ภาพยนตร์ : MINARI ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์
Created with GIMP

 

 

MINARI

‘ความฝันแบบอเมริกัน’

 

กำกับการแสดง

Lee Isaac Chung

นำแสดง

Steven Yeun

Yeri Han

Alan S. Kim

Noel Cho

Yuh-Jung Youn

Will Patton

 

ได้ดู Minari ในช่วงเก็บตัวอยู่กับบ้านในเดือนเมษายนนี้ และหลังจากการประกาศผลออสการ์ ซึ่งทำให้ได้อานิสงส์ของการมีหนังดีๆ เวียนเข้ามาให้ดูหลายเรื่อง แล้วก็ยังได้ย้อนกลับไปดูหนังเก่าๆ ที่ยังไม่ได้ดูหรืออยากดูซ้ำอีกหลายต่อหลายเรื่องอีกเหมือนกัน

เห็นจะต้องนิยามคำว่า หนังดีๆ ตรงนี้สักหน่อย…หนังดีไม่ได้หมายถึงหนังสนุกแบบมันส์หยด นั่งเบิ่งตาดูแบบไม่กะพริบ แขม่วท้องคอยลุ้นตามตัวละคร หรือขำขันได้หัวเราะเฮฮาไปกับเรื่องราวที่สนุกสนาน

ซึ่งก็ไม่ได้หมายความอีกละค่ะว่าคุณลักษณะข้างต้นเป็นสิ่งน่ารังเกียจและทำให้หลุดจากกรอบของการเป็นหนังดี

หนังดีสำหรับผู้เขียนกินความหมายกว้างมากค่ะ แต่มักจะแฝงด้วยความคิดที่น่าสะดุดใจหรืออย่างน้อยก็สะกิดใจและชวนให้คิดต่อ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจหรือไม่เท่านั้น

ซึ่งก็หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครนั้นไม่ได้มีเพียงคุณค่าเพียงแค่พื้นผิวตามประสบการณ์ของตัวละครและจบลงเพียงเมื่อหนังจบ แต่น่าจะสื่อความหมายที่กว้างไกล เล่าเรื่องราวที่ไม่เคยได้รู้ได้เห็นด้วยประสบการณ์ส่วนตัว กระตุ้นและต่อยอดความคิดในหัวข้อต่างๆ

ซึ่งหมายความว่าหนังดียังประทับตรึงตราในความคิดของเราอยู่อีกหลังจากเรื่องราวบนจอถึงจุดลงเอย

 

Minari เป็นแบบนั้นค่ะ หนังยังติดค้างอยู่ในความคิดอีกพักใหญ่หลังจากดูจบไปแล้ว

นี่เป็นหนังฟอร์มเล็กซึ่งมีชื่อของดาราใหญ่อย่างแบรด พิตต์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง โดยมีผู้กำกับฯ เป็นคนอเมริกันรุ่นที่ 2 เชื้อสายเกาหลี ทำหนังที่เขียนบทขึ้นเองจากเรื่องราวชีวิตของตัวเองในวัยเด็ก แต่ก็ไม่เชิงเป็นอัตชีวประวัติเสียทีเดียวนัก

เป็นเรื่องราวของครอบครัวชาวเกาหลีที่ย้ายถิ่นจากเมืองใหญ่ในแคลิฟอร์เนียมาซื้อที่ดินห้าสิบเอเคอร์ในรัฐอาร์คันซอส์ในช่วงทศวรรษ 1980

เจคอบ (สตีเวน เยือน) กับมอนิกา (เยริ ฮัน) พบรักและแต่งงานกันในเกาหลีก่อนที่จะตัดสินใจย้ายมาอยู่อเมริกาเพื่อสร้างชีวิตใหม่

ทั้งสองทำงานเป็นคนงานแยกเพศของลูกไก่ในโรงเลี้ยงไก่ในแคลิฟอร์เนีย และมีลูกหญิง-ชายด้วยกันสองคน คือแอนน์ (โนเอล โช) และเดวิด (อลัน เอส. คิม)

ก่อนที่เจคอบจะตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตอีกครั้งด้วยความอยากมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองสักแปลง และย้ายมาอยู่ในชนบทของอาร์คันซอส์ ซึ่งเป็น “บ้านนอก” สำหรับมอนิกาผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่มาตลอด

สภาพของ “บ้าน” ที่พ่อ-แม่-ลูกมาเจอ คือกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่มีล้อ ซึ่งบอกให้รู้ว่าเคยเป็นรถพ่วงมาก่อน

มอนิกาต้องปรับตัวปรับใจกับ “บ้านมีล้อ” ของเธอ จนเกิดปากเสียงกับสามีตั้งแต่วันแรกที่ย้ายมา สร้างความตึงเครียดจากภายในครอบครัว ซึ่งยังจะต้องปรับตัวกับชุมชนและสังคมรอบตัว รวมทั้งวัฒนธรรม ศาสนาและขนบธรรมเนียม

 

ในวัยเจ็ดขวบ เดวิดเป็นเด็กอ่อนแอ มีโรคลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งทำให้ต้องดูแลและเฝ้าระวังอยู่ตลอด เขาจึงออกไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กทั่วไปไม่ได้ เพราะจะเหนื่อยและหนักต่อการทำงานของหัวใจเกินไป

