ARE YOU THERE GOD? IT’S ME, MARGARET | ‘แตกเนื้อสาว’

นพมาส แววหงส์

ARE YOU THERE GOD? IT’S ME, MARGARET | ‘แตกเนื้อสาว’

 

หนังเรื่องนี้มีชื่อยาวเหยียดเป็นประโยคต่อเนื่องสองประโยค ทั้งถามหาและแนะนำตัวเองเสร็จสรรพ โดยเป็นหนังที่สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของจูดี้ บลูม ซึ่งตีพิมพ์วางตลาดเมื่อ ค.ศ.1970

เป็นนิยายสำหรับเด็กหญิงวัยผลิบาน ซึ่งเล่าเรื่องราวของมาร์กาเร็ต ไซมอน ผู้กำลังก้าวข้ามความเป็นเด็กหญิงวัยสิบเอ็ดแก่แดดที่ฮอร์โมนในร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลง เข้าสู่วัยสาวน้อยเต็มตัว

แรกเริ่มหนังสือก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้อ่านวัยรุ่นและนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ แถมยังได้รับรางวัลหนังสือต่างๆ หลายรางวัล

กระนั้น ในทศวรรษ 1970 หนังสือก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ ขนาดถูกแบนถูกปลดออกจากชั้นหนังสือ และกลายเป็นหนังสือ “ต้องห้าม” ในบางแวดวงที่ “ยึดถือขนบประเพณีอันดีงาม” เหตุเพราะเนื้อหาที่เปิดเผยตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยเฉพาะมีประเด็นที่อาจถือเป็นความละเอียดอ่อนของศรัทธาทางศาสนา

กว่าจะนำมาสร้างเป็นหนังเต็มรูปแบบในแนวดราม่า-คอเมดี้ได้ เวลาก็ล่วงไปถึงกว่า 40 ปี คนรุ่นที่หนังสือตั้งใจจะเขียนให้อ่าน (คือเด็กหญิงวัยก่อนแรกรุ่น) ก็โตขึ้นจนเลยวัยสาวสะพรั่ง เข้าวัยกลางคนไปแล้วล่ะ

หนังเลือกนักแสดงบทหลักๆ ได้ลงตัวดี โดยเฉพาะตัวละครหลักสามรุ่น คือ ย่า (แคธี เบตส์) แม่ (เรเชล แม็กอาดัมส์) และตัวมาร์กาเร็ต (แอบบี ไรเดอร์ ฟอร์ตสัน)

ซึ่งทำให้ได้ใจคนดูไปโข แม้ว่าตัวละครอื่นๆ จะมีบทบาทเพียงแค่รายล้อมวิบวับอยู่เหมือนดาวล้อมเดือน ไม่ว่าจะเป็นพ่อ ปู่ย่า เพื่อนฝูง ครู หนุ่มน้อยในดวงใจ หรือนักบวชในศาสนาที่เกี่ยวข้อง

มาร์กาเร็ตในวัยสิบเอ็ด เจอเข้ากับความยุ่งยากครั้งใหญ่ในชีวิตเนื่องจากพ่อแม่กำลังจะย้ายบ้านจากมหานครนิวยอร์ก ไปอยู่ชานเมืองในนิวเจอร์ซีย์

เธอต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนใหม่ ไปเรียนหนังสือในชั้นที่เทียบเท่ากับประถม 6 ต้องจากย่าซิลเวียผู้น่ารัก ต้องทิ้งชีวิตที่คุ้นเคยทั้งหมดไปอยู่ในถิ่นใหม่ บ้านใหม่ โรงเรียนใหม่ และหาเพื่อนใหม่

ชีวิตเยาว์วัยของมาร์กาเร็ตกำลังประสบปัญหาครั้งใหญ่หลวงถึงขั้นต้องหกคะเมนตีลังกาพลิกหน้าเป็นหลัง จะออกหัวออกก้อยยังไงก็ยังมืดมนอนธการ สุดปัญญาที่จะคิดได้

“เพื่อนในจินตนาการ” คนเดียวที่เธอเรียกหาและพูดคุยด้วยในความว่างเปล่าเบื้องบนคือ “พระเจ้า”

“ท่านอยู่ตรงนั้นหรือเปล่าคะพระเจ้า นี่หนูเอง มาร์กาเร็ตนะคะ”

“…เพี้ยง! ขอให้นิวเจอร์ซีย์ไม่เลวร้ายนักเถอะ”

ในวันที่เธอย้ายเข้าบ้านใหม่ แม่กำลังวุ่นจัดบ้านอยู่ ก็มีเพื่อนบ้านวัยเดียวกันมาเคาะประตูเรียกไปเล่นน้ำจากหัวฉีดรดน้ำในสนามหน้าบ้าน

