“อุทิศ เหมะมูล” ในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ และความปรักหักพังใน The Seventh Continent

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์เก่าของ “อุทิศ เหมะมูล” ใน Underground Buleteen (ฉ.4, ปี 2548) ก็ชวนให้นึกถึงตอนที่อุทิศเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ในนิตยสาร Movie Time ซึ่งผู้เขียนเองได้ตามอ่านงานวิจารณ์ของอุทิศมาโดยตลอด โดยในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มีตอนหนึ่งที่ถามว่า

ทะเยอทะยานกับการเขียนหนังสือมากน้อยแค่ไหน

“คิดว่าทะเยอทะยานนะ ถ้าไม่ทะเยอทะยานก็คงไม่เขียนหนังสือมั้งครับ ไม่มีความทะเยอทะยานเขียนหนังสือไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่รับผิดชอบชีวิตตัวเอง รับผิดชอบความฝันตัวเอง รับผิดชอบชะตากรรมตัวเอง รับผิดชอบคุณธรรมของตัวเอง ผมคิดว่าการเขียนหนังสือเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบสูง ถ้าไม่มีความทะเยอทะยานผมว่าทำไม่ได้หรอก ผมเชื่อเรื่องนี้”

ซึ่งในอีกหลายปีต่อมา อุทิศได้พิสูจน์ตัวเองจนประสบความสำเร็จเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2552 จากนวนิยายเรื่อง “ลับแลแก่งคอย”

เกริ่นถึงอุทิศ เพราะเกริ่นนำในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ได้เขียนถึงอุทิศในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ประจำนิตยสาร Movie Time ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่สะกิดให้ผู้เขียนย้อนกลับไปอ่านงานวิจารณ์ชิ้นเก่าของอุทิศอีกครั้ง (ในฐานะเศษกระดาษที่ยังฉีกเก็บใส่แฟ้มไว้)

อุทิศ

และเกิดแรงดลใจอยาก re-plays หยิบม้วนวิดีโอเทปพะยี่ห้อ “แว่นวิดีโอ” ออกมาดูและเขียนถึงหนังนอกกระแสหรือหนังอาร์ตที่อุทิศเคยเขียนสมัยนั้น

ในบทวิจารณ์ภาพยนตร์ Stranger than Paradise (1984, ผู้กำกับฯ จิม จาร์มุช) อุทิศตั้งคำถามได้อย่างน่าสนใจว่า

“ทุกวันนี้ชีวิตของผู้คนเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวจากแรงเฉื่อยแปลกแยกต่อกันมากขึ้น ผู้คนยิ่งดำดิ่งลงไปในโลก (อุดมคติ) ของใครของมันมากขึ้นทุกที ชีวิตผู้คนในยุค Post Modern ที่ต้องแบกรับชะตากรรมแห่งความงุนงงสงสัยในชีวิตที่เป็นผลพลอยต่อสารสาระอันตกค้างมาจากคนยุคก่อน นี่คือวิกฤตอันเบาหวิวที่เราไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า เราเกิดมาทำไม? อนาคตเพื่ออะไร?”

ผู้เขียนมิสามารถคัดง้างต่อข้อเขียนดังกล่าวได้เลย

และเห็นตรงไปตรงมาอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูเหมือนที่หนังหลายเรื่องหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาพูดถึง เช่น Doom Generation (1995) ของเกร็ก อารากิ

เมื่อตัวละครอย่างจอร์แดนกล่าวขึ้นมาลอยๆ ว่า “เราเกิดมาทำไมบนโลกใบนี้” (ก่อนนำไปสู่จุดจบอันเป็นโศกนาฏกรรมอันโหดร้าย) หรือหลายตัวละครที่ต้องทนทุกข์อยู่กับสภาพชีวิตซ้ำซากจำเจ ไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบกฎเกณฑ์ทางสังคมออกไปได้ มีชีวิตไปวันๆ อย่างซังกะตายใน American Beauty (1999) ของแซม เมนเดส ที่สะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของสังคมอเมริกันได้อย่างแสบสันต์

แต่ที่น่าขนลุกขนพองสุดๆ เห็นจะเป็นการวิพากษ์ตัวเองของครอบครัวๆ หนึ่งใน The Seventh Continent (1989) งานพิพากษาสังคมชั้นเยี่ยมของมิคาเอล ฮาเนเก้ ด้วยการนำเสนอการกระทำอัตวินิบาตกรรมยกครัว!