นอกจากทำงานในไร่แล้ว เจคอบกับมอนิกายังต้องรับจ๊อบแยกเพศลูกไก่ในโรงงานเลี้ยงไก่ในท้องถิ่น ทำให้ครอบครัวต้องขอให้แม่ของมอนิกาเดินทางจากเกาหลีมาช่วยเลี้ยงหลาน

ซุนจา (เยอ-จุง ยูน) ไม่ใช่คุณยายแบบที่เด็กอเมริกันอยากได้ เดวิดดื้อและไม่เชื่อฟังคุณยายมาแต่ต้น เขาบอกว่ายายไม่เหมือนยายเลย อบคุกกี้ก็ไม่เป็น ตัวเหม็นกลิ่นเกาหลี แถมยังสบถคำหยาบอย่างที่คุณย่าคุณยายคนอื่นๆ เขาห้ามไม่ให้หลานทำอีก

เดวิดสร้างเรื่องปวดหัวให้คุณยายอยู่เนืองๆ รวมทั้งทำเรื่องซุกซนที่ผู้ใหญ่หลายคนจะอภัยให้ง่ายๆ ไม่ได้ด้วย ความสัมพันธ์ของเดวิดกับยายนี้เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเรื่อง

ยายพาเขาเดินไปหาสถานที่เหมาะๆ ที่จะปลูกต้นมินาริ ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นเมืองของเกาหลี และพบที่ริมลำธารในป่าละเมาะ

นอกจากนั้น คุณยายซุนจายัง “ทำวีรกรรม” หลายอย่างให้แก่ครอบครัว เช่น ในวันอาทิตย์ที่ครอบครัวไปโบสถ์ในท้องถิ่นเป็นครั้งแรก มอนิกาใส่ธนบัตรร้อยดอลลาร์ลงในโถรับบริจาคที่เวียนมา เมื่อโถเวียนมาถึงมือ ซุนจาก็หยิบธนบัตรใบนั้นออกมาเก็บไว้

เมื่อแล้งจัดและหาแหล่งน้ำมารดพืชที่ปลูกไว้ไม่ได้ เจคอบก็ใช้น้ำประปาสำหรับการบริโภคไปกับการเกษตร ซุนจาก็ตักน้ำจากลำธารมาใช้ในบ้านโดยให้เด็กๆ ช่วยกันขนมา ซึ่งทำให้มอนิกาต้องดุแม่ว่าไม่น่าให้เดวิดทำงานหนักแบบนั้น เพราะลิ้นหัวใจเขาทำงานไม่ปกติ

 

บทบาทของซุนจาชนะใจคนดูจนทำให้ผู้แสดงคือ เยอ-จุง ยูน ได้รับออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงไปในปีนี้

นี่เป็นหนังที่เล่าเรื่องแบบที่ไม่ได้เล่าเรื่องแบบเป็นเส้นตรงทีเดียวนัก แต่เราต้องเก็บเล็กผสมน้อยเอาจากรายละเอียดต่างๆ เอามาประกอบเป็นภาพที่สมบูรณ์เอาเอง เพราะหนังจะไม่ยัดเยียดให้เรา ไม่มีอะไรที่คาดเดาได้ แม้แต่ตอนจบก็อาจไม่สร้างความพอใจให้แก่คนดูหลายคนที่อุตส่าห์ติดตามเรื่องและช่วยลุ้นให้ครอบครัวนี้ “ประสบความสำเร็จ”

แต่หนังก็ไม่ยัดเยียดอีกนั่นแหละ ตอนจบจึงดูเหมือนว่าเรื่องราวจะยังไม่จบบริบูรณ์…แต่ก็นั่นแหละค่ะ มีอะไรบ้างในชีวิตจริงที่จบบริบูรณ์ลงตัว

ใช่ว่าหนังจะจบไม่ดีนะคะ อันที่จริงแล้ว เป็นตอนจบที่ขมวดเรื่องได้อย่างน่าประทับใจทีเดียว และเป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า พืชที่ชื่อมินาริ มาเกี่ยวอะไรกับหนังเรื่องนี้

มินาริเดินทางข้ามทวีปมาเติบโตงอกงามในดินแดนใหม่ เป็นพืชที่ปลูกง่ายและจะดูแลตัวเองได้ในที่ดินที่เหมาะสม แต่ก็จะยังไม่งอกงามให้เก็บเกี่ยวได้ในช่วงปีแรก

หนังจบลงตรงนี้แหละค่ะ หลังจากความล้มเหลวสารพัดด้าน รวมทั้งไฟที่เผาสิ่งต่างๆ จนมอดไหม้ทำให้ครอบครัวนี้กลับไปตั้งต้นใหม่ที่ศูนย์อีกครั้ง สองพ่อ-ลูกก็เดินท่อมๆ ไปเก็บมินาริริมลำธารในป่าที่คุณยายปลูกไว้

นี่ไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องแบบป้อนให้กับคนดูจนได้แบบสมใจอยาก แต่ทิ้งไว้ให้คิดเอาเอง และไม่ขมวดเรื่องให้ปิดฉากลงตัวแบบจบบริบูรณ์…

ชีวิตและการต่อสู้ของครอบครัวนี้ยังคงดำเนินต่อไปพร้อมด้วยความหวังเหมือนที่ต้นมินาริงอกงามในดินแดนใหม่นี้…