GLASS ONION : ‘ผู้ทำลาย’

นพมาส แววหงส์

ยุคสมัยของเราได้เห็น “การแตกสลายครั้งใหญ่” ของระเบียบแบบแผนต่างๆ ที่ยึดสังคมเอาไว้ด้วยกันมาช้านาน

ไม่รู้จะใช้คำภาษาไทยอะไรดีจึงจะโดนใจ สำหรับคำว่า Disruption ซึ่งเป็นการอธิบายวิถีและแนวโน้มของโลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและสื่อโซเชียลอันทรงอิทธิพลมหาศาลต่อชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

…แตกแยก แตกหัก แตกร้าว แตกฉีก แตกฉาน แตกตัว หรือแตกสลาย…

ถ้าจะอธิบายตามขนบ “ตรีมูรติ” ของฮินดู สมัยปัจจุบันของเราก็ถึงยุคของพระศิวะผู้ทำลาย หลังจากมีพระพรหมผู้สร้างและพระวิษณุผู้ธำรงรักษามาแล้ว

ส่วนวิถีพุทธบอกว่า สิ่งใดมีเกิด ก็ย่อมมีการแตกดับไปเป็นธรรมดา

Glass Onion พูดถึงกลุ่มตัวละครชนชั้นหัวกะทิในสังคมที่เรียกขานตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “ผู้ทำลาย” (Disruptors)

จะเป็นผู้ทำลายอย่างไร ก็ไม่ได้แจกแจงชัดเจน เพียงแต่ว่าแต่ละคนเป็นผู้ทรงอิทธิพลในสังคม

ไมล์ส บรอน (เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) เป็นนักธุรกิจมหาเศรษฐีเจ้าของกิจการเทคโนโลยี ประมาณเดียวกับสตีฟ จ็อบส์ ผู้ล่วงลับ และมีการค้นคว้าทดลองพลังงานไฮโดรเจน ที่จะเข้ามาทดแทนเชื้อเพลิงแบบเดิมๆ

เบอร์ดี้ เจย์ (เคต ฮัดสัน) เป็นดารานักแสดงที่ผันตัวเองไปทำกิจการเสื้อผ้า ซึ่งมีกำลังผลิตอยู่ในประเทศโลกที่สาม

แคลร์ (แคธริน ฮาห์น) เป็นผู้ว่าการรัฐ ซึ่งกำลังเข้าชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิก

ดุ๊ก โคดี้ (เดฟ บอทิสตา) เป็นอินฟลูเอนเซอร์ในโลกโซเชียล

ฯลฯ ฯลฯ

อยู่มาวันดีคืนดี…หรือวันร้ายคืนร้ายก็ไม่รู้…มิตรสหายในกลุ่มผู้ทำลายที่ปังอยู่ในสังคมนี้ ก็ได้รับกล่องปริศนากล่องเบ้อเริ่มคนละกล่อง ซึ่งรวมหัวกันคิดการเฉลยปริศนาเพื่อเปิดกล่องที่มีกลไกซับซ้อนซ่อนเงื่อนนี้จนได้

เจอบัตรเชิญไปร่วมไข “ปริศนาฆาตกรรม” ครั้งสำคัญบนเกาะส่วนตัวของมหาเศรษฐีไมล์ส บรอน ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใกล้ชายฝั่งประเทศกรีซ

ทุกคนต้องไปขึ้นเรือยอตช์ส่วนตัวที่ไมล์สส่งมารับ รวมทั้งยอดนักสืบเบนัวต์ บลังก์ (แดเนียล เครก) ผู้ที่ก่อนหน้านี้กำลังเบื่อสุดทนกับการไม่มีคดีฆาตกรรมอำพรางที่ท้าทายให้เขาต้องไขปริศนา

ท่ามกลางการทักทายฉันมิตรในวงสังคมชั้นสูงที่อดจะเขม่นและโอ้อวดกันไม่ได้ สาวสวยนางหนึ่งก็สะอิ้งกายเข้ามา-แอนดี้ แบรนด์ (จาแนลล์ โมนาเอ) ส่งผลให้แทบทุกคนหันไปมองตะลึงตะไล อย่างไม่คาดคิดว่าบุคคลคนนี้จะได้รับเชิญและตัดสินใจมาร่วมงานด้วย

เมื่อเรือแล่นเข้าไปใกล้เกาะ มหาเศรษฐีเจ้าของเกาะก็พยายามสร้างภาพแห่งความประทับใจต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นท่าเทียบเรือและรูปปั้นเจ้าสมุทรใสแจ๋วเหมือนน้ำแข็งสลัก โผล่ขึ้นจากใต้น้ำเพื่อต้อนรับขึ้นจากเรือ

แถมบนหาดหน้าคฤหาสน์อลังการ ยังมีไมล์สนั่งเล่นกีตาร์เพลง Blackbird ซึ่งบอกว่าเป็นกีตาร์ตัวที่พอล แม็กคาร์ตนีย์ ใช้แต่งเพลงนี้อยู่ซะด้วย

อ้อ ไหนๆ ก็พูดถึงวง เดอะ บีตเทิลส์ แล้ว ก็บอกซะเลยว่า ชื่อหนัง Glass Onion ได้มาจากเพลงของวงยอดฮิตยุคซิกซ์ตี้ส์-เซเวนตี้ส์ ซึ่งเป็นเพลงในอัลบั้มชื่อ White Album