การนำเสนอภาพในลักษณะ Fade-in Fade-out ที่ทำให้ภาพในแต่ละซีนดูแล้วชวนหดหู่ อึดอัด เสมือนคนดูตกอยู่ในห้วงภวังค์ความคิดของตัวละครและเฝ้าติดตามอยากรู้อยากเห็นว่าคนในครอบครัวนี้ (อันประกอบไปด้วย พ่อ-แม่-ลูก) กำลังนึกคิดกระทำสิ่งใด

โดยเฉพาะการให้กล้องโคลสอัพเข้าไปที่ใบหน้าอันเฉยชาเยือกเย็นอยู่บ่อยครั้ง

แม้กระทั่งการสื่อสารด้วยดวงตาของตัวละครยังดูน่าฉงนสนเท่ห์

หนังเริ่มต้นด้วยกิจวัตรประจำวันปกติโดยทั่วไป ตื่นแต่เช้า อาบน้ำแต่งตัว รับประทานอาหารเช้า

พ่อ-แม่ (ซึ่งเป็นหมอด้วยกันทั้งคู่) แยกย้ายกันไปทำงาน ลูกรีบไปเข้าเรียน

ต้นฉบับอันคุ้นเคยที่ผู้คนส่วนใหญ่ยอมให้ชีวิตมีโซ่ตรวนถูกบังคับด้วย “เวลา” (ดังคำกล่าว เวลาเป็นเงินเป็นทอง) เวลาอันมีค่าจึงมีอำนาจเหนือเราในทุกๆ ทาง ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราจะต้องรีบไปให้ทันหรือทำให้ทันเวลา

เวลาจึงมีความน่ากลัวเคลือบแฝงอยู่ในทุกๆ อิริยาบถของชีวิตเรา

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว “มัน” เป็น “นาย” เหนือเราในทุกสิ่ง

การจำกัดชีวิตตัวเองในหลายๆ ส่วน เพื่อแลกกับความสุขสบายตามมาตรฐานชนชั้นกลางจำต้องมีคือหน้าที่การงานที่ดี บ้านหลังใหญ่โต รถยนต์หรูขับ พรั่งพร้อมไปด้วยเงินทองมากมาย และการยอมรับนับหน้าถือตาในสังคม ถ้าเพียงเท่านี้คือความพร้อมสมบูรณ์ แล้วทำไมคนที่มีพร้อมอยู่แล้วจึงคิดฆ่าตัวตาย!

The Seventh Continent ทำให้ผู้เขียนขบคิดว่าทำไมครอบครัวนี้ถึงพร้อมใจฆ่าตัวตายกันยกครัว อันเนื่องมาจากเหตุผลกลใด?

ภาพจาก https://www.amazon.co.uk/Seventh-Continent-DVD-Michael-Haneke/dp/B001UEGZBI

ยิ่งในฉากตอนล้างรถที่ฝ่ายภรรยานั่งร้องไห้ด้วยแล้วยิ่งน่าเวทนา อดสงสารไม่ได้จริงๆ

อีกทั้งในหลายๆ ฉากแววตาของคนในครอบครัวนี้มันช่างบ่งบอกถึงจิตวิญญาณอันอ่อนล้าโรยแรง (ต่อโลก) ที่เป็นอยู่เหลือเกิน

หรือมันคือการก้าวกระเถิบไปสู่อะไรสักอย่างที่ไม่มีตัวตน ที่ไม่สามารถจับต้องมันได้เลย

หรือมันคือความสุขจอมปลอมมวลสารในสุญญากาศที่มนุษย์ล้วนต่างเฝ้าถวิลหากันใช่หรือไม่!