มาร์กาเร็ตต้องสวมชุดว่ายน้ำของเพื่อน และเปรียบเทียบความล่าช้าของการเจริญเติบโตของทรวงอกแบนๆ ของเธอเป็นครั้งแรกกับเพื่อนผู้เริ่มมีร่างกายที่บอกความเป็นสาวแล้ว

นี่คือความวิตกกังวลถึงขั้นกลุ้มใจใหญ่โตในชีวิตของมาร์กาเร็ต

ท้องเรื่องของหนังอยู่ใน ค.ศ.1970 ดังนั้น บรรยากาศจึงเป็นหนังย้อนยุค พร้อมด้วยรายละเอียดต่างๆ ของบ้านช่องอาคารร้านค้า รถยนต์ แฟชั่นเครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน โทรศัพท์ โทรทัศน์ กิจกรรมและการละเล่นในชีวิต…

…ซึ่งเด็กสมัยนี้อาจไม่รู้จักหรือเห็นเป็นของแปลกตาเหมือนหลุดมาจากนอกโลก

นอกจากความกังวลว่าเธอจะมีพัฒนาการช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันแล้ว มาร์กาเร็ตยังรู้สึกถึงภาระหนักหน่วงที่พ่อแม่มอบให้ อย่างที่เด็กอื่นๆ อาจไม่ต้องแบกไว้

ครูประจำชั้นให้การบ้านเป็นการแนะนำตัวของนักเรียนทุกคน โดยให้เขียนสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบให้ครูอ่าน ทำให้มาร์กาเร็ตถูกเรียกตัวไปคุยด้วยเพราะเธอเขียนว่า “ฉันไม่ชอบวันหยุดทางศาสนา”

ครูอยากรู้ว่าทำไมเธอถึงไม่ชอบวันหยุดทางศาสนา และมาร์กาเร็ตตอบว่าเพราะเธอไม่มีอะไรให้ทำในวันหยุดทางศาสนา

เฮิร์บ พ่อเธอ (เบนนี ซาฟดี) เป็นยิว และบาร์บารา แม่เธอ (เรเชล แม็กอาดัมส์) เป็นคริสต์

พ่อแม่ไม่ใช่คนเคร่งศาสนาทั้งคู่ และตัดสินใจร่วมชีวิตกันด้วยความรัก ทั้งๆ ที่พ่อแม่ของตนไม่เห็นด้วย ถึงขั้นตัดพ่อตัดแม่ตัดลูกถ้าลูกยังดึงดันจะแต่งงานกันคนศาสนาอื่น

เฮิร์บกับบาร์บาราจึงตกลงกันว่าจะให้ลูกตัดสินใจเลือกศาสนาเลือกจะไปโบสถ์หรือไปวัดเองเมื่อโตพอจะเลือกได้ และไม่พาลูกไปร่วมกิจกรรมของศาสนาใดเลย

จึงเป็นเหตุผลที่มาร์กาเร็ตบอกว่า ไม่ชอบวันหยุดทางศาสนา

ครูก็เลยแนะนำให้มาร์กาเร็ตทำโครงการชิ้นสุดท้ายในชั้นเรียนในหัวข้อศาสนา

และนั่นคือจุดเริ่มที่มาร์กาเร็ตตั้งหน้าตั้งตาหาข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาเพื่อทำงานส่งครู และแถมยังอาจช่วยให้เธอมีความชัดเจนในการตัดสินใจเลือกได้ดีขึ้น

หนังเล่าถึงระยะเวลาเพียงปีเดียวในชีวิตของมาร์กาเร็ตซึ่งเรียนในเกรด 6 และจบลงด้วยเหตุการณ์ที่มาร์กาเร็ตเฝ้ารออยู่ทั้งปี ทั้งในแง่ของความเจริญเติบโตของร่างกาย และประกายแห่งความหวังที่โชนขึ้นในด้านความสัมพันธ์กับหนุ่มน้อยที่เธอสนใจ

เป็นเรื่องราวของการก้าวผ่านวัยที่น่ารัก การค้นพบตัวตนและค่านิยมของตัวเองโดยสลัดแรงกดดันจากคนรอบข้าง

และประเด็นที่แหลมคมเกี่ยวกับศรัทธาที่บดบังตามนุษย์จนทำให้แบ่งแยก “พวกเขา” ออกจาก “พวกเรา”

เป็นหนังที่เรียกรอยยิ้มและชวนอบอุ่นใจมากค่ะ •

ARE YOU THERE GOD? IT’S ME, MARGARET

กำกับการแสดง

Kelly Fremon Craig

แสดงนำ

Abby Ryder Fortson

Rachel McAdams

Kathy Bates

Benny Safdie

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์