ไมล์สโอ้อวดความเป็นมหาเศรษฐีโกฏิล้านของเขาเสียให้สะใจ ด้วยการพาเพื่อนๆ เข้าไปชมห้องนั่งเล่นอันเป็น “พิพิธภัณฑ์” สมบัติล้ำค่าของเขา โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ภาพ “โมนาลิซา” ตัวจริงของจริงที่ได้มาจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ และออกแบบกลไกปกป้องโจรกรรมและวินาศกรรมเอาไว้อย่างซับซ้อน

ไม่ต้องห่วงเลยค่ะ “กฎของเมอร์ฟี” (Murphy’s Law) บอกไว้ว่า “อะไรที่อาจผิดพลาดได้นั้นจะต้องผิดพลาดให้เห็น”

ดังนั้น โมนาลิซา “ตัวจริงเสียงจริง” (ที่ว่าเสียงจริงนั่นมาจากเพลงของแนต คิง โคล เลย) จึงเป็นไปตามกฎนี้และกลายเป็นประเด็นใหญ่ของความหายนะในตอนจบ

หนังฆาตกรรมอำพรางลึกลับซับซ้อนชวนพิศวงและชวนเวียนหัวเรื่องนี้ค่อยๆ เผยเรื่องออกมาทีละเปลาะๆ และเป็นธรรมดาของเรื่องสืบสวนประเภทนี้ สิ่งที่เห็นย่อมไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่

ปฏิกิริยาของผู้เขียนตอนดูหนแรกนั้น ออกจะต่อต้านและไม่ชอบใจกับฉากตอนใกล้จบอันดูเหมือนจะสร้างความสะใจโก๋ให้แก่แทบทุกฝ่าย…เป็นความสะใจจากการได้ทำลายล้างในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน…ทำลายข้าวของเพื่อท้าทายอำนาจที่สูงสุดเอื้อมและเป็นอำนาจซึ่งดูเหมือนจะเชิดหน้าลอยนวลอยู่ได้โดยไม่ยำเกรงสิ่งใด แถมยังได้รับการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่จากผู้คนที่เขาสามารถเอื้อผลประโยชน์ให้ได้

รู้สึกเหมือนกับว่าการกระทำเยี่ยงนี้เป็นการส่งเสริมสัญชาตญาณแห่งการทำลายอย่างไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งก็ดูเหมือนว่าการกระทำนั้นจะส่งแรงกระตุ้นให้คนอื่นทำตามเพื่อความสะใจและปลดปล่อยตนเองเหมือนกัน

แต่ครั้นย้อนกลับมานึกดูอีกที “การทำลาย” นี้คงเป็น “สาร” โดยเฉพาะของหนังเรื่องนี้ ซึ่งว่าด้วยการทำลายและผู้ทำลายโดยตรง ถึงที่สุดแล้ว ผู้ทำลายก็โดนพรรคพวกผู้ทำลายด้วยกันเอง ทำลายล้างให้ย่อยยับลงจนได้นั่นแหละ

หนังเพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม แม้จะยังไม่ทราบผล แต่ผู้เขียนเชื่อว่า คนในวงการภาพยนตร์จะนึกสนุกไปกับ “มุข” ต่างๆ ที่บทภาพยนตร์สอดแทรกสอดใส่เข้ามา เป็นมุขของคนวงใน ซึ่งเก็บเล็กผสมน้อยมาจากเรื่องโน้นเรื่องนี้ของคนดังในวงการ

อาทิ หนึ่งในของตกแต่งชิ้นงามคือ “เปียโนแก้ว” ซึ่งมีคนอุทานว่า “นั่นเปียโนของลิเบอราชีเลยนะ”

หรือภาพเคลื่อนไหวของเซเรนา วิลเลียมส์ บนผนังที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนนอกภาพโดยเสนอจะสอนเทนนิสให้

เครื่องดื่มกัมปูชาผสมแอลกอฮอล์ ซึ่งนักแสดงคนดัง จาเร็ด เลโต สนับสนุน

ซอสพริกของเจเรมี เรนเนอร์ ซึ่งเบนัวต์ บลังก์ ใช้หยอดใส่ตาเพื่อขับน้ำตาเหมือนตัวเจเรมีเอง เป็นต้น

แล้วยังมีองค์ประกอบของภาพและเรื่องราวที่เก็บเล็กผสมน้อยประมวลเข้ามาเป็นมุขขำขันให้แก่คนช่างสังเกตอีกเต็มไปหมด

ไม่เว้นแม้แต่ฉากสั้นๆ เพียงแว่บเดียว ที่ฮิว แกรนต์ เปิดประตูรับคนมาเยือน ในฐานะเพื่อนร่วมแฟลตกับยอดนักสืบที่กำลังเบื่อแสนเบื่อจนหมกตัวอยู่ในอ่างอาบน้ำเป็นวันๆ

สงสัยว่าหนังคงอุบเอาไว้ขยายความต่อในภาคสามที่น่าจะตามมาอีกละมัง… •

GLASS ONION

กำกับการแสดง

Rion Johnson

นำแสดง

Daniel Craig

Edward Norton

Kate Hudson

Janelle Monae

Dave Bautista

Kathryn Hahn

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์