THE SON : ‘พ่อแม่รังแกฉัน’

นพมาส แววหงส์

ฟลอเรียน เซลเลอร์ เป็นนักเขียนนวนิยาย นักเขียนบทละคร ผู้กำกับละครและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ซึ่งมีผลงานภาพยนตร์ที่ทำให้เขาเป็นที่ยกย่องไปทั่วโลกเมื่อสองปีก่อน ด้วยหนังเรื่อง The Father

หลายคนคงยังซาบซึ้งติดตรึงใจอยู่กับ The Father ที่ได้นักแสดงฝีมือเยี่ยมมารับบทเป็นพ่อ (แอนโธนี ฮอปกินส์) และลูกสาว (โอลิเวีย คอลแมน กับ โอลิเวีย วิลเลียมส์)

คราวนี้หนังที่ตามมาในไตรภาคภายใต้แก่นเรื่องเดียวกัน คือ The Son โดยมี The Mother อีกเรื่องที่ยังไม่ได้กลายมาเป็นภาพยนตร์

ดูจากหลายสื่อแล้ว The Son ได้รับเสียงวิจารณ์ในเชิงลบพอควร…ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมาจากความคาดหวังของคนดูจากผู้กำกับและผู้เขียนเรื่องคนนี้…แม้ว่าโดยสัตย์จริงแล้ว จะไม่ใช่หนังไร้คุณภาพปราศจากความคิดดีๆ ซึ่งแฟนหนังทั้งหลายพึงปล่อยผ่านไปเสียเฉยๆ โดยไม่แวะเวียนเข้าไปชมเมื่อมีโอกาส

ผู้เขียนเองก็มีความคาดหวังอยู่เหมือนกันนะคะ แต่ก็เห็นสิ่งงดงามมากมายในหนัง อีกทั้งยังทำให้คิดต่อไปถึงการเป็นพ่อแม่และการเลี้ยงดูลูก ซึ่งเชื่อว่า ณ จุดหนึ่งในหนัง คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องนึกทบทวนบทบาทของตัวเองไม่มากก็น้อย

พีต มิลเลอร์ (ฮิว แจ็กแมน) เพิ่งจะได้ลูกชายจากเบธ (วาเนสซา เคอร์บี)

ขณะที่พ่อแม่ทั้งสองคนกำลังเห่อกับลูกชายที่เพิ่งคลอด และถนอมกล่อมเกลี้ยงอย่างมดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม ผลัดเวรกันอดหลับอดนอนไปกับลูก ก็มีเสียงเคาะประตูขัดความเป็นส่วนตัวของครอบครัวขึ้น

เคต (ลอรา เดิร์น) มาเคาะประตูเรียกท่ามกลางความกระอักกระอ่วนใจของพีทที่เกรงใจภรรยาใหม่จากการที่อดีตภรรยาตามมารบกวนถึงบ้าน

เคตบอกว่าเธอมีเรื่องด่วนที่ต้องขอให้พีตจัดการในฐานะพ่อของนิโคลัส (เซน แม็กกราธ) เพราะเธอหมดปัญญาจะจัดการกับลูกชายวัยสิบเจ็ดแล้ว

เธอเพิ่งทราบว่านิโคลัสออกจากบ้านทุกวัน แต่ไม่ได้ไปโรงเรียนมาหนึ่งเดือนแล้ว

เขาดูเหมือนจะเป็นโรคซึมเศร้าและหมดอาลัยตายอยากในชีวิต แถมยังทำตัวเป็นปรปักษ์กับแม่โดยไม่รู้สาเหตุ เพราะลูกไม่ยอมปริปากบอกอะไรเลย

เคตขอให้พีตช่วยจัดการพูดกับลูกชาย

นิโคลัสขอย้ายมาอยู่กับพ่อในอพาร์ตเมนต์หรูกลางมหานครนิวยอร์ก เนื่องจากพีตเป็นทนายความที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และมีลูกความที่เป็นคนใหญ่คนโตซึ่งอาจจะมีตำแหน่งทางการเมืองในระดับผู้นำ

เบธ ภรรยาคนใหม่ของพีท ออกจะอึดอัดที่นิโคลัสจะมาอยู่ด้วย แต่เธอก็อนุโลมตามใจสามี

พีตเชื่อว่านิโคลัสเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางดี เพราะดูท่าว่าเขาจะไปโรงเรียนทุกวัน และคุยเรื่องเพื่อนๆ และเรื่องสาวๆ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปกติวิสัยของหนุ่มวัยรุ่น

แต่พีตกลับได้พบว่านิโคลัสยังออกจากบ้านทุกวัน โดยไม่ได้ไปโรงเรียน เพียงแค่ไปเดินเตร็ดเตร่ไร้จุดหมายไปเรื่อยๆ โดยสร้างเรื่องหลอกโรงเรียนไม่ให้แจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่าเขาไม่ได้ไปโรงเรียน