ฉากทำลายล้างของครอบครัวมีอันจะกิน ส่งผลกระทบให้เราเห็นภาพของความเป็นปัจเจกสามัญได้ดียิ่งนัก ถ้าสิ่งที่คนในสังคมต้องการคือจุดสูงสุดของชีวิต ฉากความเป็นสามัญคงไม่ต่างกันเท่าใดนักกับการเกิดของมนุษย์ เมื่อแรกเกิดเราไม่มีอะไรติดตัวมาเลย ความเป็นสามัญของครอบครัวนี้จึงทำให้เราเห็นว่า ถ้าจากไปก็ต้องทำทุกอย่างให้กลับสู่สถานะเดิม

ความเป็นไปของครอบครัวนี้ได้เล่าผ่านจดหมายหลายฉบับไปยังพ่อแม่ของเขา (ที่แทบจะไม่มีเวลาไปหา)

จนมาถึงฉบับสั่งลาสุดท้าย ซึ่งหนังมิได้สร้างภาพชวนหดหู่แต่อย่างใด ทุกคนพร้อมใจกันตายทีละคนอย่างสงบ นอนหลับบนที่นอนเหมือนการนอนหลับปกติเฉกเช่นทุกวัน เหลือทิ้งไว้เพียงแค่ซากปรักหักพังภายในบ้าน ซึ่งแทบจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ขยะ” ดีๆ นี่เอง

ขยะที่คนในสังคมต่างขวนขวายหามันเพื่อให้ได้มาครอบครอง

อาจเป็นความคิดที่ขมขื่นเกินไป ถ้าการพรากชีวิตของตนคือการ “ปลดปล่อย”

แต่กฎเกณฑ์ใดเล่าจะมาคัดง้างหรือห้ามกระทำ การฆ่าตัวตายเป็นเพียงหลักทางศาสนาที่เรายึดถือกันมาช้านานว่าเป็นบาป (แม้แต่ต่างประเทศยังมีกฎหมายว่าด้วยการห้ามฆ่าตัวตาย) ความเชื่อเหล่านี้ล้วนสืบทอดกันมาโดยมนุษย์ด้วยกันเองทั้งนั้น

เมื่อมนุษย์คือผู้กำหนด มนุษย์ย่อมมีสิทธิ์ทำลายได้ไม่ใช่หรือ?

การปลดปล่อยตัวตนในทัศนะของครอบครัวนี้จึงถือเป็นสิทธิ์อันชอบธรรม

ซึ่งในอีกหลายปีต่อมาจนวันนี้ ดังที่เราได้เห็นกันแล้วว่าอุทิศได้ทุ่มเทเอาจริงเอาจังกับงานเขียนที่รักมากจริงๆ และมาไกลมากจากวันแรกที่ก้าวเข้ามา ซึ่งในตอนเริ่มอุทิศก็เหมือนนักเขียนหน้าใหม่โดยทั่วไป

“ผมพยายามบอกตัวเองว่าเดือนหนึ่งต้องเขียนเรื่องสั้นให้ได้เรื่องหนึ่ง มากสุดก็ 2 เรื่อง แล้วก็ส่งไปตามหน้านิตยสาร ก็พยายามเขียนเรื่องให้ลง อยากจะให้เดือนหนึ่งอย่างน้อยมีลง หรือโชคดีก็จะมีเรื่องสั้นตัวเองลง 2 เรื่อง”

และที่ทำควบคู่กันมากับการเขียนหนังสือคือการเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ในฐานะคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร Movie Time ในขณะนั้น ที่ว่าอุทิศเอาจริงเอาจัง มีวินัย จึงไม่ได้เป็นการพูดเกินเลยแต่อย่างใด หากย้อนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นเดียวกันนี้อีกครั้ง

