นักเขียนรุ่นพี่

วัชระ แวววุฒินันท์
ภาพจากเฟซบุ๊ก วินทร์ เลียววาริณ

ผมกำลังจะเขียนถึงนักเขียนคนหนึ่งครับ ไม่ใช่ธรรมดาเสียด้วย เคยได้รับรางวัลซีไรต์มาแล้ว 2 ครั้ง เขาชื่อ “วินทร์ เลียววาริณ”

ความน่าสนใจไม่ใช่อยู่ที่ผลงานซีไรต์เท่านั้น แต่เป็นเส้นทางที่กว่าจะทำให้เขามีวันนี้ได้ ซึ่งก็คงเหมือนกับนักเขียนมีชื่อหลายๆ คนในโลกใบนี้ นั่นคือ “การทำงานหนัก”

วินทร์เป็นรุ่นพี่ผมครับ เป็นรุ่นพี่ร่วมสถาบันคือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แก่กว่าผม 4 ปี กล่าวคือ เมื่อผมเข้าไปเป็นน้องใหม่ที่คณะสถาปัตย์ พี่วินทร์กำลังเรียนอยู่ปีที่ 4 ซึ่งตอนนั้นไม่ได้รู้จักมักจี่ หรือสนิทสนมกันอะไร แม้ว่ารุ่นนี้จะใกล้ชิดกับรุ่นผมอย่างมากก็ตามที

จบมาหลายปีมากแล้ว ผมเองก็ยังท่องในโลกของตัวอักษรอยู่ ทั้งเขียนคอลัมน์บ้าง อ่านหนังสืออยู่เนืองๆ เมื่อมีโอกาส และชื่อของ “วินทร์ เลียววาริณ” ก็ปรากฏขึ้นมา พร้อมกับรางวัลซีไรต์ที่ได้รับ

ยิ่งเมื่อทราบว่าเป็นรุ่นพี่ที่คณะ ยิ่งแปลกใจใหญ่เลยว่า ไฉนผมถึงไม่รู้จัก

 

ต่อเมื่ออ่านข้อเขียนของรุ่นพี่คนนี้ในโอกาสต่อมา และได้บอกเล่าถึงประวัติชีวิต ก็ทำให้รู้ว่าวิถีชีวิตในคณะตอนนั้นของผมและของเขาแตกต่างกัน

พวกผมเป็นพวกบ้ากิจกรรม แต่พี่เขาเป็นเด็กเรียน

ในขณะที่ผมนั้นแทบทำงานออกแบบส่งไม่ทัน แม้ต้องอดหลับอดนอน แต่พี่เขาไม่ต้องอดนอนเลย แค่ใช้เวลากลางวันตามปกติก็ส่งงานได้ และดีด้วย แตกต่างกันอย่างชัดเจน ฮะ ฮะ ฮ่า

เมื่อจบมาแล้ว วินทร์ก็ทำงานตามที่เรียนมาคือเป็นสถาปนิก ในขณะที่ผมไม่เคยจับอาชีพนี้เลย แต่หันมาสนุกกับงานในวงการสื่อสารแทน ทั้งงานหนังสือ และงานโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างหลังนี่ได้ยึดเป็นอาชีพมาจนเกษียณ

แต่เส้นทางชีวิตของพี่เขานั้นโลดโผนกว่าผมมากนัก สิ่งหนึ่งก็คือการกล้าก้าวออกจาก comfort zone และรักที่จะเรียนรู้ แสวงหาสิ่งใหม่ๆ

พอจบสถาปัตย์ จุฬาฯ วินทร์ก็ลองไปสมัครทำงานที่สิงคโปร์ดู และก็มีบริษัทหนึ่งที่แม้ไม่ใช่บริษัทใหญ่ แต่เจ้าของบริษัทชื่นชอบในผลงานที่เป็นโปรไฟล์มาก จนเอ่ยชวนให้มาทำงานด้วยกัน

ที่นี่วินทร์ได้เรียนรู้ระบบการทำงานที่แตกต่างจากในเมืองไทย และได้ฝึกเรื่องภาษาด้วย ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในเวลาต่อมา

แต่สิ่งหนึ่งที่ได้อย่างมากคือการเรียนรู้การใช้ชีวิตในต่างแดนด้วยตัวเอง ที่ต้องดูแลให้ดีในภาวะการเงินที่ไม่ได้สะดวกสบายนัก ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไป

 

หลังจากทำงานที่สิงคโปร์ 4 ปี วินทร์ก็ก้าวสู่ความท้าทายใหม่ โดยการเดินทางไปนิวยอร์ก เมืองที่ร่ำรวยด้วยศิลปะแขนงต่างๆ ที่เขาสนใจ

