เมื่อ ‘หนังเกาหลี’ ของ ‘ผู้กำกับฯ กัมพูชา’ มีลุ้น ‘ออสการ์’

คนมองหนัง

สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์แห่งสหรัฐเพิ่งประกาศรายชื่อชอร์ตลิสต์ของหนังต่างประเทศจำนวน 15 เรื่อง ที่มีลุ้นเข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้าย เพื่อเข้าชิงรางวัลสาขา “ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม” ในงานมอบรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95

(รายชื่อหนัง 5 เรื่องที่จะเป็นผู้เข้าชิงรางวัลสาขานี้บนเวทีออสการ์จะประกาศในวันที่ 24 มกราคม 2566 ส่วนงานมอบรางวัลจะจัดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม)

น่าสนใจว่า 1 ในหนังต่างประเทศ 15 เรื่องที่ผ่านเข้ารอบชอร์ตลิสต์ครั้งนี้ มีภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวกัมพูชารวมอยู่ด้วย

หนังเรื่องนั้นคือ “Return to Seoul” ผลงานของ “ดาวี ชู” (Davy Chou)

“ดาวี ชู” (Davy Chou)

“Return to Seoul” เล่าเรื่องราวของตัวละครชื่อ “เฟร็ดดี้” หญิงสาวชาวเกาหลี ที่เมื่อแรกเกิด พ่อแม่แท้ๆ ของเธอ ตัดสินใจส่งตัวลูกสาวไปยังศูนย์สงเคราะห์เด็ก (ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้ถูกอธิบายอย่างกระจ่างชัดตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง) ก่อนจะมีพ่อแม่บุญธรรมชาวต่างชาติรับเธอไปเลี้ยงดูที่ฝรั่งเศสจนเติบใหญ่

หลายปีผ่านไป หญิงสาวเชื้อชาติเกาหลีที่มีสัญชาติและถือพาสปอร์ตฝรั่งเศส ได้เดินทางกลับมายังประเทศบ้านเกิด เธอพยายามสานสัมพันธ์กับผู้คนมิตรสหายมากหน้าหลายตา รวมทั้งตัดสินใจไปเผชิญหน้าพ่อแม่แท้ๆ ของตนเอง รวมถึงบรรดาเครือญาติ แต่สุดท้าย เธอก็ไม่ได้มีความสนิทสนมกลมเกลียวหรือรักใคร่คุ้นเคยกับพวกเขา

ยิ่งนานวัน “เฟร็ดดี้” ยิ่งตระหนักว่าเธอไม่ใช่คนของใคร ไม่ใช่คนของที่นี่ ไม่ใช่คนของที่นั่น และอาจไม่ใช่คนของพื้นที่ (ประเทศ) ใดเลยแม้เพียงสักแห่งเดียว บนโลกอันกว้างใหญ่ (แต่เวิ้งว้างและเคว้งคว้าง) ใบนี้

“ดาวี ชู” ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ https://asianmoviepulse.com/ ว่า ตัวละคร “เฟร็ดดี้” คือภาพแทนของ “พลัง” อะไรบางอย่าง ซึ่งไม่ได้มีลักษณะเป็น “แง่บวก” หรือ “แง่ลบ” โดยชัดเจน ทว่า นี่คือ “พลัง” ที่อัดแน่นไปด้วยความย้อนแย้งต่างๆ นานา เช่นเดียวกับความขัดแย้งมากมายของชีวิตมนุษย์ในโลกความจริง

ผู้กำกับภาพยนตร์รายนี้จึงต้องการจะถ่ายทอด “พลังแห่งความย้อนแย้ง” เหล่านั้น ออกมาในหนังยาวเรื่องล่าสุดของเขา

สำหรับกรณีของ “เฟร็ดดี้” “พลังอันย้อนแย้ง” ในความเป็นมนุษย์ของเธอ จะเชื่อมโยงกับคำถามสำคัญที่ว่าเธอคือใคร? หรือเธอเป็นอะไร?

ความสับสนซับซ้อนในการแสวงหาคำตอบต่อคำถามข้างต้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะวิธีคิดที่เป็น “ขบถในช่วงวัยรุ่น” ของตัวละครนำเพียงเท่านั้น หากยังผูกพันอยู่กับภูมิหลังในชีวิตของเธอ

ตั้งแต่ความรู้สึกของการถูกทอดทิ้ง, การถูกเลี้ยงดูในฐานะบุตรบุญธรรม ไปจนถึงการเติบโตขึ้นมาในต่างบ้านต่างเมืองพร้อมอารมณ์ความรู้สึกของการเป็นบุคคลพลัดถิ่น

หนังนานาชาติที่พูดถึงประเด็นสากลว่าด้วยความเปล่าเปลี่ยว-ไร้ตัวตนในโลกสมัยใหม่เรื่องนี้ นำแสดงโดย “พักจีมิน” นักแสดงหญิงหน้าใหม่ ที่เพิ่งรับงานภาพยนตร์เป็นครั้งแรก

โดยมีนักแสดงระดับมืออาชีพบางราย ที่แฟนซีรีส์-หนังเกาหลีในบ้านเราอาจจะคุ้นหน้าค่าตาอยู่บ้าง มาสวมบทบาทสมทบเพิ่มเติมสีสัน เช่น “คิมซุนยัง” (จาก Hospital Playlist, Crash Landing on You, Vagabond, When the Camellia Blooms และ Reply 1988 เป็นต้น)

ในส่วนผู้กำกับฯ “ดาวี ชู” คือคนทำหนังเชื้อสายกัมพูชาวัย 39 ปี ซึ่งเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ผลงานโดดเด่นก่อนหน้านี้ของเขา คือ หนังสารคดีเรื่อง “Golden Slumbers” ที่สำรวจยุคทองของวงการภาพยนตร์กัมพูชาระหว่าง ค.ศ.1960-1975 ก่อนทุกอย่างจะอวสานลงในช่วง “เขมรแดง” ครองอำนาจ

รวมทั้งภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง “Diamond Island” ที่พูดถึงชีวิตคนหนุ่มสาวและวิพากษ์โปรเจกต์การพัฒนาสู่ “ความเป็นสมัยใหม่” ในประเทศกัมพูชายุคปัจจุบัน

“Return to Seoul” เปิดตัวครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยหนังได้เข้าฉายในสายการประกวดรอง Un Certain Regard

หลังจากนั้น หนังก็เริ่มได้รับรางวัลจากเทศกาลและสถาบันต่างๆ อาทิ รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเอเชียแปซิฟิก สกรีน อวอร์ดส์ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งบอสตัน และรางวัลบุคลากรหน้าใหม่ยอดเยี่ยม (มอบให้ “ดาวี ชู” และ “พักจีมิน”) จากสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งลอสแอนเจลิส

ย้อนไปเมื่อปี 2014 ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “The Missing Picture” ของผู้กำกับชาวกัมพูชาอีกราย คือ “ฤทธี ปานห์” ที่บอกเล่าประสบการณ์ความสูญเสีย-ความทรงจำบาดแผลยุค “เขมรแดง” โดยการนำฟุตเทจภาพยนตร์เก่ามาผสมผสานกับเทคนิคแอนิเมชันและภาพจำลองสถานการณ์ด้วยหุ่นดินน้ำมัน ก็เคยเป็น 1 ในหนัง 5 เรื่องสุดท้าย ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (ยุคนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อรางวัลเป็น “ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม”) มาแล้ว

“Return to Seoul” มีกำหนดจะเข้าฉายที่เมืองไทยในปี 2566 •

 

| คนมองหนัง