“โดยปกติอาทิตย์หนึ่งผมต้องเขียนบทวิจารณ์ 2 เรื่อง ผมก็ใช้วิธีคือ ผมเขียนทีเดียวเลย ไปหามา แล้วก็ลุยดูภายใน 2 อาทิตย์ ผมก็หามา 16 เรื่อง แล้วก็ลุยดูภายใน 2 อาทิตย์ แล้วก็เขียนให้เสร็จ แล้วผมก็จะได้ฟรี 6 สัปดาห์ ซึ่งผมก็จะให้กับการเขียนหนังสือ ผมจัดเวลาแบบนี้ใช้กับการเขียนนิยาย ก็จะใช้เวลา 6 สัปดาห์นั่งเขียนนิยาย” (ในบทสัมภาษณ์อุทิศไม่ได้พูดถึงชื่อนิยายที่กำลังเขียนอยู่ ซึ่งในอีกหลายปีต่อมาคือนวนิยายรางวัลซีไรต์ ลับแลแก่งคอย นั่นเอง)

อุทิศอาจปลดปล่อยตัวตนเก่าในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์

เหมือนความตายเพื่อหลุดพ้นพันธนาการในภาพยนตร์ The Seventh Continent

แต่อุทิศกลับจุติตัวตนขึ้นใหม่ในฐานะนักเขียนนวนิยายคนหนึ่งได้อย่างที่ตั้งใจ

“อย่างมีวินัย ความมุ่งมั่นในการเขียนยิ่งเข้มชัด ทั้งกล้าแกร่ง เกรี้ยวกราด และเปราะบางปะปนกันไป สุดท้ายเวลาสองปีนั้นทำให้ผมรู้ซึ้งว่า มันเป็นโมงยามแห่งความรัก เป็นการงานแห่งความผูกพัน ผมข้ามผ่านความแคลงใจในตนเองต่อความ “อยาก” จะเป็นนักเขียน สู่ความเป็นนักเขียนเต็มคน” (ลับแลแก่งคอย,จากนักเขียนนวนิยายคนหนึ่ง)

ปัจจุบันอุทิศยังคงมีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ (แต่อาจไม่มีบทวิจารณ์ภาพยนตร์แล้ว) และมิใช่เพียงผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือที่เขียนเสร็จแล้ว

แต่อุทิศยังรู้จักประชาสัมพันธ์ตัวเองอยู่เบื้องหน้า โดยมีกลุ่มแฟนๆ เฝ้าติดตามกันอย่างเหนียวแน่น

และด้วยความสนใจในด้านวาดรูปที่เคยเรียนมา อุทิศจึงได้นำกลับมารับใช้ในผลงานใหม่ของเขา และได้จัดแสดงนิทรรศการภาพวาดเป็นของตัวเอง (อันเป็นที่มาของนวนิยายเรื่อง “ร่างของปรารถนา”)

ล่าสุดในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา อุทิศมีรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ “ติดอยู่ระหว่างเดินทาง” ผลงานรวมเรื่องสั้นลำดับที่ 4 ออกมาให้แฟนๆ ได้อ่านกัน (อุทิศมีผลงานรวมเรื่องสั้นออกมาแล้วด้วยกัน 3 เล่มคือ “ปริมาตรรำพึง” ปี 2548, “ไม่ย้อนคืน” ปี 2551 และ “สามานย์ สามัญ” ปี 2557)

ส่วนหนึ่งของบทความนี้ จึงถือเป็นการยกจอกดื่มให้กับ “อุทิศ เหมะมูล” ในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ควบคู่ไปกับความมานะอุตสาหะจนได้ประทับตรานักเขียนรางวัลซีไรต์ ซึ่งในอีกหลายปีต่อมา เราได้เห็นแล้วว่าอุทิศยังคงมุ่งมั่นอุทิศตนอยู่บนเส้นทางสายนักเขียนไม่เปลี่ยนแปลง

“ผมคิดว่าการเขียนหนังสือเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบสูง ถ้าไม่มีความทะเยอทะยานผมว่าทำไม่ได้หรอก ผมเชื่อเรื่องนี้”

ข้อมูลประกอบการเขียน

– UNDERGROUND BULEteen วารสารหนังสือใต้ดิน ฉ.4 ประจำเดือนเมษายน-มิถุนายน 2548

The Catcher in the Rye ผู้ไล่คว้าในทุ่งกว้าง อุทิศ เหมะมูล, เรื่องโดย เขี้ยว คาบจันทร์

เครดิตภาพประกอบ