คราวนี้เขาเบนเข็มออกจากอาชีพสถาปนิก แต่ไปเป็นนักศึกษา พร้อมหางานทำไปด้วย

วินทร์สนใจเรียนทางด้านครีเอทีฟ เพราะมันเป็นสิ่งที่เขาถนัด และสามารถประยุกต์ใช้กับงานหลากหลายอาชีพได้

วินทร์เลือกเรียนทางด้านโฆษณา แม้จะไม่ได้เรียนแบบเอาปริญญา แต่ก็ทำให้เขาเปิดกว้างกับโลกของงานสื่อสารได้อย่างยิ่ง

ในขณะเดียวกันก็หางานทำไปด้วยเพื่อยังชีพ ไม่ง่ายเลยกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ทุกอย่างมีราคาทั้งหมด และต้องแข่งขันกันสูง อาศัยที่เขามีฝีมือและเคยออกแบบการ์ดต่างๆ มาแล้ว ทำให้เขาได้รับงานทางด้านนี้ ผู้ว่าจ้างบอกว่างานของเขามีอารมณ์ขันแปลกๆ ดี

เมื่อได้สิ่งที่อยากได้มาแล้ว เขาก็มุ่งหน้ากลับเมืองไทย พร้อมความตั้งใจมั่นกับอาชีพคนโฆษณา เขาหิ้วผลงานไปสมัครกับบริษัทโฆษณาดังๆ หลายแห่ง คำถามแรกคือไม่มีปริญญาหรือ? เมื่อไม่มีก็รับไม่ได้

แต่สุดท้ายก็มีบริษัทหนึ่งที่แค่ดูผลงานของเขาก็รับทำงานทันที โดยไม่สนใจเรื่องใบปริญญา และที่นี่เขาก็ได้ใช้ศักยภาพที่มีสร้างสรรค์งานโฆษณาเด่นๆ ออกมามากมาย และหลายชิ้นก็ได้รับรางวัล

เป็นการพิสูจน์ถึง “ของดี” ที่มีอยู่ในตัว โดยเฉพาะจินตนาการและการสร้างสรรค์

 

และชีวิตก็ต้องเสี่ยงอีกครั้ง เมื่อวันหนึ่งเขาคิดจะผละจากอาชีพโฆษณาที่มีรายได้ดี ทำให้ครอบครัวอยู่ได้อย่างสบาย มาผจญภัยครั้งใหม่กับงาน “นักเขียนอาชีพ” เต็มตัว

จริงๆ แล้ว วินทร์ไม่ได้เพิ่งจะมาเขียนหนังสือในช่วงที่เรารู้จักเขา แต่เขาสนใจโลกของตัวอักษรมานานแล้ว มันเป็นงานที่ใช้ครีเอทีฟอย่างหนึ่ง เหมือนกับงานสถาปนิก หรืองานโฆษณา เพียงแต่ครีเอตกันคนละอย่างเท่านั้น

ตั้งแต่ตอนที่เรียนสถาปัตย์ เขาหารายได้จากการเขียนการ์ตูนผีเล่มละบาท ทั้งแต่งเรื่อง วาดภาพ จัดทำเป็นรูปเล่มส่งให้สำนักพิมพ์ไปพิมพ์ โดยได้ค่าจ้างเล่มละ 250 บาท แม้จะไม่ได้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่ก็เป็นการเรียนรู้การสร้างเรื่อง และการเล่าเรื่องได้อย่างดี

งานเขียนหนังสือของเขามาเริ่มตอนอายุ 28 ปี ค่อยๆ เขียน ค่อยๆ ทดลองในรูปแบบต่างๆ โดยใช้เวลาหาข้อมูลและฝึกฝนอยู่ 9 ปี จึงนำผลงานที่เขียนไว้มารวมเล่ม เป็นการกระโจนเข้ามาชิมลางในโลกหนังสือในขณะที่ทำงานอาชีพอื่นเป็นหลัก

นั่นเป็นก้าวแรก จากนั้นเขาก็ผลิตงานหนังสือเล่มออกมาให้คนอ่านได้อ่านอย่างต่อเนื่องไม่หยุด เพราะรู้จักการจัดสรรเวลามาตั้งแต่เรียนหนังสือ จึงสามารถทำงานหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กันได้

ช่วงสิบหกปีครึ่งที่เขาทำงานโฆษณาอยู่นั้น เขาได้ทำงานสองจ๊อบ คือ กลางวันทำงานโฆษณา ส่วนกลางคืนใช้เขียนหนังสือ ตอนนั้นคนจะเห็นเป็นภาพปกติของเขา คือ กินข้าวกลางวันไปด้วยพร้อมแต่งนิยาย

เป็นอย่างนี้ทุกๆ วัน

 

ใน Blockdit ของวินทร์ได้เล่าว่า

“ผมแต่งนิยายแบบเรื่องต่อเรื่อง เสร็จเรื่องหนึ่งก็เขียนเรื่องใหม่ทันที มีหรือไม่มีอารมณ์ก็ต้องเขียน ถือว่ากำลังอยู่ในช่วงฝึก”

