นตัวแทนแห่งยุคใหม่ ระบอบใหม่

แท้จริงแล้ว แต่ละแนวทางล้วนดำรงอยู่ภายในสังคมมาอย่างยาวนาน

กล่าวสำหรับเรื่องในทางการเมือง การต่อสู้ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยปรากฏขึ้นตั้งแต่ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 เป็นต้น

บางครั้งประชาธิปไตยก็ยึดครอง บางครั้งเผด็จการก็ยึดครอง

กล่าวสำหรับเรื่องในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การต่อสู้ระหว่างอะนาล็อกกับดิจิตอลเริ่มขึ้นเมื่อดิจิตอลปรากฏตัวในเทคโนโลยีแห่งคอมพิวเตอร์

ระดับโลก ดิจิตอลได้ยึดครองไปแล้ว แต่ระดับสังคมไทยยังเป็นยุคแห่งอะนาล็อก

 

จุดเริ่ม ความเด่นชัด

ในห้วง 1 ทศวรรษ

หากมองจากปรากฏการณ์ทางการเมือง การต่อสู้ 2 แนวทางนี้เริ่มมีความเด่นชัดเป็นอย่างสูงช่วงก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และต่อเนื่องมากระทั่งหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

รูปธรรม 1 แห่งลักษณะครอบงำ คือ รัฐธรรมนูญ

ขณะที่ ทาง 1 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้ขยายความขัดแย้งและเพิ่มโอกาสให้กับการเติบใหญ่ของพรรคการเมืองที่สะท้อนจุดร่วมระหว่างกลุ่มทุนสมัยใหม่กับชนชั้นกลางรุ่นใหม่เป็นอย่างสูง ทาง 1 รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เข้ามาเพื่อตัดวงจรนี้ออกไป

เมื่อไม่สามารถทำให้วงจรนี้ดับสูญอย่างสิ้นเชิงจึงนำไปสู่รัฐประหารอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2557 ภายใต้คำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อันเป็นที่มาแห่งร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

แม้ในความเป็นจริงทั้งหมดนี้สะท้อนการต่อสู้ระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”

แต่ก็ไม่มีเผด็จการใดที่จะยอมรับในความเป็นเผด็จการของตน หากแต่จะปรากฏมาในรูปของประชาธิปไตยประชาชน หรือประชาธิปไตยแบบพม่า หรือประชาธิปไตยแบบจีน

กระนั้น กล่าวสำหรับสังคมไทย การปรากฏขึ้นของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้ทำให้ระยะห่างระหว่างเรื่องทางการเมืองกับเรื่องทางเทคโนโลยีได้เข้ามาสัมพันธ์กันอย่างอัตโนมัติ

เมื่อการปะทะระหว่างยุค “อะนาล็อก” กับยุค “ดิจิตอล” กลายเป็นการปะทะระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”

 

โรดแม็ป ปี 2560

กำหนดวัน ตัดสิน

การย่างเข้าสู่ปี พ.ศ.2560 จึงทรงความหมายเป็นอย่างสูงสำหรับสังคมการเมืองและเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

เพราะทางเทคโนโลยียืนยันอิทธิพลของ “อะนาล็อก” ยังมีอยู่

เพราะทางการเมืองแม้จะมีความพยายามของ “เผด็จการ” จากกระบวนการรัฐประหารในการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ ผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็ได้รับการท้าทายจากพลัง “ประชาธิปไตย” อย่างรุนแรง แหลมคมมากเป็นลำดับ

“การเลือกตั้ง” จึงทรงความหมายไม่เพียงแต่ต่อ “ประชาธิปไตย” หากแต่ยังทรงความหมายต่อการขับเคลื่อนของ “ดิจิตอล” ที่จะเข้าไปแทนที่ “อะนาล็อก” อีกด้วย