พีตเดินทางไปวอชิงตัน ดี.ซี. และแวะไปเยี่ยมพ่อ (แอนโธนี ฮอปกินส์) ในคฤหาสน์หรูหรา ทว่า พ่อก็เหมือนคนแปลกหน้าสำหรับเขา พีตเปรยว่าเขาจะไม่รับงานชิ้นสำคัญในฐานะที่ปรึกษาของวุฒิสมาชิก เนื่องจากเขาทิ้งลูกชายวัยรุ่นที่กำลังมีปัญหาไว้ไม่ได้

ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าพีตเป็นลูกชายของครอบครัวที่พ่อเห็นงานสำคัญและแทบไม่ได้เลี้ยงดูใกล้ชิดลูกเลย พีตไม่อยากเห็นตัวเองทำอย่างเดียวกันนั้นกับลูกชายของเขา ไม่อยากให้ลูกโตขึ้นมาอย่างเด็กว้าเหว่เพราะขาดพ่อคอยสนับสนุนดูแล

ฉากระหว่างแจ็กแมนกับฮอปกินส์ฉากนี้เชือดเฉือนกันเลือดสาดเลยละค่ะ…ฝีมือล้วนๆ

แรกทีเดียว เราอาจจะเข้าใจว่า “ลูกชาย” ตามชื่อหนัง น่าจะหมายถึงนิโคลัส

แต่เอาเข้าจริงแล้ว การเดินเรื่องราวละครทั้งหมดทำให้เห็นว่าตัว “ลูกชาย” คือพีตต่างหาก…พีตคือตัวละครหลักในการเดินเรื่อง

การที่เขาโตขึ้นในครอบครัวที่ผู้เป็นพ่อเห็นงานสำคัญกว่าครอบครัว จนไม่ได้ดูแลใกล้ชิดลูกเลย ทำให้พีทต้องการและตั้งใจจะทำตัวเป็นพ่อที่ดีของลูกเมื่อถึงเวลาที่เขาเป็นพ่อบ้าง

เขาใกล้ชิดสนิทสนมกับนิโคลัสในวัยเด็กมาก ซึ่งเป็นเหตุให้นิโคลัสหัวใจสลายเมื่อพีตหย่าขาดจากแม่ของเขา และทิ้งเขาไปสร้างครอบครัวใหม่ เหมือนไม่ต้องการเขาอีกต่อไปแล้ว

นี่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าและหมดกะจิตกะใจจะมีชีวิตต่อไปในอนาคต

สมัยเด็กๆ คุณครูเคยนำคำกลอนของพระยาอุปกิตศิลปสารมาสอนในเรื่อง “พ่อแม่รังแกฉัน” ซึ่งไม่ได้แปลว่าพ่อแม่ทุบตีทำร้ายร่างกายลูก ทว่า รักและตามใจลูกจนลูกเสียคนและไม่เป็นโล้เป็นพายไปเลย

หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงคำกลอนเรื่องนั้น โดยเฉพาะในฉากหนึ่งซึ่งเชื่อว่าคนเป็นพ่อแม่ทุกคนจะอดไม่ได้ที่จะต้องหวนนึกประเมินตัวเองอีกครั้งสำหรับบทบาทของตัวเองในการเลี้ยงลูก เหมือนดังที่ตัวละครย้อนกลับไปประเมินตัวเองว่าเขาทำตัวเป็นพ่อในแบบที่เขาพยายามหลีกเลี่ยงเลย

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผู้เขียนได้อ่าน The Prophet ของคาลิล ยิบราน พบข้อความหลายตอนที่โดนใจจนกลายมาเป็น “ปรัชญาชีวิต” (ตามชื่อหนังสือที่แปลโดยอาจารย์ระวี ภาวิไล)

ตอนหนึ่งกล่าวว่า “บุตรของเธอ…ไม่ใช่บุตรของเธอ เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ”

และเมื่อเพิ่งได้เป็นแม่ใหม่ๆ มีบุคคลที่ผู้เขียนเคารพนับถือคนหนึ่งสอนเรื่องการเลี้ยงลูกว่า “เลี้ยงไปเถอะแกเอ๋ย เลี้ยงยังไงๆ ก็เลี้ยงผิดอยู่ดี”…ซึ่งไม่ได้แปลว่าลูกจะไม่ได้เป็นคนดี หรือมีอนาคตที่งดงาม… แต่หมายความว่า เขาจะผิดไปจากสิ่งที่เราคาดไว้…

ไม่ว่าใครจะวิพากษ์วิจารณ์หรือชอบไม่ชอบหนังเรื่องนี้ด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม แต่หนังยังทิ้งให้ผู้เขียนอึ้งไปพักใหญ่เมื่อหนังจบลง พร้อมกับจะยังตั้งตารอ The Mother ในไตรภาคของฟลอเรียน เซลเลอร์ โดยไม่ยอมพลาดแน่ๆ… •

THE SON

กำกับการแสดง

Florian Zeller

นำแสดง

Hugh Jackman

Laura Dern

Zen McGrath

Vanessa Kirby

Anthony Hopkins

 

ภาพยนตร์ |  นพมาส แววหงส์