ซึ่งการใช้ชีวิตในนิวยอร์ก และการรู้ภาษา ทำให้โลกของวินทร์เปิดกว้างอย่างมาก เขาได้ใช้เวลาอ่านหนังสือดีดีหลากหลายแนวมากมาย ซึ่งนิวยอร์กก็เอื้อต่อการมีหนังสือทุกชนิดที่คุณอยากอ่านจริงๆ

นั่นเป็นลิ้นชักชั้นดีให้เขาได้นำมาใช้กับงานเขียนอยู่ตลอดเวลา หากใครได้ติดตามอ่านข้อเขียนหรืองานประพันธ์ของเขา จะรู้ว่าเขาเป็นผู้รอบรู้เพียงไร และนั่นคือการทำงานหนักสำหรับคนจะเป็นนักเขียน

เมื่อเขาตัดสินใจจะเอาดีจากงานหนังสือให้ยั่งยืน เขาจะต้องทำยังไง

คำตอบคือ “เขาต้องเขียนหนังสือปีละ 4 เล่ม” เรื่องนี้เขาบอกว่า

“เขียนปีละ 4 เล่ม ฟังดูยาก แต่ก็เป็นไปได้ เพียงแต่ต้องอาศัยการจัดการ การวางแผน และวินัยในการทำงานขั้นสูงสุด พอรอดได้”

ชีวิตกับงานเขียนมาปะทุขึ้นในปี 2539 ในปีนั้นผลงานของเขาได้รับรางวัลจากคณะกรรมการกลุ่มต่างๆ ถึง 3 รางวัลด้วยกัน และในปีต่อมาชื่อเสียงของเขาก็พุ่งขึ้นอย่างมากจากการที่ผลงานเรื่อง “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ได้รางวัลซีไรต์ประจำปี 2540

และมาได้ซีไรต์รอบที่สองในปี 2542 กับผลงาน “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” ก็ยิ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จ และการยอมรับของคนในวงการ แม้จากผลงานทั้งสองจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากอาจารย์ และนักวิชาการอยู่บ้าง แต่เขาก็เชื่อมั่นและภูมิใจในสิ่งที่ทำ คือ การสร้างงานเขียนแนวใหม่ ขนบใหม่ๆ ขึ้นมา

และที่ว่าเขาได้ออกผจญภัยอีกครั้งก็คือ ในอายุเกือบ 50 ปี ที่หลายๆ คนจะหยุดนิ่งอย่างมั่นคงแล้ว แต่เขาได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัทโฆษณา เพื่อหันมาทำอาชีพ “คนทำหนังสือ” เต็มตัว

ช่วงแรกเขาต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ๊อบงานสายโฆษณา งานออกแบบปกหนังสือ และกราฟิกต่างๆ ไปด้วย ช่วงสองสามปีแรกมีงานออกแบบปกหนังสือที่เป็นฝีมือของเขานับร้อยปก

จนวันหนึ่งเขาก็เลิกอาชีพเสริม นั่นหมายความว่าเงินรายได้ทุกบาททุกสตางค์ต้องมาจากการเขียนหนังสืออย่างเดียว จากการที่เป็นนักเขียนอาชีพเต็มตัว

จนบัดนี้เขาเขียนเรื่องสั้นและบทความไปหลายพันเรื่อง เขียนหนังสือราวร้อยกว่าเล่ม

 

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการทำงานหนัก และน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งเมื่อเขาได้รับเกียรติสูงสุดระดับประเทศ เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมคัดเลือกให้เขาได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2556”

วินทร์เคยบอก คำจำกัดความของนักเขียนอาชีพ คือ ต้องสนุกกับงาน และเขาเคยบอกนักเขียนรุ่นน้องเสมอว่า อยากจะเป็นนักเขียนอาชีพนั้นทำได้ แต่ราคาที่ต้องจ่ายนั้นสูง คือ

หนึ่ง ไม่กลัวงานหนัก สอง ทำงานทันเส้นตายได้ และสาม อดทนและใจเย็น อย่ารีบร้อนที่จะมีชื่อเสียง

วินทร์ได้ทิ้งท้ายใน Blockdit ของเขาตอนนี้ว่า

“ผมเริ่มงานเขียนโดยไม่เคยคิดจะเป็นนักเขียน ผมทำงานด้วยไฟอยากทำ ทำงานด้วยความสุข และท้ายที่สุดมันก็งอกงามเป็นผลลัพธ์

หวังเพียงว่ามันจะเป็นอาชีพสุดท้ายของผม”

นี่คือชีวิตกับการทำงานของนักเขียนรุ่นพี่ของผมที่ชื่อ “วินทร์ เลียววาริณ” ครับ •

 

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์